กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
ถ้าพูดถึงนักสังคมสงเคราะห์แล้ว หลายท่านคงจะมองไปถึงอาชีพที่คอยให้คำแนะนำช่วยเหลือผู้ยากไร้ ผู้ที่มีปัญหาทางสังคม หรือผู้ประสบสาธารณภัยต่าง ๆ หากท่านไม่ได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าวก็คงเข้าใจได้ยากในอาชีพนี้ แต่ความเป็นจริงแล้วอาชีพนักสังคมสงเคราะห์อยู่ใกล้ตัวจนเราคาดไม่ถึง คือนักสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาลนั่นเอง นอกจากจะมีหน้าที่ในการดูแลสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาและช่วยเหลือผู้ป่วยแล้ว ยังรับปรึกษาปัญหาให้กับบุคคลทั่วไปอีกด้วย
ในแต่ละวันมีผู้คนเดินเข้า-ออกโรงพยาบาลเป็นจำนวนมาก นอกจากโรคภัยที่มองเห็นแล้วหลายคนยังแบกความทุกข์ทางใจเข้ามาในโรงพยาบาลด้วย
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ความวิตกกังวลในแง่การรักษา เป็นผู้ป่วยไร้ญาติขาดที่พึ่งพิง ติดเชื้อเอชไอวี มีปัญหาทางครอบครัว และอีกสารพัดปัญหาที่ต้องการผู้ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือบรรเทาปัญหาให้คลี่คลายลง นักสังคมสงเคราะห์จึงมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการรักษาแบบองค์รวม ทั้งมิติทางด้านร่างกาย สังคม อารมณ์ และจิตใจ คุณนรินทร์รัตน์ ศิริชุมแสง หรือคุณเจี๊ยบ นักสังคมสงเคราะห์ วัย 55 ปี ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านสังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณเจี๊ยบก็ปฎิบัติงานในตำแหน่งนักสังคมสงเคราะห์ให้กับศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทานมาโดยตลอด นับรวมระยะเวลาการทำงานร่วม 30 ปี คุณเจี๊ยบจึงมีประสบการณ์ในงานสังคมสงเคราะห์มากมาย โดยในแต่ละปีสามารถสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ถึง 2,374 ครั้ง
ในการสงเคราะห์ช่วยเหลือนั้น คุณเจี๊ยบวางหลักการไว้ว่า “คนไข้ที่เข้ามาขอคำแนะนำปรึกษานั้นจะมีปัญหาแตกต่างกันไป การช่วยเหลือจะวิเคราะห์จากความจำเป็นเฉพาะหน้า เช่น คนไข้หิวข้าวเราต้องหาข้าวให้เขาทาน หรือไม่มีเงินค่ารักษาก็ต้องพูดคุยซักถามอาจเป็นลักษณะการผ่อนชำระ หรือผู้ป่วยต้องการติดต่อญาติ ต้องการคำปรึกษาก็ต้องช่วยเหลือไปตามขั้นตอน ในบางรายเราต้องติดตามผลต่อเนื่องด้วย ส่วนใหญ่คนไข้ที่เข้ามาพบจะมีปัญหาเรื่องไม่มีบัตร ไม่มีสิทธิ และไม่มีสวัสดิการในการรักษามากที่สุด”
ด้วยภาระงานที่ต้องเข้าไปข้องเกี่ยวแก้ปัญหาคลายทุกข์ให้กับผู้ป่วย หลายครั้งที่ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ แม้วันหยุดหรือเวลาพักก็ยังต้องทำงาน การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยหนึ่งรายต้องแก้ปมปัญหามากมายตั้งแต่ตัวผู้ป่วย ญาติ และครอบครัว แต่คุณเจี๊ยบกลับมีกำลังใจที่ดีในการทำงานและไม่เคยท้อ ตรงกันข้ามปัญหาท้าทายให้คุณเจี๊ยบรู้สึกฮึกเหิมที่จะหาวิธีที่จะจัดการแก้ไข หากแนวทางนั้นช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้น ยิ่งสร้างกำลังใจให้คุณเจี๊ยบปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
คุณเจี๊ยบเล่าความประทับใจในการช่วยเหลือผู้ป่วยรายหนึ่งให้ฟังว่า “มีผู้ป่วยชายรายหนึ่ง อายุประมาณ 40 กว่าปี มีอาการแขนขาอ่อนแรง แพทย์ตรวจพบว่ามีก้อนในสมอง ต้องรับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดต้องได้รับความยินยอมจากญาติ ผู้ป่วยอ้างว่าไม่มีญาติและไม่ยินยอมให้การรักษา ซึ่งโรคนี้หากปล่อยทิ้งไว้ก้อนในสมองอาจไปกดทับเส้นประสาทสั่งการหายใจ ส่งผลให้เป็นอัมพาตหรือเสียชีวิตได้ ”
คุณเจี๊ยบจึงวางแผนแก้ปัญหาโดยประสานงานแพทย์และพยาบาลให้ผู้ป่วยพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อติดตามญาติมาช่วยตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยพูดคุยกับผู้ป่วยเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าผู้ป่วยจากบ้านมานานกว่า 20 ปีแล้ว ไม่ทราบว่าญาติยังอยู่ที่เดิมหรือไม่ และผู้ป่วยเองก็ไม่ให้ความร่วมมือด้วย คุณเจี๊ยบจึงเริ่มสืบค้นข้อมูล จนทราบที่อยู่เดิมผู้ป่วย และหาหมายเลขโทรศัพท์องค์การบริหารส่วนตำบล สถานที่ราชการ โรงเรียน เพื่อติดตามหาญาติผู้ป่วยทางโทรศัพท์
จนเย็นมากแล้วโทรไปติดที่ร้านวัสดุก่อสร้างซึ่งไม่ใช่สถานที่ราชการที่ตั้งใจสอบถาม แต่คุณเจี๊ยบก็ตัดสินใจสอบถามชื่อผู้ป่วยและญาติไป ปรากฎว่าร้านค้าวัสดุก่อสร้างรู้จักและเป็นธุระตามให้ จนได้ตัวน้องชายแต่ติดปัญหาคือตัวเขาเองเพิ่งเข้าทำงาน หากลงมาหาพี่ชายเกรงนายจ้างจะให้ออกจากงาน และน้องชายก็ไม่เคยเข้ากรุงเทพฯจึงกังวลในเรื่องการเดินทาง คุณเจี๊ยบจึงรับเป็นธุระเรื่องค่าเดินทาง และพูดคุยกับนายจ้างให้ พร้อมแนะนำให้น้องชายพาเพื่อนที่รู้เส้นทางในกรุงเทพฯมาเป็นเพื่อนด้วย จนสุดท้ายพี่ชายและน้องชายได้พบกันจากที่จากกันมา 20 กว่าปี ผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดรักษา ปัจจุบันสามารถใช้ชีวิตได้เป็นปรกติสุข คุณเจี๊ยบรู้สึกประทับใจที่ตนเองตัดสินใจถูกที่แทรกแซงการตัดสินใจของผู้ป่วยในครั้งนี้
หรือกรณีคนขับรถแท็กซี่พาภรรยามาคลอดที่โรงพยาบาล ไม่มีเงินค่ารักษาขอผ่อนชำระหนี้ แต่คุณเจี๊ยบมองลึกลงไปกว่านั้นโดยวิเคราะห์ปัญหาพบว่า คนขับแท็กซี่รายนี้มีภรรยาถึง 3 คน ลูกอีก 5 คน ทำให้รายได้ไม่พอรายจ่าย จึงแนะนำให้ทำหมัน แต่คนขับแท็กซี่กลับโทษภรรยาว่าไม่ทำหมัน ทำให้มีลูกมาก คุณเจี๊ยบจึงแนะนำว่าการวางแผนครอบครัวต้องรับผิดชอบร่วมกันทั้งสามีและภรรยา ไม่ใช่ทิ้งภาระให้ใครรับผิดชอบเพียงคนเดียว ควรตัดสินใจรีบคุมกำเนิดก่อนที่ปัญหาลุกลาม แท็กซี่รายนี้ยังมีปัญหาเรื่องค่าเทอมลูกอีกด้วย คุณเจี๊ยบจึงประสานงานให้มูลนิธิครูหยุยช่วยเหลือ แต่มีข้อแม้ให้แท็กซี่รายนี้ทำหมันเช่นกัน ส่วนค่าทำคลอดภรรยานั้นพี่เจี๊ยบช่วยเหลือเน้นให้เขามีส่วนร่วมโดยให้คนขับแท็กซี่จ่ายค่ารักษาบางส่วน
“เราต้องมองปัญหาวิเคราะห์ปัญหาให้ออก และเสนอหนทางที่ดีที่สุดให้ผู้ป่วยตัดสินใจ การทำงานบางแง่มุมอาจดูว่าทำเกินหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ แต่พี่คิดเสมอว่าเราเป็นข้าราชการในหลวงต้องช่วยเหลือดูแลประชาชนของท่านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำงานให้คุ้มค่ากับเงินเดือนที่ได้รับ และการทำงานช่วยเหลือผู้คนตรงนี้เราได้ทำความดีทุกวัน ดังนั้นการทำงานของพี่จึงทำอย่างเต็มที่เสมอ ฝากทิ้งท้ายไปยังทุกท่านว่า เราเป็นคนไทย เราต้องรักษาสิทธิของเราให้ดี สิทธิของเรามีค่า หากทำบัตรสำคัญสูญหายไม่ควรปล่อยทิ้งนาน ควรรีบดำเนินการทำบัตรใหม่ และดูแลรักษาสิทธิของเราให้ดี”
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit