อุตสาหกรรมเครื่องหนังไทยคาดปี 53 ส่งออกโต 10-15% เตรียมผนึกกำลังร่วมแสดงศักยภาพในงาน BIFF & BIL 2010

16 Mar 2010

กรุงเทพฯ--16 มี.ค.--เเบรนด์คอม คอนซัลเเทนส์

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทย คาดว่าปี 2553 มูลค่าการส่งออกหนังฟอก สินค้าเครื่องหนัง เครื่องใช้ในการเดินทาง และรองเท้าโดยรวมจะขยายตัว 10-15% เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่มูลค่ารวมกว่า 1,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เชื่อด้วยศักยภาพที่มีอยู่ ผนวกกับการรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งและการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐจะช่วยขยายโอกาสและดันยอดส่งออกทั้งปี 2553 เติบโตตามเป้า ล่าสุดเตรียมขนทัพสินค้าและนวัตกรรมร่วมแสดงในงาน BIFF & BIL 2010 พร้อมเล็งเจาะตลาดใหม่ๆ ในอาเซียน

นางปรานี คุรุเวฬุกรณ์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอุตสาหกรรมฟอกหนังไทย เปิดเผยว่า “ในปี 2552 ไทยส่งออกหนังฟอกมีมูลค่ารวมกว่า 447 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าปีนี้จะขยายตัวได้อีกมาก เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ได้พัฒนาและปรับตัวให้สอดคล้องกับเทรนด์ของตลาดโลกเป็นอย่างดี โดยเฉพาะด้านคุณภาพและระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันภาครัฐและเอกชนก็ได้พยายามร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Thailand’s Leather Goods: Italy of the East โดยให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา รวมถึงส่งเสริมการสร้างตราสินค้าไทย เพื่อสร้างมูลค่าให้กับสินค้าไทย

นางเนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นายกสมาคมเครื่องหนังไทย กล่าวถึงสถานการณ์การส่งออกว่า “การส่งออกเครื่องหนังปี 2552 มีมูลค่ารวม 1,422 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 14.7% เมื่อเทียบกับปี 2551 ที่มียอดส่งออก 1,771 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สาเหตุหลัก คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้ซื้อในต่างประเทศระมัดระวังในการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น สั่งซื้อสินค้าเป็นล็อตเล็กลง และไม่มีการกักตุนสินค้า จะสั่งซื้อใหม่ก็ต่อเมื่อแน่ใจว่าขายหมด อย่างไรก็ตาม ปีนี้ประเมินว่ายอดส่งออกจะโต 10-15% เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวและผู้ซื้อเริ่มสั่งซื้อสินค้าไปเติมสต็อคที่ใกล้จะหมด สำหรับตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (คิดเป็นสัดส่วน 14.8%) เดนมาร์ก (7.5%) จีน (6.19%) เวียดนาม (4.81) และที่เหลือเป็นญี่ปุ่น อิตาลี ฝรั่งเศส ดูไบ รวมถึงประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในอาเซียนและตลาดใหม่อย่างอินเดีย ซึ่งทางสมาคมฯ กำลังเร่งเจาะตลาด เพื่อดันยอดส่งออกโดยรวมให้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมเครื่องหนังไทยได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสมาคมเครื่องหนังอิตาลี เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการตลาด เทคโนโลยีทางด้านการผลิต และการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งออก”

นางเนาวรัตน์ กล่าวอีกว่า “ตอนนี้จีนยังไม่ถือเป็นคู่แข่งโดยตรงของเรา เพราะเน้นคนละกลุ่มเป้าหมาย ของเราจะอยู่ในระดับ High Fashion มีดีไซน์เป็นของตัวเอง โดยผู้ซื้อมองว่าไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องหนังที่มีดีไซน์ดีที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคและให้การยอมรับมายาวนาน พันธมิตรด้านการออกแบบและการตลาดของเราก็เข้มแข็งและมีศักยภาพสูงมาก ตรงนี้คือข้อได้เปรียบ แต่ด้วยการแข่งขันด้านราคาอย่างเข้มข้นของประเทศคู่แข่ง เราจึงต้องปรับตัวด้วยการสร้างมูลค่าให้สินค้ามีความโดดเด่นและแตกต่าง ปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งใช้กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

“สำหรับไฮไลท์ของกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทยในงาน BIFF & BIL ปีนี้ จะเน้นนำเสนออัตลักษณ์ไทย ซึ่งออกแบบโดยนักออกแบบไทยทั้งหมด โดยใช้ฐานทางภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทยเข้าไปสร้างมูลค่าในทุกระดับ ตั้งแต่หัตถกรรมในครัวเรือน เอสเอ็มอี ไปจนถึงผู้ผลิตรายใหญ่ระดับประเทศ เชื่อว่าจะเป็นอีกเวทีหนึ่งที่ผู้ประกอบการจะได้แสดงศักยภาพ รวมทั้งโอกาสเจรจาการค้ากับพันธมิตรในอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม และผู้ซื้อจากทั่วโลก”

นายสกล ศิกษมัต นายกสมาคมรองเท้าไทย กล่าวว่า “อุตสาหกรรมรองเท้ามีมูลค่าส่งออกติดอันดับที่ 40 และคิดเป็น 55% ของอุตสาหกรรมเครื่องหนังไทย โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ กลุ่มรองเท้ากีฬา กลุ่มรองเท้าหนัง กลุ่มรองเท้าแตะ และอื่นๆ โดยมีการจ้างงานถึง 400,000 คน ซึ่งล้วนเป็นแรงงานมีฝีมือและประสบการณ์สูง เมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งอย่างจีน ลาว และอินโดนีเซีย ประกอบกับดีไซน์ที่โดดเด่นกว่า สินค้าของเราจึงได้รับการยอมรับเป็นที่ประจักษ์จากคู่ค้าและพันธมิตรทั้งในระบบ ODM และ OBM ซึ่งมียอดสั่งซื้อเพิ่มทุกปี โดยตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา และแถบยุโรป แม้ว่ายอดส่งออกปีที่แล้วลดลงไป 18% แต่เมื่อเทียบกับความต้องการทั่วโลกที่หดตัวถึง 30% ถือว่าผลกระทบไม่รุนแรงนัก”

“ที่ผ่านมาได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการส่งออกอย่างมาก โดยเฉพาะคำแนะนำด้านการออกแบบให้ตรงกับเทรนด์ของตลาดโลก อย่างไรก็ตาม ไทยยังขาดแคลนนักออกแบบรองเท้ามืออาชีพ ทางสมาคมฯ กำลังพยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งสถาบันการศึกษาที่มีหลักสูตรเฉพาะด้านนี้โดยเร็วที่สุด เพื่อยกระดับมาตรฐานวงการรองเท้าของไทยและรองรับเทรนด์ที่เปลี่ยนไปของตลาดโลก จากเดิมที่มุ่งความสนใจที่แบบสวย ราคาถูก ไปเป็นรองเท้าที่ทั้งสวย เหมาะกับสรีระ และดีต่อสุขภาพในระยะยาว ปัจจุบันไทยมีส่วนแบ่งในตลาดรองเท้าทั่วโลกประมาณ 2-5% แต่ถ้าเราพัฒนาด้านการออกแบบ บุคลากร การตลาด และความหลากหลายของสินค้าให้ดีขึ้น ผู้ประกอบการของเราจะไปได้อีกไกล”

“สำหรับงาน BILL&BIL ในครั้งนี้ คอนเซ็ปท์ Look East สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของเราที่จะเน้นไปที่ตลาดญี่ปุ่น เกาหลี และใต้หวัน เชื่อว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพราะผู้ซื้อกลุ่มนี้มีความเชื่อมั่นในศักยภาพผู้ประกอบการไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้ เราจะเน้นนำเสนอสินค้าแบรนด์ของเราเองด้วยเพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ”

ในปีนี้จะมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหนัง เครื่องหนัง และรองเท้าร่วมแสดงสินค้าในงาน BIFF & BIL 2010 รวม 252 บูท นับเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะได้แสดงศักยภาพ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมหนังและเครื่องหนังไทย

งาน BIFF & BIL 2010 , ASEAN Integration Textiles – Apparel – Leather กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 - 4 เมษายน 2553 ณ อาคารชาเลนเจอร์ 1-3 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยวันที่ 1 - 2 เมษายน สำหรับนักธุรกิจ (เปิดตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น.) วันที่ 3 - 4 เมษายน สำหรับประชาชนทั่วไป (เปิดตั้งแต่เวลา 10.00-21.00 น.) อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.biffandbil.com สำหรับบริการ Business Matching สามารถ ดาวน์โหลด File: Exhibitor Application Form และ Buyer Application Form จาก www.biffandbil.com

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

บริษัท เเบรนด์คอม คอนซัลเเทนส์ จำกัด

ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ งาน BIFF & BIL 2010 กรมส่งเสริมการส่งออก

ไพลิน บูรณะมิตรานนท์ / เสาวรินทร์ ทองทัศน์ / ปณิธาน ชุ่มเชื้อ

โทร 02-642-9620 (12 คู่สาย) แฟกซ์ 02-642-9688

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net