กรุงเทพฯ--15 มี.ค.--กรมการแพทย์
นายแพทย์วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดการรณรงค์ป้องกัน “มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก” ที่โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ จัดโดย นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ และ สมาคมโรคมะเร็งแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในการป้องกันโรคมะเร็งสำไส้ใหญ่และทวารหนัก ขณะนี้มีหลายประเทศได้จัดให้เดือนมีนาคมเป็นเดือนแห่งการรณรงค์มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยภายในงานมีบริการตรวจสุขภาพเบื้องต้นและนิทรรศการให้ความรู้มากมาย พร้อมผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษา แนะนำ เบื้องต้น
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตเรียและนิวซีแลนด์ พบว่ามีอุบัติการของโรคมะเร็งลำไส้สูงขึ้น ส่วนในประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้น โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ปีละประมาณ 11,500 ราย เสียชีวิตปีละ 3,000 ราย และพบว่าเพศชายเป็นมะเร็งชนิดนี้สูงเป็นอันดับ 3 รองจากมะเร็งตับและปอด ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และในเขตเมืองใหญ่ๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตของบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายท่าน โดยปัจจัยเสี่ยง โรคนี้ ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดนี้ การกินอาหารจำพวกอาหารขยะ หรือที่เรียกว่า ฟาสต์ฟู้ด (Fast Food) อาหารที่มีกากใยน้อย มีไขมันมาก ขาดการออกกำลังกาย สูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก สามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้ หากรู้ตัวได้เร็วเท่าทัน โดยโรคนี้ ในระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่ต่อมาจะมีความผิดปกติของระบบขับถ่าย เช่น อุจจาระมีเลือดออกปนกับมูก หรืออุจจาระก้อนเล็กลง หรือมีอาการท้องผูก ปวดท้อง ลำไส้ใหญ่อุดตัน และหากคลำพบก้อนในบริเวณท้องก็มักจะมีการกระจายของโรคมะเร็งออกไปสู่ต่อมน้ำเหลืองหรือไปที่ตับแล้ว ทำให้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ทุกราย การรักษาที่ได้ผลดี คือรักษาตั้งแต่ตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นระยะที่มักจะไม่มีอาการใดๆ โอกาสหายขาดสูงถึงร้อยละ 95
สำหรับสัญญาณที่น่าสงสัยอาจเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ ท้องเสีย ท้องผูก อุจจาระมีเลือดสดๆ หรือเลือดสีคล้ำปน ซึ่งมักทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดว่าเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก ลักษณะของอุจจาระเรียวยาวกว่าปกติ รู้สึกไม่สบายท้อง รวมทั้งมีอาการปวดแสบร้อน อาหารไม่ย่อยและปวดเกร็ง น้ำหนักตัวลดโดยไม่ทราบสาเหตุ อ่อนเพลียไม่มีแรง ซีดหรือมีไขมันต่ำๆ ร่วมด้วย ซึ่งอาการทั้งหมดนี้แพทย์มักวินิจฉัยได้ถูกต้องเพียงร้อยละ 35 เนื่องจากร้อยละ 10-15 ของ
ผู้ป่วยเท่านั้นที่มีอาการตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก และผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าตนเองป่วยเป็นโรคกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ ริดสีดวงทวารหนัก หรือธาตุพิการ มักรักษาด้วยตนเอง หรือเปลี่ยนที่รักษาตามสถานพยาบาลต่างๆ ทำให้ไม่ได้รับการสืบค้นหาสาเหตุที่แท้จริงอย่างจริงจัง ดังนั้นผู้ที่พบว่ามีอาการดังกล่าว ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ก่อนที่โรคจะลุกลามต่อไป
วิธีการป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ทำได้โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ กินอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้เป็นประจำ และอาหารที่มีแคลเซียมมาก มีไขมันน้อย ลดอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูป ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรามากเกินไป เมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยการตรวจเลือดในอุจจุระ ซึ่งสามารถบอกได้ว่ามี เนื้องอกหรือเป็นมะเร็งในลำไส้หรือไม่ หากตรวจทุกปีจะลดการเสียชีวิตจากโรคนี้ได้ร้อยละ 30
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit