จุดประกายสร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่...เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

17 Feb 2010

กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--โรงเรียนเทคโนโลยีสยาม

เพื่อการปูพื้นฐานสู่ความเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบัน ที่จะต้องเป็นคนคิดเป็น...ทำเป็น ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช ผู้อำนวยการโรงเรียนเทคโนโลยีสยาม ผู้บริหารหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงด้านการศึกษา ได้ให้ความสำคัญพร้อมพยายามพัฒนาคิดค้นกระบวนการเรียนรู้ของโลกสมัยใหม่สู่หลักสูตรการเรียนรู้ต่างๆ ในการที่จะปลูกฝังหล่อหลอมเยาวชนไทยให้เป็นคนเก่ง ก้าวทันเทคโนโลยี และเป็นคนดีของสังคม

โรงเรียนเทคโนโลยีสยาม จึงได้จัดกิจกรรมเปิดโลกกว้างแห่งการเรียนรู้ “เทคโนโลยีสยามวิชาการ” โดยมี ปิยบุตร ชลวิจารณ์ กรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน ซึ่งกลุ่มผู้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้โชว์ศักยภาพความสามารถทางด้านต่างๆ ที่สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยีชาวบ้าน เทคโนโลยีสมัยใหม่ และเทคโนโลยีรีไซเคิล ในแนวคิด ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน’ บนพื้นฐานเศรษฐกิจพอเพียง ที่แต่ละกลุ่มได้นำเสนอจุดประกายแนวความคิดได้อย่างน่าสนใจมากมาย

“กิจกรรมในวันนี้ จะเน้นแนวคิด ‘การพัฒนาที่ยั่งยืน ( Sustainable Development )’ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างเร่งด่วนสำหรับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นการพัฒนาที่บูรณาการให้เกิดองค์รวมอย่างมีดุลยภาพ ทั้งธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ จะต้องบูรณาการให้เกิดสภาพที่เป็นภาวะยั่งยืน ไม่ถดถอย ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อประสานให้อยู่รวมกันด้วยความเกื้อกูลส่งผลต่อการพัฒนาก้าวหน้าที่ยั่งยืนโดยแท้จริง” ผู้ช่วยศาสตรจารย์ ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช ผู้อำนวยการโรงเรียนเทคโนโลยีสยาม กล่าว

เริ่มต้นด้วยกลุ่มประเภทเทคโนโลยีสมัยใหม่ ‘เครื่องทอดไข่อัตโนมัติ’ นักศึกษาปวส.อิเล็กทรอนิกส์เป็นผู้คิดค้น นำโดย อุษา ช่วยปาน, อเนก ซาวว์วงค์ และเพื่อนๆ บอกเล่าว่า- -

“เพื่อนในกลุ่มที่บ้านขายข้าวแกง เวลามีคนมาซื้อเยอะๆ ต้องทอดไข่ดาวหลายๆ ใบทำไม่ทัน เลยกลายเป็นแรงบันดาลใจในการคิดค้นเครื่องนี้ขึ้นมา

...ลงทุน 8,000 บาท ใช้สเตนเลสอย่างดี เพื่อป้องกันสนิม ใช้เวลาในการผลิตจริงๆ ประมาณ 2 อาทิตย์ ซึ่งมีการทดลองคิดค้นกันมาหลายวิธี แล้วเราก็ได้เครื่องนี้มา ซึ่งสามารถจะทอดไข่ครั้งละ 6 ใบ เป็นการประหยัดเวลาการทอดไข่ และรวดเร็วมาก หากทำแบบเก่าจะได้ครั้งละใบเท่านั้น

...สำหรับเครื่องทอดไข่อัตโนมัตินี้เป็นเพียงแนวคิดขั้นแรก หากจะต่อยอดไปอีกก็จะต้องคำนึงถึงการดีไซน์ เพื่อให้ดูสวยงามมากกว่านี้ ”

ประเภทอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างสรรค์ ‘เครื่องปุ๋ยหมักชีวภาพ’ โดย เฉลิมชัย สุวะเสน, เกรียงไกร วงษ์มา และอรุพงษ์ แก้วจุมพล ทั้งสามหนุ่มร่วมกันสร้างสรรค์ ใช้เวลาในการผลิตถึง 2 เดือนเพื่อทดสอบสมรรถนะการใช้งานที่ให้ประสิทธิภาพสูง แต่ประหยัดเวลาในการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพที่ให้จำนวนมากกว่า ทั้งเป็นการลดต้นทุนได้มาก

“ลงทุนประมาณ 7-8 พันบาท เครื่องนี้ผลิตขึ้นมาโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แทนการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งมีราคาแพงกว่า และที่สำคัญไม่มีอันตราย แล้วไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย

...แนวคิดได้มาจาก ที่โรงเรียนมีการทำปุ๋ยหมักชีวภาพ แต่ใช้มือทำ ซึ่งใช้เวลานานมาก แล้วเวลาหั่นผักใช้เวลานานมาก จึงคิดเครื่องนี้ขึ้นมาเพื่อประหยัดเวลาในการผลิตปุ๋ยหมักชีวภาพให้ได้จำนวนมากกว่า ทั้งสะดวก รวดเร็ว และการใช้งานก็ง่าย เพียงใส่ผักลงไปเครื่องจะทำงาน บดผสมกัน เพียงไม่กี่นาทีก็ใช้ได้แล้ว

...ประโยชน์ของปุ๋ยหมักชีวภาพ น้ำที่ได้ นำไปใช้ราดท่อที่มีกลิ่นเหม็นได้ดีเลย และส่วนพืชผักสมุนไพรที่ใส่ลงบดผสมยังเป็นยาไล่แมลงที่ดีอีกด้วย”

สำหรับเทคโนโลยีชาวบ้าน ผลิตนวัตกรรม ‘ที่จอดรถนิรภัย’ สร้างสรรค์โดย สุภาพร จำปา, ปกรณ์ หงส์ทอง และณัฐพล มีอาษา สามแรงขยันขันแข็งจนเกิดไอเดียในการสร้างความปลอดภัยให้กับรถจักรยานที่จอดทีไรมักหายวับไปทุกที

“ก็เลยเกิดแนวคิดที่จะทำ ‘ที่จอดรถนิรภัย’ ขึ้นมา ซึ่งจะช่วยได้จริงๆ คือเจ้าของรถแต่ละคนที่จะนำรถไปจอดในสถานที่ที่จอดทุกคันจะมีบาร์โค้ทเป็นของตนเอง

...ตอนที่เข้าประตูเพื่อไปจอดรถ ให้เสียบบัตรบาร์โค้ทประตูจะเปิดออก แล้วจึงนำรถเข้าไปจอดได้ ซึ่งจะเป็นการดูแลเฝ้ารถให้เราตลอดด้วย เพราะหากมีใครมาขโมยรถก็ไม่สามารถจะเอารถออกจากประตูทางออกได้เลย เพราะไม่มีบัตรบาร์โค้ทของรถคันนั้น ซึ่งบัตรบาร์โค้ทจะมีรหัสของแต่ละคันไปไม่เหมือนกัน”

นอกจากนี้ยังมียังมีประเภทพลังงานทดแทนเพื่อเศรษฐกิจพอเพียง ของกลุ่มปวส.2 ช่างไฟฟ้า สร้างสรรค์นวัตกรรม ‘เครื่องทำน้ำอุ่นพลังงานแสงอาทิตย์’ โดยใช้แสงแดดจากดวงอาทิตย์เป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการต่างๆ ที่จะทำให้น้ำในระบบมีความร้อนพอ เพียง 20 นาทีเท่านั้น ก็สามารถเปิดก๊อกใช้ได้ตามต้องการ

“ลงทุนพันกว่าบาทเองครับ ตรงนี้เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ต้องพัฒนารูปแบบต่อไปอีกเยอะครับ” สิทธิชัย มะณีมงคล บอกเล่า

ปิดท้ายด้วย สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมสาขาช่างยนต์ ที่สร้างสรรค์ผลงาน ‘รถยนต์ฝึกทักษะในการขับขี่สำหรับเด็ก’ โดยกลุ่มของ ชัยชัช ทองสุวรรณ, นรินทร์ธร ริยาพันธ์, ชัยเดช เขนยทอง, จิรโรจน์ อัศวศรีสุข, ณัฐวุฒิ คงสมนึก และ ปิยชาติ วนวาล

“มอเตอร์ไซค์สำหรับเด็กคันนี้สร้างโครงและจุดยึดต่างๆ ขึ้นมาเอง โดยใช้เหล็กมาประกอบ แล้วพ่นสี แล้วใช้ระบบเครื่องตัดหญ้าเป็นตัวเครื่องยนต์ เลยทำให้มีเสียงดังครับ รถมอเตอร์ไซค์คันนี้เป็นระบบประหยัดน้ำมัน ใช้เบนซิน 91

....ในการผลิตใช้เวลาเพียง 2 อาทิตย์ ลงทุน 9,000 บาท หากไปซื้อที่เขาขายกันจะราคาหลายหมื่นบาท บางคันเกือบแสน แต่คันนี้ผลิตขึ้นมาเพื่อให้เด็กวัยประมาณ 10 ปี ฝึกทักษะในการขับขี่รถ”

สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมใหม่ที่สร้างสรรค์ด้วยดุลยภาพ ทั้งธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ หล่อหลอมเป็นองค์รวมหนึ่งเดียว ตามชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนสู่เศรษฐกิจพอเพียง จะสร้างสรรค์พลังอันยิ่งใหญ่สู่เยาวชนให้เติบกล้าอย่างมีคุณภาพที่ยั่งยืนโดยแท้จริง

เผยแพร่ข่าวในนาม : โรงเรียนเทคโนโลยีสยาม โทร. 0 2864 0358-67

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net