วัฒนธรรมเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ ครอบครัวคือต้นแบบที่ดี "อ่านแล้วได้อะไร ทำไมถึงต้องอ่าน"

15 Feb 2010

กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--โครงการ “รักลูกอวอร์ด

โครงการ “รักลูกอวอร์ด” ได้เดินทางมาแล้วกว่า๗ปี และยังคงเน้นย้ำแนวคิดและคงคุณภาพของหนังสือแต่ละช่วงวัยมาโดยตลอด พร้อมกับส่งเสริมเรื่องวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ จากกระบวนการทำงานด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมา สิ่งที่ทำให้เห็น พบว่าการอ่านหนังสือ การแสวงหาความรู้ เรียนรู้ตลอดเวลาทำให้เกิดพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ทำให้วงจรการอ่านสั้นลง วงจรความรู้ก็สั้นลง มันทำให้มนุษย์ต้องแสวงหาความรู้มากขึ้น เพราะความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์อาจจะตอบโจทย์ทั้งหมดไม่ได้ ความรู้สึกนึกคิดก็เริ่มมีความสำคัญมากขึ้นตามลำดับ นายแพทย์อุดม เพชรสังหาร ประธานกรรมการดำเนินงานโครงการรักลูกอวอร์ด กล่าว ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานบริการธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) เจ้าของนามปากกา วินนี่ เดอะ ปุ๊ ได้กล่าวไว้ว่า ชีวิตของคนเรานั้นไม่ใช่เกิดมาเรียนและทำงานอย่างเดียว แต่ต้องมีความรู้และสิ่งอื่นๆเข้ามาประกอบ ความรู้นั้นจำเป็นเพราะว่าเราอยู่ในสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นความเข้าใจสังคม และคุณธรรมก็ต้องมีมากขึ้นเช่นกัน เราอยากให้ลูกหลานของเรามีความรู้ เข้าใจสังคมและมีความสุขกับตัวเองมากขึ้น

การอ่านเป็นการรับรู้สิ่งที่ให้ความเพลิดเพลินและสิ่งที่ให้คือความคิด นั่นคือมิติของอารมณ์ให้มีความซับซ้อน และมีมิติความคิดอย่างมีเหตุผล สร้างสรรค์ คิดเชิงวิพากษ์วิจารณ์ และคิดในเชิงของการวิเคราะห์ ขณะเดียวกันมิติของการเรียนรู้ คือ อ่าน คิดและเขียน เมื่ออ่านเสร็จแล้วก็ต้องตั้งคำถาม ใช้ความคิดและแลกเปลี่ยนความคิดกัน และสิ่งที่แสดงออกมาก็คือ การเขียน

“ผมเองก็ทำแบบคุณพ่อผม คือการเล่นนิทานให้ลูกๆฟังก่อนนอน ไม่ว่าจะเป็น เทพนิยาย นิทานพื้นบ้าน วรรณคดีไทย พอผ่านมาวัยหนึ่งก็พูดคุยในเรื่องของประวัติศาสตร์ สารคดี การเมือง และมีการทิ้งท้ายไว้ว่าอยากรู้ให้ไปอ่านต่อและก็จะวางหนังสือไว้ให้ การที่เราได้สัมผัสกับเด็กทั้งความคิด ความสนใจและการเรียนรู้ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับเด็กๆ ส่วนตัวผมเองก็ได้อ่านหนังสือหลายเล่มเพราะลูกนำมาให้อ่าน เรียกได้ว่ามันสร้างความสัมพันธ์โต้ตอบกันได้ดี เพราะเราไม่ได้สอนเขาอย่างเดียว แต่เราจะพยายามกระตุ้นให้เขาคิดและสิ่งแวดล้อมที่ดีและแลกเปลี่ยนกับเขา และสิ่งสำคัญก็คืออย่าบังคับพวกเขา”

สำหรับหนังสือดีนั้นมีคุณค่าและมีความหมายแฝง และลักษณะหนังสือที่ดีนั้นก็คืออ่านแล้วสนุก มีคุณค่า เช่น วรรณกรรม บึงหญ้าป่าใหญ่ ความสุขของกระทิ ขวัญสงฆ์ หรือแนวประวัติศาสตร์ เช่น สี่แผ่นดิน รัตนโกสินทร์ รวมถึงหนังสือภาพสำหรับเด็ก ทราย เจริญปุระ นักวิจารณ์และนักเขียนหนังสือ ได้ให้ความเห็นว่า ปัญหาของคนไทยในปัจจุบันก็คือเรื่องของการอ่าน เพราะอ่านหนังสือน้อยมาก และปัญหาก็สะสมมา คนไทยนั้นชอบฟังและทำตาม ทำให้เราพลาดอะไรไปหลายๆอย่างที่สำคัญ อย่าง วรรณกรรมหนังสือที่เขียนออกมาบางครั้ง เมื่อไม่ได้อ่านและผ่านช่วงวัยนั้นๆมาแล้ว ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ตรงของตนเอง และหนังสือบางเล่มอ่านแล้วสนุกและตื้นเต้น และที่สำคัญก็คือต้องใช้ช่วงอายุอินไปกับการอ่านหนังสือด้วย ในเมื่อผู้ใหญ่นั้นไม่ค่อยอ่านหนังสือ เพราะว่าการอ่านมันไม่ใช่กิจวัตรประจำวันของเรา และการบอกให้ลูกและเด็กอ่านนั้น มันก็เลยกลายเป็นเรื่องยาก ในเมื่อผู้ใหญ่ไม่อ่านและไม่ได้สร้างสิ่งแวดล้อมที่มีความเหมาะสม “อย่างครอบครัวทรายเองนั้น คุณพ่อเป็นผู้กำกับฯต้องอ่านนิยาย แม่เองเป็นผู้ช่วยก็ต้องอ่านทั้งคู่ ครอบครัวของเราโตมาด้วยการอ่านหนังสือ ในวัยเด็กนั้นได้อ่านนังสือที่ไม่เหมาะกับวัยมากๆ เช่น น้ำผึ้งขม คู่กรรม แต่ถ้าถามว่าเหมาะกับเด็กไหม มันก็ไม่เหมาะเพราะมันโตเกินวัย มีเรื่องชิงรักหักสวาท ตบกัน แต่ว่าเหล่านี้มันไม่ทำให้เราใจแตกหรือเสียเด็ก เพราะว่าเรามีความสนใจและได้ถามพ่อแม่และได้รับคำตอบตรงไปตรงมา และทรายเชื่อค่ะว่าหนังสือนั้นดีทุกเล่ม แต่อยู่ที่ว่าเราจะเติมเต็มหรือเข้าใจหลังจากที่เราอ่านจบแล้วมากน้อยแค่ไหน รวมทั้งผู้ใหญ่ที่คอยเติมเต็มความเข้าใจให้กับบุตรหลาน ให้กระจ่างมากที่สุด เพื่อบุตรหลานของท่าน”

ทราย เสริมว่า เด็กที่อ่านหนังสือนั้นจะเป็นเด็กที่สามารถคิดอะไรได้ รู้ว่าอะไรควรไม่ควร ซึ่งปัจจุบันนั้นเป็นปัญหามากสำหรับเยาวชน เพราะต้องคอยบอกทุกอย่าง นี่ควรหรือไม่ควร เพื่อให้เขาคิดได้ มีความรู้หากทำอย่างนี้ไม่ดี เขาจะมีตัวกรองที่ดีและอยู่กับตัวเองได้ หนังสือที่ดีสามารถต่อยอดความรู้ได้ การอ่านทำให้เราสนุก มองคนอื่นด้วยสายตาที่มีความหมาย และสนใจมนุษย์คนอื่น ไม่ใช่ว่าสนใจตัวเองอย่างเดียว

“รักการอ่าน ไม่ใช่อยากให้อ่านเพราะกระแสหรือนโยบายภาครัฐให้อ่านหนังสือ เพราะการเริ่มต้นอ่านตั้งแต่วัยเด็กนั้น จะส่งผลดีในภายภาคหน้า และที่สำคัญการสร้างวัฒนธรรมการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือนั้น โดยเริ่มต้นที่พ่อแม่เป็นต้นแบบในการอ่านจะทำให้เราโตไปพร้อมๆกับลูก และเราจะได้รู้ว่าเขาคิดอะไร เพราะการอ่านทำให้เราตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัยกับสิ่งที่ผ่านมาในชีวิต ” และเราต้องแก้ความเข้าใจของผู้ใหญ่ ว่าไม่เป็นต้องอ่านหนังสือเรียนอย่างเดียวถึงจะมีประโยชน์ ส่วนหนังสืออื่นๆก็มีประโยชน์ในตัวมันเองเช่นเดียวกัน วิธีแก้คือเริ่มต้นจากผู้ใหญ่ อ่านหนังสือให้มากขึ้น ถ้าจะสอนใครทำอะไร คุณควรเป็นแบบอย่างให้เขาเห็นก่อนถึงจะดีด้วย

สำหรับการตัดสินรางวัลสำหรับวรรณกรรมนั้น การตัดสินส่วนใหญ่นอกจากการอ่านแล้วยังรวมถึงอารมณ์ความรู้สึกว่าเกิดความสะเทือนใจความประทับใจอย่างไรบ้างกับหนังสือนั้นๆ ส่วนในเรื่องขององค์ประกอบอื่นๆอาทิ เช่น ภาพประกอบ ภาษา ก็คงต้องดูตามความเหมาะสมต่อไป”

เจตนารมณ์ของรักลูกกรุ๊ป ก็ยังคงเดิมคือการผลักดันทำให้สังคมไทยสามารถเดินหน้าก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้การแสวงหาความรู้มากขึ้น และในฐานะที่รักลูกกรุ๊ปทำงานทางด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัว การเลี้ยงลูกด้วยหนังสือซึ่งเราพบว่าเด็กจะพัฒนาสมบูรณ์ที่สุด ย่อมหมายความว่าในอนาคตพวกเขาเหล่าจะเป็นที่พึ่งของพวกเราได้ ซึ่งมันเป็นหน้าที่ที่เราทุกคนต้องช่วยกันสร้างให้ได้กับสิ่งเหล่านี้ วัฒนธรรมการอ่านเริ่มจากผู้ใหญ่ เริ่มจากการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยในการอ่าน พ่อแม่ต้องเท่าทันลูกในเรื่องการอ่าน ได้มีการเปิดตัวโครงการรักลูกอวอร์ดครั้งที่๗ อย่างเป็นทางการ เมื่อเร็วๆนี้

มาร่วมเปลี่ยนแปลงอนาคตของชาติที่ดียิ่งขึ้น ส่งเสริมหนังสือที่ดีมีคุณภาพ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้นักเขียน สำนักพิมพ์ และนักวาดภาพประกอบ ให้ผลิตหนังสือดี หลากหลายเหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย เริ่มต้นจากครอบครัว สร้างสังคมครอบครัวให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ รักการอ่าน เพื่อสังคมไทยที่ดีต่อไป

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net