กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--ก.ล.ต.
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ ก.ล.ต. เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ ประจำไตรมาสสองของปี 2553 ดังนี้
1. การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต
การส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตเป็นที่นิยมและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก.ล.ต. เห็นว่าบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ควรจะมีมาตรการในการควบคุมดูแลการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตอย่างเคร่งครัดในระดับที่ไม่แตกต่างจากการส่งคำสั่งทางช่องทางปกติ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการส่งคำสั่งที่มีลักษณะไม่เหมาะสมหรืออาจผิดกฎหมาย เช่น สร้างราคา โดย บล. จะต้องมีมาตรการป้องปราม เช่น มีการคัดกรองคำสั่งที่ไม่เหมาะสม เช็คสอบ IP address ว่าเป็นการส่งคำสั่งจากลูกค้าจริง และเมื่อพบการส่งคำสั่งซื้อขายที่ผิดปกติ ก็อาจให้ลูกค้าหยุดส่งคำสั่ง โดยจะต้องมอบหมายให้ผู้ดูแลการปฏิบัติงานด้านหลักทรัพย์ (compliance) สอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด และให้รายงานเมื่อพบความผิดปกติโดยไม่ชักช้า เป็นต้น ซึ่งสมาคม และ ก.ล.ต. จะร่วมกันกำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานขั้นต่ำในการควบคุมดูแลการส่งคำสั่งผ่านอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ บล. ใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานต่อไป
2. แนวทางกำกับดูแลและการพัฒนาคุณภาพของเจ้าหน้าที่การตลาด
จากการที่ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพการให้บริการของเจ้าหน้าที่การตลาด และให้สมาคมไปดำเนินการหามาตรการนั้น ในการประชุมครั้งนี้ สมาคมนำมาตรการดังกล่าวมาเสนอ ก.ล.ต. ว่าจะยกเลิกมาตรการการหักค่าอินเซ็นทีฟของเจ้าหน้าที่การตลาด และเสนอมาตรการรองรับดังนี้
1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายผลตอบแทนของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนให้มีความหลากหลายและสอดคล้องกับรูปแบบการให้บริการของ บล. ในปัจจุบันซึ่งมีทั้งรูปแบบของ Private Wealth Management หรือรูปแบบที่เน้นการซื้อขายหุ้นเป็นหลัก ตลอดจนเพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบุคลากรใหม่ที่มีคุณภาพเข้าสู่ธุรกิจหลักทรัพย์
2) พัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนให้สามารถบริการลูกค้าได้หลากหลายและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยดำเนินโครงการ Modern Marketing ร่วมกับสถาบันพัฒนาความรู้ตลาดทุน เพื่ออบรมเจ้าหน้าที่การตลาดปัจจุบันในด้าน soft skills และด้าน investment knowledge และอบรมเจ้าหน้าที่การตลาดรุ่นใหม่ รวมถึงการสร้างเจ้าหน้าที่ฝึกอบรมที่มีคุณภาพ ซึ่งในปีนี้จะอบรมบุคลากรรวมทั้งสิ้นประมาณ 1,000 คน
3) จัดทำคู่มือการปฏิบัติงานของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุน (best practices) ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ และมุ่งเน้นให้ บล. กำกับดูแลผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนให้ดำเนินการตามคู่มือดังกล่าวโดยเคร่งครัด โดยจะมีการกำหนดปัจจัยคุณภาพในการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ติดต่อกับผู้ลงทุนและดำเนินการประเมินผลเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง
3. การจัดทำบทวิเคราะห์หลักทรัพย์
สมาคมได้สำรวจข้อมูลจาก บล. พบว่า บล. ส่วนใหญ่จัดทำบทวิเคราะห์ในหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขาย 20 อันดับแรกของบริษัท โดยเฉลี่ยคิดเป็น 87% ของหลักทรัพย์ดังกล่าว (ประมาณ 17 หลักทรัพย์) ในลำดับถัดไปสมาคมจะผลักดันให้ บล. ทุกแห่งทำบทวิเคราะห์ให้ครอบคลุมหลักทรัพย์ทั้งหมดที่มีการซื้อขาย 30 อันดับแรกของบริษัทภายในกลางปี 2554 (จากปัจจุบันทำได้โดยเฉลี่ยคิดเป็น 82% ของหลักทรัพย์ดังกล่าว หรือประมาณ 25 หลักทรัพย์) และหลังจากนั้น บล. ทุกแห่งจะต้องทำบทวิเคราะห์ให้ครอบคลุมหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขาย 50 อันดับแรก เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจแก่ผู้ลงทุน
4. การบริหารความเสี่ยงในการลงทุนของพอร์ต บล.
ปัจจุบัน ก.ล.ต. มีนโยบายผ่อนคลายให้ บล. สามารถทำธุรกรรมได้หลากหลายขึ้น เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีรายได้ด้านอื่นนอกเหนือจากการพึ่งพารายได้ค่าคอมมิชชั่น ซึ่งรวมถึงการอนุญาตให้ บล. ลงทุนในตราสารทางการเงินต่างๆ ได้มากขึ้น เช่น ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าได้โดยไม่จำกัดประเภทของสินค้าและตัวแปรอ้างอิง เป็นต้น เมื่อการลงทุนของพอร์ต บล. มีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้น การบริหารความเสี่ยงในการลงทุนจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการลงทุนและกระทบกับฐานะของ บล. ก.ล.ต. จึงจะกำหนดให้คณะกรรมการของ บล. ต้องรับทราบว่า บริษัทมีความเสี่ยงจากการลงทุนในเรื่องใดบ้าง มีวิธีการบริหารความเสี่ยงอย่างไรและควบคุมดูแลการลงทุนของบริษัทด้วย นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้ขอให้สมาคมจัดทำมาตรฐานการบริหารความเสี่ยงให้แล้วเสร็จภายในปี 2553 เพื่อให้ บล. นำแนวทางไปปฏิบัติต่อไป
นายธีระชัย กล่าวว่า สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เกิดขึ้นส่งผลให้ บล. จะต้องปรับตัวอยู่เสมอ โดยต้องมีแผนการบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้ บล. สามารถดำเนินธุรกิจและให้บริการแก่ผู้ลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง และยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้เทียบเท่าสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อแผนการเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียนมีความคืบหน้ามากขึ้น ก.ล.ต. จึงขอให้ บล. เตรียมพร้อมและขอให้นำอุปสรรคและปัญหาในการดำเนินธุรกิจหารือกับ ก.ล.ต. เพื่อช่วยกันหาแนวทางที่จะผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ไปได้อย่างราบรื่น
นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ กล่าวว่า สมาคมกระตุ้นเตือนให้สมาชิกตระหนักถึงผลกระทบของการเชื่อมโยงตลาดทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยสมาคมได้ทำงานร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเตรียมตัวในเรื่องนี้ ซึ่งได้แก่ การเตรียมความพร้อมด้านระบบ ด้านกฎระเบียบ ด้านปฏิบัติการ และด้านการตลาด ซึ่งรวมถึงการทำความรู้จักโบรกเกอร์ในภูมิภาคนี้ โดยสมาคมมีโครงการร่วมกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่จะนำ บล.ไทย ไปพบปะกับ บล. มาเลเซียในช่วงเดือนกรกฎาคม นี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit