กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--สมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย
จากสถานการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมา ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และหลายจังหวัด ได้รับการนำเสนอและได้รับการติดตามเฝ้าดูอยู่ทั่วโลกไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความสูญเสียที่มีผู้บาดเจ็บ ล้มตาย รวมถึงความเสียหายทั้งทรัพย์สิน และมูลค่าทางธุรกิจมหาศาล ส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนภาพลักษณ์ของประเทศไทยจากเดิมที่ย่ำแย่ จนยากเกินเยียวยา
ดร. พจน์ ใจชาญสุขกิจ นายกสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ ดังกล่าวว่า นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่ส่งผลกระทบทางภาพลักษณ์ของประเทศอย่างรุนแรง ที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา ผู้ประกอบการภาคธุรกิจต่างๆ ในแทบทุกอุตสาหกรรมก็ว่าได้ ต่างมีความพยายามแก้ไขกับนานาวิกฤต จากปัญหาผลกระทบทางเศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมืองภายในประเทศ การก่อการร้ายชายแดนภาคใต้ ส่งผลทั้งกับการบริโภค การจับจ่ายใช้สอย การท่องเที่ยว และเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจอื่นเป็นลูกโซ่
ในส่วนนี้สมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ได้ทำการสำรวจภาพลักษณ์ประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และพบว่าภาพลักษณ์ด้านความวุ่นวายด้านการเมือง ความน่าสนใจต่อการลงทุน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นภาพลักษณ์ที่ตกต่ำมาโดยตลอด และเชื่อว่าจากความวุ่นวายครั้งล่าสุดที่ผ่านมาย่อมยิ่งติดลบจนไม่มีประโยชน์ที่จะประเมินเป็นตัวเลขออกมาอีก
ปัญหานับจากนี้ ก็คือ การพลิกฟื้นความเชื่อมั่นที่ตกต่ำจนติดดินให้กลับมาอีกครั้ง แม้จะเป็นโจทย์ที่ยากยิ่ง ของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน
? ภาพลักษณ์ประเทศ ภาครัฐต้องเป็นหัวขบวนในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัจจัยรุมเร้าหลายประการ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ตลอดจนความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาครัฐและเอกชนในการบริหารธุรกิจ ตลอดจนการ ครองชีพของประชาชน รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศในแง่มุมต่างๆ ที่จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศในภาพรวมภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่ผ่านมา การประเมินภาพลักษณ์ในด้านต่างๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การเร่งปิดจุดอ่อนของการสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการเสริมจุดเด่นของประเทศไทย นั่นคือการบริหารจัดการภาพลักษณ์ประเทศ การบริหารภาพลักษณ์ของประเทศและใช้ยุทธศาสตร์ทางการสื่อสาร เพื่อเรียกความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูความเสียหายและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ที่สำคัญภาพลักษณ์ของประเทศไม่ใช่ ภาพลักษณ์ของรัฐบาลหรือการสร้างภาพให้กับหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพียงอย่างเดียว ภาพลักษณ์ดังกล่าวจะต้องเป็นการสื่อสารให้เห็นภาพรวมเชิงนโยบายของประเทศไม่ใช่เพื่อบุคคล องค์กร ที่ใดที่หนึ่ง โดยผ่านกระบวนการสื่อสารที่ชัดเจน ผ่านการรับรู้ เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องโปร่งใส เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์
? ภาคเอกชนต้องปรับแผนธุรกิจใหม่ ทั้งนี้เพราะภาคธุรกิจเอกชนไม่อาจทำได้โดยลำพังหากไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีเพียงพอ ตราบใดที่อำนาจทุกอย่างอยู่ที่ภาครัฐ ซึ่งต้องมีการปรับหัวขบวนกันยกใหญ่ ปลายขบวนจึงจะขับเคลื่อนไปอย่างมั่นคงได้ แต่ก็ไม่อาจจรอเวลาได้ นั่นคือทำทุกวิถีทางที่ถูกต้องและได้ภาพลักษณ์ประเทศไทย กลับคืนมามีความเชื่อมั่น หรือมีทิศทางเชิงบวกที่ดีขึ้น โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้คน อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่น ทั้งภาพใหญ่ ตลอดจนการดำเนินชีวิตประจำวัน การให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ของประเทศเป็นสิ่งที่สำคัญและควรบรรจุเป็นการกำหนดแผนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
กำจัดจุดอ่อนและเสริมจุดแข็งภาพลักษณ์ไทย
ภาพของความซ้ำซาก จำเจ ทะเลาะเบาะแว้ง นับเป็นสิ่งที่จำเจซ้ำซาก น่าเบื่อหน่าย ประชาชนอีกไม่น้อยทีเดียวที่เห็นว่าเป็นจุดอ่อนของประเทศและส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ไม่น้อยไปกว่าเรื่องเศรษฐกิจการเงิน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คุณภาพชีวิต ความปลอดภัย เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความมั่นคง ความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ตลอดจนความพร้อมในการเป็นแหล่งการค้าและการลงทุน
ภาพลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นและควรนำมาเป็นจุดขายที่สำคัญของการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ ได้แก่ สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศ ศิลปวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต พร้อมกับการจัดโครงการส่งเสริมความรักความสามัคคีของประชาชนอย่างเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยรองรับการเติบโตของประเทศที่ยั่งยืน
ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งฟื้นฟูภาพลักษณ์นั่นคือ เรื่องการสร้างความเชื่อมั่นด้านความมั่นคง ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมส่งออก และฟื้นฟูการการท่องเที่ยว ให้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
ภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้นครั้งนี้ มีความแตกต่างจากหลายครั้งที่ผ่านมา เพราะเป็นวิกฤตที่เกิดมาจากคนในประเทศเป็นผู้กระทำเอง ดังนั้น เครื่องมือในการแก้ไขจึงต้องแตกต่างจากที่เคยใช้ นั่งคือการเร่งสร้าง สร้างความปรองดอง ความสมานฉันท์ อย่างแท้จริงให้เกิดขึ้นภายในชาติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
รัฐบาลต้องใช้การสื่อสารที่เป็นเอกภาพ
ทิศทางการบริหารภาพลักษณ์ของประเทศและการสื่อสารในทิศทางที่เหมาะสม การแสดงจุดยืนของรัฐบาลที่ชัดเจน เน้นความเป็นเอกภาพ ยึดปัญหาที่เป็นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนด้วยความสมานฉันท์ / การลำดับความสำคัญของปัญหาของประเทศในแต่ละภาคส่วน การกำหนดโครงสร้างหน้าที่ของการแก้ปัญหาร่วมกันมากกว่าการแยกตามหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม / การนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทั้งในระดับนโยบาย ระดับปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมมีความชัดเจนและรอบด้าน
ภาครัฐควรให้ความสำคัญและเป็นการแสดงถึงความตั้งใจที่จะแก้ปัญหาต่างๆ อย่างแท้จริง คือการเร่งสร้างเสถียรภาพให้กับประเทศ รวมไปถึงการจัดทำแผนประชาสัมพันธ์ประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เร่งสร้างความปรองดอง สมานฉันท์แบบเป็นรูปธรรมให้ชัดเจน จัดระบบการสื่อสารทั้งในประเทศและต่างประเทศใหม่ เพราะความมั่นคงและเสถียรภาพทางการเมืองจะสามารถเรียกความน่าเชื่อถือจากทุกส่วนให้กลับคืนมาได้
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศได้บอบช้ำภายใต้ความขัดแย้งมานานนับปีในหลายๆ ด้าน รวมถึงภาพ ลักษณ์ของประเทศที่อยู่ในทิศทางที่น่าเป็นห่วง ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งของภาครัฐบาลและเอกชน ในการวางยุทธศาสตร์ด้านการสื่อสารของประเทศให้อยู่ในครรลองที่เหมาะสม ปรับภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งในระดับประเทศและนานาชาติโดยเร็ววัน
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit