สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯ จัดอบรมเสริมทักษะเภสัชกรสาขาโรคมะเร็ง

27 May 2010

กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯ

สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯ เตือนผู้ป่วยมะเร็งอย่ากลัวผลข้างเคียงเคมีบำบัดเกินเหตุ จนไม่กล้ารักษาและปล่อยให้มะเร็งลุกลาม ชี้วงการแพทย์ยุคใหม่มีการคิดค้นสูตรยามะเร็งใหม่ๆช่วยแก้ไขปัญหาผลข้างเคียงรุนแรงจากเคมีบำบัด แนะผู้ป่วยปรึกษาแพทย์และเภสัชกรเฉพาะทาง

รศ.ภญ.ดร.บุษบา จินดาวิจักษณ์ อุปนายก สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เปิดเผยในงานประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “เทคนิคการผสมยาเคมีบำบัดที่ให้ทางหลอดเลือด สำหรับเภสัชกรสาขาโรคมะเร็ง” ซึ่งสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) ได้จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ยาเคมีบำบัด ก็คือยาต้านมะเร็ง หรือที่รู้จักกันในชื่อว่ายาคีโม แม้ว่าจะเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด และขึ้นชื่อว่าเป็นยาที่สามารถกำจัดเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผู้ป่วยมะเร็งบางส่วนยังรู้สึกกลัวต่อผลข้างเคียงจากการให้ยาคีโม เช่น อาการผมร่วง หรืออาเจียนรุนแรง ซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยและสร้างความทรมานอย่างมาก จนทำให้ผู้ป่วยบางรายรู้สึกท้อแท้และไม่ยอมเข้ารับการรักษา บางรายหันไปรักษาด้วยยาสมุนไพร ยาต้ม ยาหม้อ และบางรายก็อาจหันไปพึ่งทางไสยศาสตร์ ส่งผลให้กลายเป็นอุปสรรคต่อการรักษาและการมีชีวิตรอดผู้ป่วยมะเร็ง

“ผู้ป่วยมะเร็งส่วนใหญ่มักจะกลัวผลข้างเคียงจากการให้เคมีบำบัด อาจจะเป็นเพราะว่าฟังต่อๆกันมาจากคนอื่น หลายคนไม่ยอมเข้ารับการรักษาปล่อยให้มะเร็งลุกลามจนเกินแก้ไข ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ผู้ป่วยมะเร็งมีชีวิตยืนยาวได้หากได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม แพทย์จะเป็นผู้ให้การวินิจฉัยและให้การรักษา โดยหากผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ก็จะมี เภสัชกรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโรคมะเร็ง เป็นผู้ทำการผสมยาเคมีบำบัดและจัดการให้อยู่ในรูปแบบที่เหมาะสม เนื่องจากยาคีโมเป็นยาที่มีผลข้างเคียงมากอยู่แล้ว หากทำการผสมไม่ถูกต้องหรือจัดการไม่ดีพอ ก็จะกลายเป็นการซ้ำเติมผู้ป่วย เภสัชกรสาขาโรคมะเร็งยังช่วยคลายกังวลให้แก่ผู้ป่วยในเรื่องอาการข้างเคียง โดยการเข้าถึงผู้ป่วยเพื่อให้คำปรึกษา และแจ้งให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้าถึงอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น อาเจียน และให้ยาแก้อาเจียนก่อนที่ผู้ป่วยจะเริ่มรับยาคีโม เพื่อบรรเทาอาการให้ลดน้อยลง” ภญ.บุษบา กล่าวและเสริมว่า

นับเป็นความโชคดีของผู้ป่วยในยุคปัจจุบัน เนื่องจากวงการแพทย์ได้มีการคิดค้นสูตรยามะเร็งใหม่ๆ ออกมามากมาย ที่ลดปัญหาอาการข้างเคียงรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์เพื่อหาทางออกในการรักษาที่ดีที่สุด หากผู้ป่วยต้องการใช้การแพทย์ทางเลือกร่วมด้วย ก็อย่าอายหรือไม่กล้าที่จะบอกแพทย์หรือเภสัชกร เพราะการแพทย์ทางเลือกอาจรบกวนกับยาคีโมที่ผู้ป่วยได้รับอยู่ อาจจะเกิดผลข้างเคียงมากยิ่งขึ้น หรือทำให้การรักษาไม่ได้ผล

สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับยาเคมีบำบัด ควรดูแลสุขภาพตนเองให้มาก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ นอนหลับพักผ่อน ทำจิตใจให้สบายและไม่เครียด และควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่แออัด เช่น ตลาดนัด ห้างสรรพสินค้า โรงภาพยนตร์ มิฉะนั้นจะเสี่ยงต่อการเกิดโรคติดเชื้อแทรกซ้อนได้ เพราะหลังจากผู้ป่วยได้รับยาคีโมแล้ว ยาคีโมจะทำให้ระดับเม็ดเลือดขาวต่ำลงซึ่งมักจะต่ำสุดที่เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เม็ดเลือดขาวทำหน้าที่สำคัญคือ ต่อสู้กับเชื้อโรค หากเม็ดเลือดขาวต่ำจะส่งผลทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อง่าย ส่วนญาติและคนใกล้ชิดก็ควรจะต้องทราบข้อจำกัดนี้ของผู้ป่วย ควรหลีกเลี่ยงการไปเยี่ยมผู้ป่วยขณะที่ตนเองไม่สบาย ไม่ทำอาหารที่ไม่สุกให้ผู้ป่วยรับประทาน ไม่พาผู้ป่วยไปอยู่ในที่ชุมชน เพื่อไม่ให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งเภสัชกรจะให้ข้อมูลเหล่านี้แก่ผู้ป่วยและญาติทราบ และสามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องยาที่ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยง นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยต้องไม่ปิดบังเมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เป็นหวัด ไอ จาม ท้องเสีย ควรปรึกษาแพทย์ ผู้ป่วยควรมาเข้ารับยาเคมีบำบัดตามนัดให้ครบทุกครั้ง หากไม่มารับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ อาจทำให้การรักษาล้มเหลว และโอกาสที่จะยืดชีวิตลดน้อยลง

“ทางสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาลฯ มีนโยบายจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับเทคนิคการผสมยาเคมีบำบัดที่ให้ทางหลอดเลือด ให้แก่เภสัชกรสาขาโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่องทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 2547 เพื่อมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ป่วยมะเร็ง เพราะต้องยอมรับว่า ปัจจุบันมะเร็งแซงหน้ามาเป็นโรคที่มีความร้ายแรงอันดับหนึ่ง หากยาคีโมทำโดยผู้ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญหรือไม่ใช่เภสัชกรที่เรียนด้านนี้มาโดยตรง อาจทำให้ยาที่ผสมออกมามีประสิทธิภาพไม่เต็ม 100% และผลการรักษาไม่มีประสิทธิภาพเต็มที่

ดังนั้นเพื่อให้ผู้ป่วยมั่นใจได้ว่าจะได้รับยาที่มีคุณภาพ ปราศจากเชื้อ เหมาะสมกับผู้ป่วยและได้รับปริมาณที่ถูกต้อง และได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลตนเองระหว่างที่ได้รับยา สมาคมฯ จึงส่งเสริมให้เภสัชกรโรงพยาบาลในปัจจุบันให้เข้ามามีบทบาทและมีความสามารถในการผสมยาเคมีบำบัดได้ถูกต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน ตลอดจนส่งเสริมให้เภสัชกรทำการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้เภสัชกรโรงพยาบาลพัฒนาการปฏิบัติงานของตนเอง เพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งตามมาตรฐานสากลอีกด้วย” ภญ.บุษบา กล่าวสรุป

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net