กรุงเทพฯ--27 พ.ค.--มหาวิทยาลัยชินวัตร
เมื่อ“ความคิดสร้างสรรค์”ในมุมมองของเด็กถูกจำกัดด้วยแบบแผนความคิดเดิมๆ ทำให้ผลลัพธ์ที่ได้มาจากการเดินไปตามกฏ กติกา เพราะเขินอายที่จะเดินออกมานอกกรอบ และถึงแม้ผลงานจะสำเร็จลุล่วงไปตามขั้นตอน แต่ก็ไม่ได้มีความโดดเด่นน่าสนใจเพราะใช้การคิดแบบผู้ใหญ่นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ทางมหาวิทยาลัยชินวัตรได้จัดการบรรยายกึ่งเวิร์คชอป โดยได้รับเกียรติจากคุณคุณตุลย์ สุวรรณกิจ จากสถาบันสอนศิลปะโกลเบิล อาร์ต เป็นวิทยากรบรรยายในหัวข้อศิลปะเชิงสร้างสรรค์ กับมุมมองที่แตกต่าง “ Perception of Creativity” คุณตุลย์กล่าวว่า “การคิดแบบเด็กๆคือการมีอิสระที่จะคิด กล้าจินตนาการจะเกินจริง สิ่งเหล่านี้คือการมีความคิดสร้างสรรค์อย่างแท้จริง” ตัวอย่างเช่น ถ้าให้น้องๆวาดภาพปลา 5 ตัวบนกระดาษ 1 แผ่น เด็กหลายคนจะวาดภาพปลา 5 ตัวกระจายเรียงกัน ขนาดเท่ากัน แตกต่างแค่สีของตัวปลาเท่านั้น ซึ่งอันที่จริงน้องๆอาจจะวาดปลาเพียง 3 ตัวที่มีขนาดต่างกัน มีหางของปลาในมุมหนึ่งของกระดาษ และมีครีบปลาตัวเล็กๆตัวหนึ่งที่ถูกปลาตัวอื่นบังอยู่ ก็นับว่าวาดภาพปลาครบ 5 ตัวเช่นกัน แต่มีมุมมองความคิดและมิติที่แตกต่างไปจากเดิมนั่นเอง ส่วนการทำแบบผู้ใหญ่นั้นคือ การคิดแบบมีการวางแผน มีวินัย เอาจริงเอาจัง ตั้งใจพัฒนาและต่อยอดให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆได้ เมื่อน้องๆสามารถนำสองสิ่งนี้คือ การคิดแบบเด็กๆแต่ทำแบบผู้ใหญ่ มารวมเข้าด้วยกันจะทำให้ผลงานมีความโดดเด่น และแตกต่างด้วยอิสระทางความคิดที่กว้างไกล แต่ในขณะเดียวกันก็มีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานได้จริง ทั้งนี้น้องๆสามารถฝึกการ “คิดแบบเด็กแต่ทำแบบผู้ใหญ่” โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อได้
การบรรยายกึ่งเวิร์คชอปครั้งนี้ จัดขึ้นโดยมีกลุ่มนักเรียนทุนของมหาวิทยาลัยเข้าร่วมฟังการบรรยายประมาณ 80 คน เป็นการบรรยายเนื้อหาโดยสอดแทรกกิจกรรมเช่น ให้น้องๆอาสาสมัครขึ้นมาวาดรูปบนเวทีโดยใช้จินตนาการกับมุมมองใหม่ๆ ทั้งนี้เพื่อให้ความรู้ สอนวิธีการคิดแบบเด็กๆ และพัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยใช้ศิลปะเป็นสื่อกลาง โดยน้องสามารถนำวิธี “การคิดแบบเด็กๆแต่ทำแบบผู้ใหญ่” ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งยังเป็นการผ่อนคลายความเครียดและเหนื่อยล้าจากการเตรียมความพร้อมทางวิชาการและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วย
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit