กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--กระทรวงวัฒนธรรม
จากเหตุการณ์ในรอบเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรมตระหนักถึงความสำคัญในการเยียวยาจิตใจของคนในชาติ รวมทั้งการกอบกู้ภาพลักษณ์และการฟื้นฟูประเทศ จึงจัดให้มีโครงการ “ฝันถึงสันติภาพ” (Imagine peace) ขึ้นภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ๒๕๕๕ สาขาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ กระทรวงวัฒนธรรม โดยรวมพลังศิลปิน นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป เปิดเวทีสนทนาระดมความคิดในหัวข้อ “ฝันถึงสันติภาพ” ในวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร งานนี้มีบุคคลดังซึ่งเป็นตัวแทนจากต่างสาขาเข้าร่วมและแสดงความเห็นกันมากมาย อาทิ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต, ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา, อ.เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, อ.นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, จาฤก กัลย์จาฤกษ์, วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์, ประดิษฐ์ ปราสาททอง , ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ฯลฯ
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ให้ข้อมูลว่า “กรณีนี้เป็นเรื่องของการเยียวยาจิตใจ ซึ่ง มาตรการการเยียวยาโดยตรงรัฐบาลก็ทำแล้ว ใครเสียหายกี่ห้างร้านให้ไปลงทะเบียนก็ทำแล้ว แต่การเยียวยาจิตใจที่ต้องใช้เวลา ซึ่งเราควรต้องช่วยกันคลี่คลายสถานการณ์ตรงนี้ออกมาให้ได้ ผมมองว่ากองทัพศิลปินที่ไม่มีอาวุธใดนอกจากความคิดสร้างสรรค์อันเป็นที่มาของโครงการ “ฝันถึงสันติภาพ” นี้ ถ้าเรารวมความคิดเห็น รวมความรู้สึก หรือผลงานที่ตัวศิลปินอยากจะถ่ายทอดออกมาเพื่อรับใช้สังคมได้ จุดนี้จะเป็นตัวช่วยพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวเดินต่อไปได้ด้วยอีกทางหนึ่ง”
สำหรับ แม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต หนึ่งในผู้ร่วมงานเสวนาครั้งนี้ ให้ความเห็นว่า “ความขัดแย้งเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง หากเราไม่ได้มองความขัดแย้งเป็นความเกลียดชัง ไม่ได้เห็นความต่างเป็นความขัดแย้ง สันติภาพย่อมเกิดขึ้นในจิตใจ ฉะนั้นเมื่อเรามองว่าคนหนึ่งคนที่กำลังจะลุกขึ้นมาทำศิลปะ หรือใช้กระบวนการทำงานร่วมกันสักชิ้นหนึ่งอันจะทำให้เกิดศิลปะ ที่ทำให้คนมองเรื่องที่มันอาจจะไม่เหมือนกันแต่มีความสุขได้ไม่ต่างกัน คุณแม่ว่าตรงนี้เป็นงานที่เราอาจจะต้องช่วยกันทบทวน
โดยความปรองดองจะเกิดขึ้นไม่ได้ในที่ใดที่มีอคติ เราจึงต้องเข้าถึงการเคารพและเข้าใจในสิ่งที่ผู้อื่นเป็นอย่างแท้จริง ศิลปะตรงนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับศาสนา แต่มันขึ้นกับนวัตกรรมของการมอง เหมือนกับการมองความทุกข์เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เราเห็น แต่ไม่ได้ทำให้เราคลุกคลีนี่คือศิลปะ เห็นทุกข์แต่พ้นทุกข์ เห็นทุกข์แต่เป็นอิสระจากทุกข์ ซึ่งคุณแม่มั่นใจว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์ ที่สุดของการเป็นมนุษย์คือการใช้ศิลปะให้เราไม่ตกเป็นเหยื่อของอารมณ์”
ด้านศิลปินแห่งชาติ เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวว่า สันติภาพต้องการสันติวิธีซึ่งศิลปิน คนทั่วไปก็ใฝ่ฝัน แต่ปัจจุบันเราไม่ได้ย้อนกลับไปดูที่ต้นสายปลายเหตุ ไม่ได้ขจัดที่สาเหตุแล้วจะไปคำนึงถึงผลปลายทางได้อย่างไร
“ผมเป็นคนเขียนหนังสือ ในความหมายของคำว่า สมานก็คือเสมอหรือเหมือนกัน ฉันทะคือความชอบพอใจ เราต้องมีความเห็นชอบเหมือนกันเสียก่อนจึงจะสมานฉันท์ได้ เราจึงจะเรียกร้องความสมานฉันท์ได้ แต่ทุกวันนี้เราเห็นชอบกับอะไรระหว่างความถูกกับความผิด การสมานฉันท์ระหว่างอสรพิษกับนกพิราบเป็นเรื่องที่ทำได้หรือเปล่า อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเหตุการณ์วันนี้เขย่าให้คนไทยตื่นและรู้จักตัวเองเสียที มิฉะนั้นเราก็จะเป็นคนหลงๆ มีค่านิยมเลวๆ ที่ว่าตามเขาแล้วเก่ง คิดเองแล้วโง่ เพราะเราไม่รู้จักตัวเอง เหตุการณ์วันนี้ยืนยันให้เห็นว่าเราจะมีความคิดเฉพาะตัวไม่ได้ เพราะที่สุดแล้วภาพของเรามันเหมือนจิกซอว์ที่พอต่อครบทั้งหมดแล้ว มันคือภาพของประเทศไทย เสมือนต้นไม้ต้นหนึ่งที่มี ๓ ส่วนสำคัญ คือ ราก ลำต้น เรือนยอดอันเป็นกิ่งก้านสาขา เศรษฐกิจคือราก การเมืองคือยอด ส่วนลำต้นคือสังคม ถ้าการเมืองเป็นพิษ เศรษฐกิจเป็นภัย ต้นไม้ต้นนั้นก็จะแคระเกร็น และมีดอกผลอันเป็นพิษ และดอกผลนี้คือวัฒนธรรม ที่เรามาพูดกันในวันนี้เรามาพูดถึงดอกผล ถ้าหากว่าเศรษฐกิจไม่ดี การเมืองไม่ดี ต้นไม้ก็จะออกลูกออกผลอันเป็นพิษ ฉะนั้นเราจึงจะมองแค่เฉพาะส่วนไม่ได้ แต่ต้องมององค์รวมของทั้งหมด ซึ่งเป็นภาระหน้าที่ของพวกเราทุกคน”
นอกจากนี้ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด หนึ่งในผู้ก่อตั้งนิตยสาร a day ให้ความเห็นถึงการจัดประชุมว่า “โดยส่วนตัวผมว่าอะไรที่เกี่ยวกับคำว่าสันติภาพมันดีทั้งๆ นั้น เพราะมันเป็นคำที่แปลกมาก ในเวลาที่บ้านเมืองปกติหรือสังคมสงบๆ คำนี้จะไม่ถูกพูดถึง หรือได้รับความสำคัญ แต่เวลาเมื่อไรก็ตามที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งรุนแรงถึงขนาดปะทะกัน คำๆ นี้จะถูกหยิบยกขึ้นมาให้ค่าให้ความหมายแล้วก็นึกถึงมันทันที แต่อย่างหนึ่งที่ผมอยากให้ข้อสังเกต ให้นึกถึงการทำสันติภาพสักอย่าง ผมคิดว่าสันติภาพมันเป็นเรื่องที่ทำคนเดียวไม่ได้ สองคนก็ไม่ได้ ขนาดสิบหรือร้อยก็ทำไม่ได้ มันต้องทำด้วยคนหมู่มาก ทำด้วยคนพร้อมๆ กัน มันถึงจะมีพลัง มีความหมาย มีรูปธรรมที่เกิดขึ้น โอกาสนี้จึงเป็นโอกาสอันดีที่คนเราจะเกิดความรู้สึกว่า เราน่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างมันขึ้นมาได้ มีคำกล่าวของท่าน มหาตมะ คานธี ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพคนหนึ่งของโลกที่ผมชอบมากเลย เขาเคยกล่าวไว้ว่า สันติภาพมันเหมือนแสงเทียนที่จุดขึ้นท่ามกลางพายุโหมกระหน่ำ ซึ่งพายุที่โหมกระหน่ำก็เหมือนความรุนแรง ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ส่วนสันติภาพก็เป็นแสงเทียนที่พร้อมจะถูกพัดดับได้อยู่เสมอจากความรุนแรง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ความหมายที่ท่านคานธีกล่าวเอาไว้ ผมคิดว่าท่านตั้งใจที่จะบอกเราว่า อย่าย่อท้อที่จะจุดเทียนสันติภาพให้มันเกิดขึ้น แม้ว่าจุดแล้วดับก็ต้องจุดอีก จุดอีก จนกระทั่งมันติดแล้วอยู่ได้นาน ซึ่งผมมองว่าที่สุดแล้ว มันจะดีมากเลย ถ้าคนจุดคนนั้นไม่ใช่คนคนเดียว เพราะหากเราร่วมกันจุดเยอะๆ มันก็จะไม่ใช่แสงเทียนวอมแวม แต่จะเป็นแสงเทียนที่สว่างจ้า แม้มีส่วนหนึ่งส่วนใดดับแต่ก็จะยังคงมีส่วนอื่นคงอยู่”
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมงานกับกรุงเทพมหานคร สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ กำหนดจัดนิทรรศการ “ฝันถึงสันติภาพ” ระหว่าง ๒๔ มิถุนายน – ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๓ ณ ชั้น ๙ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ออกแบบงานศิลปะเพื่อสร้างสันติภาพ และสมานฉันท์ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ อาทิ บริเวณห้างเซ็นทรัลเวิลด์ สี่แยกราชประสงค์ ถนนเพลินจิต สี่แยกปทุมวัน บ่อนไก่ ฯลฯ โดยศิลปินหลากหลายสาขากว่า ๕๐ ท่าน เช่น อ.ถวัลย์ ดัชนี อ.อังคาร กัลยาณพงศ์ ศ.ปรีชา เถาทอง อ.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ อ.ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช รวมทั้งมีให้บริการออกแบบภูมิทัศน์ ป้ายชื่อร้าน ป้ายโฆษณา ให้ผู้ได้รับผลกระทบโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายจากกลุ่มศิลปินและสมาคมกราฟฟิคแห่งประเทศไทย เพื่อมุ่งหวังการสร้างความสงบสุขคืนสู่สังคมไทยอีกครั้งหนึ่ง
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. กระทรวงวัฒนธรรม วธ. / IDZ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit