บสก. กวาดหนี้เสีย TMB / PAMC อีกกว่า 9 พันล้าน พร้อมเร่งเจรจาลูกค้าปรับโครงสร้างหนี้

28 Apr 2010

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--ธนาคารทหารไทย

บสก. เดินหน้ารับซื้อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินมาบริหารต่อเนื่อง ล่าสุด คว้า NPL จากแบงก์ทหารไทย (TMB) และ บริษัท บริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด เข้ามาบริหารจัดการจำนวน 9,355.07 ล้านบาท จากจำนวนลูกหนี้ 322 ราย ขณะเดียวกัน การขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในครั้งนี้ จะทำให้ TMB มีคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้น โดยอัตราส่วน NPL ลดลงเหลือตัวเลขหลักเดียว พร้อมโชว์ผลงานไตรมาสแรกปี 53 ทะลุเป้า ทำรายได้ถึง 4,813 ล้านบาท จากเป้าหมาย 2,991 ล้านบาท พร้อมจับมือ 7 สถาบันการเงิน เพิ่มช่องทางการรับชำระเงินด้วยบัตรบาร์โค้ด เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า

วันนี้ (28 เมษายน 2553) เวลา 13.30 น. บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) ได้จัดให้มีพิธีลงนามในสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) กับ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB และบริษัท บริหารสินทรัพย์พญาไท จำกัด (PAMC) คิดเป็นมูลหนี้รวมที่รับซื้อทั้งสิ้น 9,355.07 ล้านบาท ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารสำนักงานใหญ่ บสก.

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TMB กล่าวว่า "การจำหน่ายสินเชื่อด้อยคุณภาพให้ บสก. ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ของ TMB ซึ่งได้ตั้งสำรองสำหรับการขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพไว้เพียงพอแล้ว และการขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในครั้งนี้ จะทำให้อัตราส่วน NPL ของธนาคาร ลดลงจาก 11.4% เป็นตัวเลขหลักเดียวคือเท่ากับ 9.5% เมื่อเทียบกับยอดสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2553"

นายบรรยง วิเศษมงคลชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (บสก.) กล่าวว่า บสก.ได้รับซื้อรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) TMB มูลหนี้ตามเกณฑ์สิทธิ 8,428.87 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 187 ราย จากจำนวน 4 กอง และรับซื้อรับโอน NPL จาก PAMC มูลหนี้ตามเกณฑ์สิทธิ 926.20 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 135 ราย จากจำนวน 1 กอง คิดเป็นมูลหนี้รวมที่รับซื้อทั้งสิ้น 9,355.07 ล้านบาท จำนวนลูกหนี้ 322 ราย รวม 5 กอง โดยส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ที่อยู่ในเขตต่างจังหวัด 72% ที่เหลือ 28% เป็นลูกหนี้ที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (กรุงเทพฯ สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร)

ทั้งนี้ในขั้นตอนต่อไป บสก.จะมีหนังสือแจ้งให้ลูกค้ารับทราบ เพื่อเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ โดยพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าเป็นหลักและมุ่งเน้นวิธีการเจรจาประนีประนอมเพื่อหาข้อยุติที่ได้รับผลประโยชน์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย แม้จะเป็นหนี้ที่อยู่ในระหว่างการฟ้องร้องบังคับคดี บสก. ก็เปิดโอกาสให้ลูกค้ากลับมาเจรจาประนอมหนี้ได้ใหม่ โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถปรับโครงสร้างหนี้ และส่งกลับคืนระบบเศรษฐกิจตามปกติต่อไป

นายบรรยง ยังได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปีนี้ (มกราคม – มีนาคม 2553) ว่า บสก. มีรายได้จากการปรับโครงสร้างหนี้และจำหน่ายทรัพย์รวมทั้งสิ้น 4,813 ล้านบาท คิดเป็น 160.92% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้จำนวน 2,991 ล้านบาท หรือคิดเป็น 40.23% จากเป้าหมายทั้งปีที่จำนวน 11,963 ล้านบาท เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น และภาคการส่งออกของประเทศขยายตัว ประกอบกับรัฐบาลมีการต่ออายุมาตรการอสังหาริมทรัพย์ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม 2553 ทำให้ภาคธุรกิจอสังหาฯ ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน บสก. มีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ในความดูแลจำนวนทั้งสิ้น 46,071 ราย คิดเป็นมูลค่า 226,149 ล้านบาท ขณะที่มีทรัพย์สินรอการขาย (NPA) จำนวน 15,206 รายการ คิดเป็นมูลค่า 38,824 ล้านบาท โดยในช่วงต้นปี 2553 บสก. ได้เพิ่มขนาดสินทรัพย์ ด้วยการรับซื้อรับโอน NPL และ NPA จากสถาบันการเงินเข้ามาบริหารจัดการรวมมูลค่า 11,328.36 ล้านบาท จากในปี 2552 ที่ผ่านมา รับซื้อรับโอนเข้ามาบริหาร จำนวน 20,096.60 ล้านบาท โดยคาดว่าทั้งปีจะสามารถรับซื้อรับโอน NPL และ NPA จากสถาบันการเงินเข้ามาบริหาร จำนวน 19,000 ล้านบาท

นอกจากจากนี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บสก. กล่าวอีกว่า ขณะนี้ บสก. ได้เพิ่มช่องทางรับชำระเงินด้วยบัตรบาร์โค้ด สำหรับลูกค้าที่ซื้อทรัพย์ (NPA) ลูกค้าผ่อนชำระผ่านธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน ) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยธนาคารทั้ง 7 แห่ง มีสาขาทั่วประเทศที่พร้อมให้บริการ รวมจำนวน 4,269 สาขา

ขณะเดียวกัน บสก. ยังได้เพิ่มจุดให้บริการอีก 1 ช่องทาง ผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ใน 7 Eleven และห้างสรรพสินค้า ที่มีสาขาทั่วประเทศกว่า 6,000 สาขา ส่งผลให้ บสก. มีช่องทางการรับชำระเงินรวม 8 ช่องทาง จำนวนกว่า 10,000 สาขา ทั่วประเทศ ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์ในการเพิ่มช่องทาง