กรุงเทพฯ--7 พ.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
ม.อ.ค้นพบกุ้งเต้น 2 พันธุ์ใหม่ของโลกในทะเลสาบสงขลา อาศัยอยู่ในตะกอนดินโคลนที่ค่อนข้างสะอาด มีส่วนช่วยให้ระบบนิเวศวิทยาดีขึ้น เหตุช่วยบรรเทาความเน่าเสียของพื้นทะเลสาบจากการกินสารอินทรีย์เป็นอาหาร หลังจากที่ผ่านมาประสบปัญหาความสกปรกจากตะกอนดิน ส่งผลให้สัตว์น้ำประเภทกุ้งและปลาลดลง นักวิจัยเผยเร่งจัดทำคู่มือให้คนท้องถิ่นตระหนักถึงคุณค่าทรัพยากรทางทะเลและร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
ศาสตราจารย์ ดร.เสาวภา อังสุภานิช นักวิจัยประจำภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า ม.อ.ได้ค้นพบกุ้งเต้น หรือ “Amphipod” ซึ่งเป็นสัตว์คล้ายกุ้งขนาด 2-3 มิลลิเมตร พันธุ์ใหม่ของโลกจำนวน 2 พันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในตะกอนดินโคลนค่อนข้างสะอาดในทะเลสาบสงขลา โดยชนิดแรกที่ค้นพบคือ Kamaka songkhlaensis พบมากในทะเลสาบสงขลาตอนบน ซึ่งน้ำมีความเค็มต่ำ ส่วนอีกชนิดคือ Kamaka appendiculata พบหนาแน่นในทะเลสาบสงขลาตอนล่างตั้งแต่บริเวณปากทะเลสาบถึงเกาะยอ ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำมีความเค็มสูงกว่า
ทั้งนี้ กุ้งเต้นชนิดใหม่ที่ค้นพบ เป็นสัตว์น้ำที่มีประโยชน์ต่อระบบนิเวศวิทยาในทะเลสาบสงขลา เนื่องจากกุ้งเต้นชนิดนี้ช่วยบรรเทาความเน่าเสียของพื้นทะเลสาบโดยกินสารอินทรีย์ และช่วยเพิ่มการหมุนเวียนน้ำและอากาศในตะกอนดินโดยผ่านรูซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำเหล่านี้ โดยเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยรักษาระบบนิเวศวิทยาของทะเลสงขลา หลังจากที่ผ่านมาปัญหาการขยายตัวของชุมชน การทำเกษตร และโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ใกล้บริเวณทะเลสาบสงขลาได้ปล่อยมลพิษทำให้ระบบนิเวศวิทยาของทะเลสาบสงขลาได้รับความเสียหาย
“การค้นพบกุ้งสายพันธุ์ใหม่ในครั้งนี้ เกิดจากการลงพื้นที่วิจัยเกี่ยวกับสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาตลอดช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตจากต่างๆ ตั้งแต่แพลงตอน สัตว์พืชใต้น้ำ สาหร่าย หญ้าทะเลจนมาพบกุ้งสายพันธุ์ใหม่ 2 ชนิดที่อาศัยอยู่บริเวณตอนบนของทะเลสาบสงขลาที่ตะกอนดินค่อนข้างสะอาด อีกทั้งพฤติกรรมการดำรงชีวิตของกุ้ง 2 ชนิดนี้ที่ขุดรูใต้น้ำเพื่ออยู่อาศัย ทำให้น้ำทะเลเกิดการหมุนเวียนที่ดี ช่วยทำให้สภาพน้ำทะเลสะอาดมากขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อระบบนิเวศวิทยาโดยรวมของทะเลสาบสงขลา” ศาสตราจารย์ ดร.เสาวภา กล่าว
นักวิจัยภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ ม.อ. วิทยาเขตหาดใหญ่ กล่าวด้วยว่า จากการทำวิจัยในครั้งนี้ ยังพบว่า ทะเลสาบสงขลากำลังประสบปัญหาเรื่องหญ้าทะเลและสาหร่ายเขากวางในบางพื้นที่หายไป อันเป็นผลมาจากการบริโภคของมนุษย์ที่นำสาหร่ายเขากวางมาประกอบอาหาร จนทำให้สาหร่ายเขากวางลดจำนวนลง และมีสาหร่ายสีเขียวบางชนิดที่ไม่สามารถนำไปประกอบอาหารได้เจริญเติบโตขึ้นมาแทน เมื่อสาหร่ายดังกล่าวเพิ่มจำนวนขึ้น ทำให้น้ำและตะกอนดินพื้นทะเลสาบสงขลาสกปรกและขาดออกซิเจน ส่งผลให้จำนวนกุ้งและปลาลดลงตามลำดับ
ทั้งนี้ ม.อ.จึงได้ขอทุนอุดหนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เพื่อจัดทำหนังสือคู่มือการเรียนรู้เกี่ยวกับทะเลสาบสงขลา โดยผลิตเป็นคู่มือสำหรับนักเรียนมัธยมศึกษา ครู และคนทั่วไป และทำคู่มือที่เน้นเฉพาะทางเพื่อการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา โดยมีเป้าหมายที่ต้องการเป็นสื่อให้แก่คนท้องถิ่นได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรในชุมชน และเกิดแนวร่วมในการอนุรักษ์ทะเลสาบสงขลาให้มากขึ้น
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดยบริษัทมาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ (ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์)
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 118 หรือ 08-1929-8864
e-mail address : [email protected] เว็บไซต์ : www.mtmultimedia.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit