กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--TCELS
ยุ่นยังมั่นใจไทย มหาวิทยาลัยโตเกียวต่อสัญญา TCELS วิเคราะห์ยีนแพ้ยาของโรคทางกายและทางจิต ราชานุกูลเดินหน้าผลิตชุดทดสอบการใช้ยาต้านเศร้า หวังสกัดภาวการณ์ฆ่าตัวตายจากการใช้ยาไม่ได้ผล หลังพบคนไทยมีความเครียดสูงขึ้นจากสภาพปัญหาบ้านเมือง เผยหากสำเร็จแนะให้ตรวจยีนทั้งครอบครัวเพราะภาวะเครียดถ่ายทอดทางพันธุกรรม
นายกำจร พลางกูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) พร้อมด้วย น.พ.วีรยุทธ์ ประพันธ์พจน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยพันธุศาสตร์ สถาบันราชนุกูลภายใต้การสนับสนุนของ TCELS ได้เดินทางเข้าพบ ดร.นาโยกิ คามาตานิ ผู้อำนวยการศูนย์พันธุกรรมมนุษย์ Riken มหาวิทยาลัยโตเกียว เพื่อหารือถึงข้อตกลงความร่วมมือภายใต้โครงการเภสัชพันธุศาสตร์ ซึ่งได้มีความร่วมมือในการวิเคราะห์ยีนที่สัมพันธ์ต่อการเกิดโรคและยีนแพ้ยา อาทิ การวิเคราะห์ยีนของผู้ป่วยโรคเครียดรุนแรงหลังเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Postraumatic Stress Disorder หรือ PTSD ) การวิเคราะห์ยีนของผู้ป่วยแพ้ยาต้านไวรัสเอชไอวี ซึ่งได้ทำการค้นพบเป็นครั้งแรกของโลกถึงสองชนิดคือ เนวิราปิน กับสตาร์วูดีน
ภายหลังการหารือ นายกำจร กล่าวว่า การเจรจาเป็นไปด้วยดี โดยทาง Riken ยินดีต่อสัญญาโครงการเภสัชพันธ์ศาสตร์ต่อไปเพื่อทำการวิเคราะห์ยีนร่วมกัน นอกจากนี้ยังขยายผลไปถึงโครงการของสถาบันราชานุกูลที่จะทำการวิเคราะห์ยีนกับความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคเครียด เพื่อนำไปสู่การผลิตชุดทดสอบการใช้ยาต้านเศร้าต่อไป ทั้งนี้ทางสถาบันราชานุกูลได้มีผลการวิจัยไว้แล้ว และพบว่าคนไทยมีภาวะเครียดสูงขึ้นจากสภาพปัญหาทางการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ ในปัจจุบัน และรุนแรงในรายที่มีความเครียดสูง และที่น่ากังวลคือถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งหากผลิตเป็นชุดทดสอบสามารถตรวจได้ว่า ใครที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง และยาที่ให้กับผู้ป่วยนั้นตรงกับยีนของเขาหรือไม่ เพราะถ้าไม่ตรงกับยีนก็จะทำให้การใช้ยาไม่มีผลในทางการรักษา ในรายของผู้ป่วยที่มีความเครียดสูง อาจถึงขั้นฆ่าตัวตายได้
นายกำจร กล่าวว่า นายนาโยกิ เองยอมรับว่าปัญหาการเมืองภายในประเทศมีผลต่อการตัดสินใจในหลายด้านในประเทศญี่ปุ่น แต่สำหรับสถาบันเองยังมั่นใจในศักยภาพของประเทศไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการเภสัชพันธุศาสตร์ ที่มีความร่วมมือกันมาอย่างต่อเนื่อง และมีผลสำเร็จอย่างมากมายโดยเฉพาะการค้นพบยีนแพ้ยาต้านไวรัชเอชไอวีเป็นครั้งแรกของโลก และในส่วนของโครงการที่สถาบันราชานุกูล ได้ทำการหารือกันในครั้งนี้นั้น ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการวิเคราะห์ยีนร่วมกันอีก เนื่องจากในประเทศญี่ปุ่นเองประสบปัญหาเรื่องข้อกฎหมายต่าง ๆ มากมายเกี่ยวกับการหากลุ่มตัวอย่างในการทดสอบ โดยประเทศไทยมีความพร้อมในด้านนี้และทางสถาบันราชนุกูลเองก็มีศักยภาพในการดำเนินการ ซึ่งเขาก็ยินดีที่จะร่วมงานและจะลงนามความร่วมมือในโอกาสต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit