กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--สวทช.
ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สวทช.
เมื่อเร็วๆ นี้ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี คึกคักไปด้วยเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายกว่าร้อยคนจากทั่วประเทศ ที่มาร่วมเรียนรู้และประชันฝีมือการพับกระดาษโอริงามิ ภายใต้หัวข้อ “จินตนาการโลก...ผ่านโอริงามิ” ในกิจกรรมค่ายโอริงามิ รอยจินตนาการกับคณิตศาสตร์มหัศจรรย์ ซึ่งจัดโดย ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการพับกระดาษโอริงามิ กล่าวว่า ค่ายโอริงามิครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้บูรณาการความรู้ด้านคณิตศาสตร์และศิลปะโดยใช้การพับกระดาษ โดยภายในค่ายเด็กๆ ได้เรียนรู้พื้นฐานการพับกระดาษในรูปแบบต่างๆ จากทีมวิทยากรและนักพับกระดาษชั้นแนวแนวหน้าของไทย เช่น คุณเอกสิทธิ์ เข้มงวด ผู้ก่อตั้งชมรมนักพับกระดาษไทย และเจ้าของผลงานการพับกระดาษรูปพระพิฆเนศวร จากนั้นจะให้เด็กๆ ทั้ง 25 ทีม (ทีมละ 4 คน) พับกระดาษเข้าร่วมประชันกันในหัวข้อ “จินตนาการโลก...ผ่านโอริงามิ” กิจกรรมนี้เปิดโอกาสให้เด็กได้คิดและใช้กระดาษสร้างสิ่งที่เขาจินตนาการออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม ที่สำคัญคือการเปิดอิสระทางความคิดยังช่วยให้พวกเขารู้จักประยุกต์หรือคิดค้นการพับกระดาษรูปแบบใหม่ๆ ด้วยตนเอง เป็นการต่อยอดจากรูปแบบที่มีอยู่เดิม
สำหรับผลการแข่งขันการพับกระดาษโอริงามิ รางวัลชนะเลิศนั้นตกเป็นของทีมคอร์เนอร์ (Corner) จากโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ด้วยผลงานที่ชื่อว่า เดอะลาสท์ (The Last) โดย น้องแก้ม หรือ นางสาวพรพินิจ คุมมาริยะ ตัวแทนกลุ่ม กล่าวถึงผลงานชิ้นนี้ว่า เป็นการสะท้อนสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีสภาพแวดล้อมเสื่อมถอยลง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีมุมเล็กๆ ที่ยังเต็มไปด้วยความดีงาม ดังจะเห็นได้จากโมเดลซึ่งมีการแบ่งแยกโทนสีอย่างชัดเจน คือ โทนสีเทาดำสื่อถึงสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยอบายมุข ขณะที่สีสดใดที่แสดงให้เห็นถึงสังคมที่ดีงาม สำหรับพื้นที่สีดำจะมีซูเปอร์แมนยืนอยู่ท่ามกลางคนมากมาย เปรียบเสมือนบุคคลที่แม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ชั่วร้าย แต่จิตใต้สำนึกของแต่ละคนก็สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดดีสิ่งใดไม่ดี และเชื่อว่าแม้สิ่งดีจะมีเพียงน้อยนิด แต่ยังคงแต่งแต้มสีสันให้กับสังคมและช่วยอุ้มชูสังคมให้ดีขึ้นได้แน่นอน ส่วนในพื้นที่ดีงาม ก็มีโมเดลผู้หญิงคนหนึ่งที่กำลังยืนและกางแขนออก สื่อถึงผู้ที่อยู่ในสภาพสังคมที่ดีกว่าพร้อมที่จะให้โอกาสผู้ที่มีโอกาสด้อยกว่านั่นเอง
“ทั้งหมดนี้ก็เหมือนกับพวกเราเยาวชนที่แม้จะเกิดมาบนสังคมและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน แต่ก็สามารถใช้การศึกษาและความดีงามของเราในการพัฒนาตนเอง บุคคลรอบข้าง และพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นได้ค่ะ”
ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งตกเป็นของ ทีมโมดูลาร์(Modular) ของโรงเรียนเลยพิทยาคม จากผลงาน แฟนตาซี เวิลด์ น้องนก หรือ นางสาวจิราพร สมจิตร สมาชิกของทีมโมดูลาร์กล่าวถึงผลงานว่า อยากจะสะท้อนปัญหาที่ตรงข้ามกับสังคมออกมาผ่านโลกแฟนตาซี ซึ่งมีทั้งรูปแบบที่เหมือนจริงตามธรรมชาติ และรูปแบบในจินตนาการจากโมเดลกระดาษพับ
“ในโลกแฟนตาซีมีสัตว์ต่างๆ มากมาย มีทั้งในแบบของสัตว์ที่มีอยู่บนโลก และสัตว์ในเทพนิยายที่มาอาศัยอยู่ร่วมกัน อาศัยดนตรีเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ จะเห็นได้จากในโมเดล มีกบเป็นนักร้อง ยีราฟ 2 ตัวเล่นเปียโน ยีราฟอีก 2 ตัว เป็นคอรัส หมีแพนด้าเป็นคอนดักเตอร์ พวกเขากำลังเล่นดนตรีท่ามกลางธรรมชาติ ต้นไม้ ดอกไม้ที่งดงาม แสดงให้เห็นถึงการดำเนินชีวิตอย่างมีสีสันและมีชีวิตชีวา แสดงให้เห็นถึงความร่าเริง สดใส อีกทั้งยังมีนางฟ้าที่คอยปกปักรักษาให้เมืองแห่งนี้สงบสุข โลกใบนี้ก็เหมือนกับโลกของเราที่มีมนุษย์หลายเชื้อชาติ แต่เราก็อยู่ร่วมกันได้ด้วยการมีภาษา วัฒนธรรม และความสามัคคี ที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์และมิตรภาพที่ดีต่อกัน”
สำหรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สอง คือ ผลงานที่ชื่อว่าฟิลิโอ ฟิลด์ Phileo Field ของทีมฟิลิโอ (Phileo) จากโรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งตัวแทนสมาชิกกลุ่มคือ น้องยุ้ย หรือ นางสาวทิพย์ จูฑาวัฒนานนท์ กล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้คือทุ่งหญ้าแห่งอิสรภาพ เป็นโลกที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายกับธรรมชาติ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้คนอาศัยอยู่โดยทำลายธรรมชาติ ทำให้เกิดความคิดที่ว่า ถ้ามนุษย์เราสามารถอยู่กับธรรมชาติได้โดยพึ่งพากัน ไม่ทำลายกันก็คงดี
นอกจากนี้ ยังมีรางวัลชมเชยสองรางวัล ได้แก่ ผลงานสวนสัตว์ในฝันผ่านโอริงามิ ของทีมมูเกนได (mugandai) จากโรงเรียนตากพิทยาคม ที่จำลองโลกของสัตว์นานาชนิด และ ผลงานหัวใจของกระต่าย ของทีมพับไปสุดหล้า จากโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ ที่เรียกร้องให้คนในสังคมหันมาสามัคคีกัน ท่ามกลางสถานการณ์ความแตกแยกของสังคมไทยในปัจจุบัน สุดท้ายคือรางวัล popular vote โดยทีมที่คว้ารางวัลไปครองคือ ทีมอันลิมิเทด(Unlimited) จากโรงเรียนพนัสพิทยาคาร ด้วยผลงานที่ชื่อ คอนเนกเตอร์ (Connector) หรือความเชื่อมโยง ด้วยการออกแบบให้มีน้ำตกอยู่ใจกลางเมือง หมายถึงว่าธรรมชาติอยู่กับมนุษย์ และมนุษย์จะขาดธรรมชาติไม่ได้ ทั้งหมดนี้คือผลงานอันน่าประทับใจใน จินตนาการโลก...ผ่านโอริงามิ ด้วยฝีมือเยาวชนไทย ที่ไม่แน่ว่าจุดเริ่มต้นของจินตนาการเล็กๆ จากงานพับกระดาษในวันนี้ อาจเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขาสร้างสรรค์สิ่งที่ยิ่งใหญ่และงดงามในวันข้างหน้าก็เป็นได้
รายละเอียดภาพ
01 - ผลงาน เดอะลาสท์ รางวัลชนะเลิศ
02- ผลงาน แฟนตาซี เวิลด์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง
03 - ผลงานที่ชื่อว่าฟิลิโอ ฟิลด์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่สอง
04-ผลงานหัวใจของกระต่าย รางวัลชมเชย
05-ผลงานรางวัล popular vote
06 -ภาพน้องๆ ทีมคอร์เนอร์รับรางวัลชนะเลิศ
07-น้องๆ กับการพับกระดาษ
08- ดร.บัญชา กำลังสอนเด็กๆ พับกระดาษ
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net