กรุงเทพฯ--2 พ.ย.--สถาบันอาหาร
สถาบันอาหาร ระบุการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารไทยจากนี้ไป ต้องมุ่งเพิ่มสัดส่วนส่งออก “สินค้าแปรรูป” ให้เพิ่มสูงขึ้น เน้นส่งออกสินค้าปริมาณน้อย แต่มีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น เลี่ยงการแข่งขันกับประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าไทย ควบคู่การพัฒนาทักษะแรงงาน เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นเครื่องมือพัฒนาสินค้าทั้งในแง่มูลค่าเพิ่ม และความหลากหลาย เพื่อขยายช่องทางการตลาดไปสู่ผู้บริโภคมากขึ้น ชู Food Safety และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเป็นจุดแข็งทำให้ไทยอยู่เหนือคู่แข่ง
ดร.อมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยว่าในระยะ 7 – 8 ปีที่ผ่านมา การเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไทยในเชิงปริมาณไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นมากนัก เนื่องจากอุตสาหกรรมอาหารเน้นหนักการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเข้มข้น ซึ่งปัจจุบันทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศร่อยหรอลงมาก หลายอุตสาหกรรมเริ่มเกิดปัญหาจากการพึ่งพิงวัตถุดิบจากภายนอกประเทศ การเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารส่วนใหญ่จึงเป็นผลมาจากการเพิ่มปัจจัยทุนและแรงงานเข้าสู่ระบบเป็นหลัก การเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ทุนและแรงงานยังไม่มีให้เห็นเป็นรูปธรรมมากนัก ขณะที่ทิศทางการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารมีความผันผวนอยู่มาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่นำผลผลิตในภาคเกษตรกรรมมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งต้นทุนวัตถุดิบจากผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉลี่ยคิดเป็น 70-80% ของต้นทุนทั้งหมด (แตกต่างกันไปตามอุตสาหกรรม) โดยเฉพาะการผลิตสินค้าขั้นปฐมในกลุ่มเกษตรและอาหารแปรรูปขั้นต้น เนื่องจากสินค้าเหล่านี้กลายเป็นหนึ่งในระบบห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศไปแล้ว ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาจนถึงเดือนมิถุนายน 2552 ประเทศไทยมีรายได้จากการส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ในรูปเงินบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 ในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมอาหารของไทยเติบโตได้ค่อนข้างสูงอย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวได้รวมปัจจัยทางด้านราคาเข้ามาไว้ด้วย จึงไม่ได้สะท้อนให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงของอุตสาหกรรมอาหารมากนัก
“หากโฟกัสไปที่เวทีการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารโลกแล้ว ประเทศไทยจัดอยู่ในผู้เล่นที่อยู่ตรงกลาง ตามหลังประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ที่เข้มแข็งในเรื่องนวัตกรรมและ R&D ขณะที่ประเทศคู่แข่งที่ไล่หลังไทยมาติดๆ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย และเวียดนาม มีสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ คือ สินค้าเกษตรและแปรรูปอย่างง่าย ส่วนสินค้าแปรรูปยังมีมาตรฐานและความปลอดภัยเป็นรองไทย และกลายเป็นช่องว่างที่แบ่งแยกอุตสาหกรรมอาหารของไทยกับประเทศเหล่านี้ออกจากกัน การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารในระยะต่อไป จำเป็นต้องมุ่งเน้นการเพิ่มสัดส่วนส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปให้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อเลี่ยงการแข่งขันกับประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีต้นทุนแรงงานต่ำ ซึ่งแนวทางดังกล่าวคงไม่เน้นการเพิ่มรายได้
เข้าประเทศจากการส่งออกสินค้าจำนวนมาก และต้องแลกมาด้วยการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่ควรเน้นส่งออกสินค้าปริมาณน้อยแต่ให้มีรายได้เข้าประเทศมาก และกลไกในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวก็ต้องอาศัยการพัฒนาทักษะแรงงาน ยกระดับเทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อเป็นเครื่องมือพัฒนาสินค้า ทั้งในแง่มูลค่าเพิ่มและความหลากหลาย สามารถขยายช่องทางการตลาดไปสู่ผู้บริโภคมากขึ้น และสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กับไปคือ การยกระดับมาตรฐานการผลิตสินค้าให้มีความปลอดภัย (Food Safety) และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นจุดแข็งที่ทำให้ไทยอยู่เหนือคู่แข่งได้” ดร.อมร กล่าว
การส่งออกสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปมีการเปลี่ยนแปลงที่มีเสถียรภาพมากกว่ากลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปขั้นต้น เนื่องจากเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทยเพราะต้องอาศัยเทคโนโลยีในการแปรรูปรวมทั้งทักษะความชำนาญในการผลิต ซึ่งเป็นจุดเด่นที่ทำให้ไทยได้เปรียบประเทศคู่แข่งอื่นๆ อีกหลายประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ส่งผลให้สินค้าอาหารแปรรูปของไทยมีคุณภาพได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากตลดาดต่างประเทศ
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit