กรุงเทพฯ--13 ต.ค.--เอ้าท์ดอร์ คอมมูนิเคชั่น
พ.ศ.2550 ชื่อของ ‘กำนันชูชาติ มากสัมพันธ์’ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมพระเครื่องบูชาไทย ถูกบุคคลในวงการพระเครื่องพูดถึงมากที่สุด เมื่อเขาตัดสินใจประกาศปิด “พิพิธภัณฑ์พระกำนันชูชาติ” พร้อมขายสุดยอดพระเครื่องที่มีอยู่ในการครอบครองมูลค่าสูงถึง 200 ล้านบาท ให้กับเซียนพระ “เทพ กำแพง หรือ สุเทพ จิรวัฒน์สุนทร”
“กำนันชูชาติ” เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่า แรกเริ่มคิดจะเปิดพิพิธภัณฑ์สัก 10 ปี เพื่อให้เป็นสาธารณะประโยชน์แก่บุคคลทั่วไป แต่เมื่อครบ 10 ปีตามที่ตั้งใจไว้แล้วก็คิดว่าจะให้ทายาทดูแลแทน แต่ปรากฏว่าไม่มีใครสนใจชมชอบในพระเครื่องเลย ก็เลยคิดว่าควรส่งมอบศิลปะอันสูงค่าให้กับผู้ที่รักและชื่นชม เพื่อจะทำให้พระเครื่องยังดำรงอยู่ต่อไปในสังคมไทย
“ผมตั้งใจจัดทำพิพิธภัณฑ์พระเครื่องแห่งนี้ ให้เป็นศูนย์กลางถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับพระเครื่องไทยในทุกยุคสมัย ซึ่งนับวันจะทวีคูณในมูลค่าทางจิตใจ และ ความล้ำค่าในเชิงศิลปวัฒนธรรม ที่ไม่มีประเทศใดในโลกเสมอเหมือน”
ย้อนกลับไปประมาณปี พ.ศ. 2541 กำนันชูชาติ ได้ลงมือตกแต่งห้องต่างๆ ภายในบ้านพักอาศัย ย่านพุทธมณฑล แล้วอาราธนาพระบูชา กว่า 200 องค์ ตั้งแต่สมัยอินเดีย ทวาราวดี ศรีวิชัย เชียงแสน สุโขทัย อู่ทอง ขนาดตั้งแต่ 28 นิ้ว ไล่เลียงเล็กไปเพียงแค่ 1 นิ้ว อันอุดมพุทธศิลปะงดงาม พร้อมด้วยพระเครื่องชั้นยอด มากกว่า 3,000 องค์ ที่ออกเสาะแสวงหามายาวนานหลายสิบปี ทั้งพระกริ่งตั้งแต่ กริ่งปวเรศ ท่านเจ้ามา สังฆราชแพ พระชัยวัฒน์ทองคำ รวมถึงเครื่องรางชั้นนำ อย่าง ตะกรุดหลวงปู่เอี่ยม เสือหลวงพ่อปาน ฯลฯ ออกจัดแสดงในรูปของพิพิธภัณฑ์พระ เพื่อเปิดโอกาสให้สาธารณชนผู้สนใจทั่วไป ได้มีโอกาสร่วมกัน ศึกษาชื่นชม ความงดงามของพระเครื่องไทย ในยุคเริ่มต้นพิพิธภัณฑ์พระของกำนันชูชาติเป็นที่เลืองลือ ส่งผลให้บรรดาผู้ชื่นชอบ ชื่นชมพระเครื่อง พระบูชาไทย ต่างเดินทางมาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ถือเป็นการปลุกกระแสพระให้ตื่นตัวอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อพระเครื่อง พระบูชา หลายองค์ ที่จัดวางเรียงรายเป็นบุญตาประจักษ์ว่า นอกจากมากล้นคุณค่าในเชิงความสวยงามแล้ว ยังจัดว่าสุดยอดหาได้ยากยิ่งอีกด้วย
“ วงการซื้อขายพระก็เปรียบเสมือนอาชีพนักค้าพลอย พลอยของแท้ของปลอม คนทั่วไปดูไม่รู้ว่าอันไหน แต่ถ้าเป็นคนอยู่ในอาชีพจริง ๆ แค่ดูนิดเดียวก็จะรู้ แต่สิ่งที่ปัญหาทุกวันนี้ คือ โอกาสที่นักสะสมคนรุ่นใหม่จะได้มีโอกาสสัมผัสกับสุดยอดพระเครื่อง เพื่อศึกษาหาความรู้ นับวันจะหาได้ยากยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ”
หลายท่านอาจคิดว่า ผมขายพิพิธภัณฑ์ไปแล้ว คงไม่มีพระใดๆ เหลืออีก แต่ความจริงแล้วส่วนที่ขายไปเป็นพระเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ผมยังมีพระองค์ที่สวยแชมป์อีกมาก โดยเฉพาะพระชุดเบญจภาคีอีกนับร้อยองค์ ซึ่งเป็นพระที่คัดพิเศษเก็บไว้ในตู้เซฟ มิได้นำมาโชว์ในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งในการสอนครั้งนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้อบรมได้ชมของจริงด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในเวลานี้พิพิธภัณฑ์จะถูกปิดลงไปแล้ว แต่ ปณิธาน ที่ต้องการเผยแพร่องค์ความรู้ เรื่องการดูพระเครื่องยังคงมีอยู่ จึงได้มีแนวคิดที่จะเปิดหลักสูตรการดู ”พระชุดเบญจภาคี” โดยมุ่งไปยังผู้ที่เป็นนักสะสมรุ่นใหม่ ที่ต้องการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับ พระเบญจภาคีอย่างแท้จริง และกลุ่มผู้ที่มีความศรัทธา และสนใจอยากเรียนรู้ และทราบประวัติความเป็นมาของพระเบญจภาคี ทั้ง 5 องค์ ได้แก่ พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่, พระรอด พิมพ์ใหญ่, นางพญา พิมพ์เขาโค้ง, ซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ และผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่
‘กำนันชูชาติ’ กล่าวว่า รูปแบบการสอนนั้นได้แบ่งออกเป็น 5 รุ่น โดยเรียนรุ่นละ 10 คน ประมาณ 2 ชั่วโมง (วันเสาร์) ซึ่งเนื้อหาในการสอนจะเกี่ยวกับ วิธีดูตำหนิความเก่าแก่ของพระแต่ละรุ่น, พร้อมด้วยวิธีพิสูจน์ทดสอบเนื้อพระ ฯลฯ ผมต้องการถ่ายทอดให้เป็นวิทยาทานแก่อนุชนคนรุ่นหลังได้สัมผัส และเกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง ทุกวันนี้ก็ยังคงเก็บรักษาสมบัติล้ำค่า ไว้โดยไม่ได้ปล่อยเช่าพระเครื่องชั้นนำไปทั้งหมด ด้วยความเสียดายส่วนตัว ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดโอกาสให้ผู้คน ได้สัมผัสพระเครื่องล้ำค่าอย่างใกล้ชิด ชนิดที่คงหาได้ยากยิ่งในชีวิตนี้
แม้วันนี้ ... กำนันชูชาติจะไม่ได้เป็นเจ้าของพิพิธภัณฑ์พระ แต่อุดมการณ์เพื่อมอบองค์ความรู้ในเรื่องคุณค่าพระเครื่องไทยเป็นวิทยาทานแก่ผู้คนทั่วไป ยังไม่จบสิ้นตราบที่มีลมหายใจอยู่บนโลกใบนี้ ด้วยความมุ่งหมายสูงสุดเพื่อต่อยอดปรัชญาพระพุทธศาสนา และ ศิลปวัฒนธรรมไทยอันล้ำค่า สืบต่อไปในฐานะพุทธศาสนิกชนคนธรรมดา ที่ไม่ธรรมดาในสายตาวงการพระเครื่องแผ่นดินสยาม ....
ค่าอบรมการสอนวิธีดู พระชุดเบญจภาคี คอร์สละ 10, 000 บาท เรียนทุกวันเสาร์ เวลา 10.00-12.00น. (รวม 5 สัปดาห์) สำหรับท่านใดที่สนใจ ร่วมโครงการสอนดูพระเบญจภาคี โดยกำนัน ชูชาติมากสัมพันธ์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ คุณแอล 086-066-0496
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit