“บ้านน้ำเค็ม-ทุ่งหว้า” วางแผนรับมือ “ภัยพิบัติ” เตรียมความพร้อมเผชิญภัย “สึนามิ” โดยชุมชน

06 Oct 2009

กรุงเทพฯ--6 ต.ค.--อฟปร.ป้องกันภัยพิบัติ

ท่ามกลางข่าวการเกิดแผ่นดินไหวในหมู่เกาะต่างๆ ในประเทศเพื่อนบ้านที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อได้รับข่าวก็แทบจะทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยต้องอยู่กันอย่างหวาดผวา เพราะภาพของการเกิดสึนามิในปี 2547 ที่ผ่านมายังตราตรึงอยู่ในความทรงจำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “บ้านน้ำเค็ม” อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เป็นพื้นที่ที่เสียหายหนักที่สุดในช่วงเกิดสึนามิ มีผู้เสียชีวิตและสูญหายกว่า 1,500 คน ความหวาดผวาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชุมชน เพราะไม่มีใครกล้าที่จะประกอบอาชีพ จะทำอะไรก็กลัวสึนามิ ทำให้สภาพของชุมชนแย่ลงในทุกๆ ด้าน

ด้วยเหตุนี้แกนนำของชาวบ้านน้ำเค็มจึงร่วมกันหาทางออกของชุมชนร่วมกับ “มูลนิธิอันดามัน” โดยความร่วมมือกับ “มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” จัดทำ “โครงการเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติชุมชน” เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติและลดความเสียหายของคนในชุมชนให้ได้มากที่สุด โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นายประยูร จงไกรจักร คณะกรรมการอำนวยการศูนย์เตรียมความพร้อมบ้านน้ำเค็ม กล่าวว่าที่ผ่านมาคนที่อยู่ในน้ำเค็มทุกคนคิดว่าสึนามิต้องมีอีกในระยะไม่นานนี้ ทุกคนก็เลยไม่มีสมาธิ จะทำอะไรก็กลัวสึนามิ อยู่ตามบ้านก็ไม่ปลอดภัย ทุกคนก็จะคอยคาดหวังแต่ความช่วยเหลือ ไม่คิดที่จะประกอบอาชีพ และไม่ว่าจะมีข่าวเกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่ไหนทุกคนก็จะตกใจหมด แห่ไปรับลูกหลานกันที่โรงเรียนทำให้เกิดความวุ่นวายแตกตื่นขึ้นในชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ประมาณเกือบครึ่งปีหลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิ

“เลยมาวางแผนร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้เราอยู่ที่นี่ได้อย่างมีความสุข ให้พี่น้องเรามีความมั่นใจและประกอบอาชีพได้ ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าถ้าอยากจะอยู่กับความเสี่ยงนี้ให้ได้ต้องทำเรื่องแผนเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้น โดยปีที่เริ่มดำเนินการคือปี 2549 เมื่อเราเตรียมแผนทุกอย่างแล้วแต่เราก็ไม่รู้ว่ามันเกิดประโยชน์จริงหรือไม่ เส้นทางที่เราออกแบบไว้ การวิ่งของรถและคน ข้อตกลงทุกอย่างเราไม่รู้ว่ามันจะใช้ได้จริงหรือไม่เพราะว่ามันอยู่ในกระดาษ เราก็เลยทดลองทำแผนอพยพขึ้นมาในปี 2550 เพื่อจำลองสถานการณ์ ปัจจุบันได้ทำการซ้อมไป 5 ครั้งและอพยพจริง 4 ครั้ง เมื่อมีการเตือนภัยเกิดสึนามิ โดยตั้งเป้าว่าจะทำการซ้อมอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง และทุกครั้งที่ซ้อมไม่เคยคิดว่าสมบูรณ์แล้ว เพราะเราไม่สามารถที่จะเรียนรู้ทุกเรื่องได้ แต่สิ่งไหนที่เป็นปัญหาเราจะเรียนรู้และหาความรู้เพิ่มเติม ซึ่งวันนี้เราก็ยังถือว่าไม่ค่อยดีเท่าไหร่ต้องพัฒนาไปข้างหน้าให้ดีกว่านี้” แกนนำชาวบ้านน้ำเค็มระบุ

ถึงแม้ว่าชาวบ้านน้ำเค็มจะออกตัวว่าแผนการรับมือกับภัยพิบัติของตนเองว่ายังไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่จากความสำเร็จในการดำเนินงาน ทำให้บ้านน้ำเค็มได้กลายเป็นต้นแบบของชุมชนที่ลุกขึ้นมาเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับปัญหาที่เกิดจากภัยธรรมชาติด้วยตนเอง จนเป็นชุมชนต้นแบบที่ทำให้เกิดการขยายผลการดำเนินงานของไปยังชุมชนอื่นๆ ในแถบชายฝั่งทะเลอันดามันที่มีความเสี่ยงจากคลื่นยักษ์สึนามิ ชุมชนมอแกลน บ้านทุ่งหว้า ต.คักคัก อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ก็เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ในอดีตเคยได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติหลายครั้ง โดยเหตุการณ์สึนามิในปี 2547 มีผู้เสียชีวิตถึง 42 คน หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดพายุ ปี 2549 บ้านเรือนเสียหาย จำนวน 15 หลังคาเรือน ทำให้สมาชิกในชุมชนได้บทเรียนว่าภัยธรรมชาติไม่ได้มีเพียงแค่นี้อย่างแน่นอน จึงคิดว่าการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติเป็นเรื่องที่ชุมชนต้องให้ความใส่ใจ อย่างน้อยก็เป็นสิ่งที่จะลดความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นได้ในระดับหนึ่ง

นายห้อง กล้าทะเล หัวหน้าชุด อฟปร.ป้องกันภัยพิบัติในชุมชนมอแกลนบ้านทุ่งหว้า กล่าวว่าเมื่อคาดว่าจะเกิดสึนามิ จะไปรอคอยความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ ไม่ได้ เพราะจะไม่ทันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คนในชุมชนต้องดูแลกันเองก่อนเป็นอันดับแรก ซึ่งจะทำให้การเตรียมพร้อมและทำการอพยพได้รวดเร็วกว่า

“เราใช้เวลาอพยพคนทั้งหมู่บ้านที่มี 300 กว่าคน เพียง 15 นาทีก็ไปถึงยังจุดปลอดภัยที่ห่างไปจากชุมชนประมาณ 1.5 กิโลเมตร คือที่ป่าปาล์มหลังตลาดบางเนียง โดยเราจะมี อพปร. 9 คน และกลุ่มอาสาสมัครเยาวชนอีก 10 คน กระจายไปยังจุดต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำการฝึก 2 ครั้ง และซ้อมอพยพจริงไป 1 ครั้ง ซึ่งชาวบ้านทุกคนก็ให้ความร่วมมือ แต่ก็มีบางคนที่กลัวว่าของจะหาย จึงได้จัดให้มีชุดเฝ้าระวังตามบ้านเรือนของชาวบ้านเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้าน” นายห้องระบุ

นางนาง ชาญสมุทร อายุ 48 ปี ชาวมอแกลนบ้านทุ่งหว้าที่พิการเดินไม่สะดวก เล่าถึงการซ้อมการอพยพว่า “จะมีเด็กๆ และเยาวชนนำรถสามล้อมารับถึงที่บ้าน แรกๆ ก็กลัว แต่เมื่อมีการซ้อมก็มั่นใจว่าเขาจะมาช่วยเราได้ เวลาที่อพยพแต่ละครั้งไม่ต้องเก็บสมบัติอะไรไปด้วย มีกระเป๋าวิเศษใบเดียว ซึ่งข้างในจะมีบัตรประจำตัวประชาชน ยารักษาโรค โทรศัพท์”

นายบุญพาด เรืองนุ่น ผู้นำกลุ่มเยาวชน และอาสาสมัคร อพปร. เล่าถึงหน้าที่ของกลุ่มเยาวชนว่า มีหน้าที่ช่วยดูแลความปลอดภัย ในเส้นทางระหว่างการอพยพของชาวบ้านไปยังจุดปลอดภัย “หน้าที่ของกลุ่มอาสาสมัครเยาวชนจะเน้นไปที่การช่วยเหลือดูแลเด็ก คนพิการ และคนชรา ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งเมื่อได้มีการซ้อมแผนแล้วก็มีความมั่นใจมากหากเกิดสึนามิขึ้นจริง และการฝึกซ้อมของเรายังทำให้คนในชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงให้ความสนใจและมาอพยพตามเรา”

นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ กรรมการเลขานุการมูลนิธิอันดามันเปิดเผยว่า หลักสำคัญในการรับมือกับภัยพิบัติก็คือการนำคนออกจากจุดเสี่ยงไปสู่จุดที่ปลอดภัย ด้วยเหตุนี้ชุมชนจึงต้องเป็นหลัก ถ้าเราไปรอว่าต้องให้ราชการมาแก้ไขปัญหาในการอพยพ ก็เท่ากับว่าดึงทุกคนกลับเข้ามาในจุดเสี่ยง

“ชุมชนจะต้องดูแลตัวเองเมื่อเกิดภัย และนำคนออกจากจุดเสี่ยงไปสู่จุดที่ปลอดภัยได้นี่เป็นหลักที่ 1 หลักข้อที่ 2 ก็คือในช่วงที่เกิดภัยระยะต้น คนในชุมชนต้องช่วยเหลือกันเองก่อน ทั้งเรื่องของการบาดเจ็บ การอพยพ ข้าวปลาอาหาร เพราะเมื่อเกิดเหตุกว่าที่หน่วยช่วยเหลือจะมาถึงมันต้องใช้เวลา แล้วหลักข้อที่ 3 ก็คือทุกอย่างต้องถูกเตรียมความพร้อมไว้ ต้องไว้ใจซึ่งกันและกัน เพราะว่าการเคลื่อนย้ายหรือการอพยพโดยที่ไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมมันจะก่อให้เกิดปัญหา แล้วท้ายที่สุดก็คือ การซ้อมได้ช่วยชาวบ้านบางคนที่ยังจำฝังลึกเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิด เมื่อได้ซ้อมมันก็จะคลายเอาปมที่ตัวเองเก็บไว้ขึ้นมาและช่วยแก้ปัญหาทางด้านจิตวิทยาของเขาด้วย ยิ่งตอนหลังที่เกิดภัยธรรมชาติเยอะๆ เราก็มานั่งคุยกันว่าภัยธรรมชาติเป็นภัยประจำถิ่น แต่ตัวคนเคลื่อนย้ายไปที่ต่างๆ เพราะฉะนั้นเราจะเรียนรู้เฉพาะภัยประจำถิ่นของเราไม่ได้ เราต้องเรียนรู้ภัยทั่วโลก เพราะถ้าหากเราไม่ได้เรียนรู้ นอกจากจะไม่สามารถช่วยตัวเองได้แล้ว เราจะยังเป็นอุปสรรคให้กับคนที่เขากำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาอีกด้วย” กรรมการเลขานุการมูลนิธิอันดามันกล่าวสรุป

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net