ธอมัสไอเดียชี้นักการตลาดไทยพร้อมดึงดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งทดแทนสื่อหลัก ชูเทคโนโลยีสร้างจุดเด่น ตอบโจทย์ยอดขายและแบรนดิ้ง

21 Oct 2009

กรุงเทพฯ--21 ต.ค.--ธอมัสไอเดีย

ธอมัสไอเดีย อินเตอร์แอคทีฟเอเยนซี่ชั้นนำของไทย เผยตอนนี้การพัฒนาด้านดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งไทยพร้อมก้าวสู่ยุคนิวมีเดียเต็มรูปแบบ และมีศักยภาพเทียบเท่าตลาดสากลด้วยมาตรฐานและแผนการตลาดที่เข้มแข็ง ไม่ได้จำกัดแต่ในวงการไอทีอย่างเดียวแล้ว โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภค ไลฟ์สไตล์ และที่อยู่อาศัย เริ่มหันมาใช้กลยุทธ์ออนไลน์มากขึ้น โดยนักการตลาดไทยที่ปรับตัวตอบโจทย์สนองผู้บริโภคได้ทันกระแสโลกยุคใหม่ พิสูจน์แล้วว่าคุ้มค่ามากกว่าสื่อหลัก เพราะตอบโจทย์การตลาด ช่วยเร่งยอดขาย วัดผลได้รวดเร็วและสามารถประยุกต์ข้อมูลไปใช้วางกลยุทธ์ที่หลากหลายมากขึ้นด้วย

นางสาวอุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด เปิดเผยว่า “สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันประกอบกับผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนตามเทคโนโลยีมากขึ้น และมีแนวโน้มหันมาบริโภคสื่อออนไลน์ทดแทนสื่อกระแสหลัก และยังกลายเป็นกระแสไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ด้วย ทำให้เจ้าของสินค้าและนักการตลาดต้องวางแผนการสื่อสารในงบที่จำกัด ต้องย้ายงบโฆษณาจากสื่อหลักมายังสื่อทางเลือก โดยเฉพาะสื่อดิจิตอลมากขึ้น จะเห็นได้จากการที่สำนักข่าวบีบีซีในประเทศอังกฤษได้ออกข่าวว่าในช่วงครึ่งปีแรกรายได้จากสื่อออนไลน์ได้แซงหน้าสื่อทีวีไปแล้วด้วยเม็ดเงิน 1.75 พันล้านปอนด์ เมื่อเทียบกับสื่อทีวีที่ 1.63 พันล้านปอนด์ และในประเทศไทยเอง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่าสื่อดิจิตอลซึ่งเป็นสื่อที่เกิดขึ้นตามพัฒนาการของเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มในการเติบโตอย่างน่าจับตามอง แสดงให้เห็นว่านักการตลาดรุ่นใหม่มองเห็นโอกาสและความสำคัญของดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งมีสัดส่วนทวีคูณขึ้นด้วย ยิ่งมีปรากฏการณ์ของชุมชนออนไลน์ที่เป็นกระแสในยุคปัจจุบันทำให้นักการตลาดไทยหลายคนมองเห็นศักยภาพของเทคโนโลยีอินเตอร์แอคทีฟมากขึ้นในหลายๆ ด้าน อาทิ การสร้างชุมชนออนไลน์ การสร้างตลาดออนไลน์ซื้อ-ขาย การสื่อสารเพื่อส่งเสริมแคมเปญการตลาด การสร้างกลยุทธ์วางระบบออนไลน์เพื่อเก็บข้อมูลลูกค้าที่ชัดเจนและแม่นยำ เป็นต้น”

ในมุมมองของอินเตอร์แอคทีฟเอเยนซี่ชั้นนำของไทยอย่างธอมัสไอเดีย มีข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับนักการตลาดที่กำลังมองหาดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างยอดขายว่า จุดเด่นที่ช่องทางอินเตอร์แอคทีฟมีเดียนี้แตกต่างจากสื่อหลักในแง่ของศักยภาพการขายโดยคร่าวๆ คือ

1. การสร้างแบรนด์เอ็นเกจเม้นท์ Brand Engagement ให้เกิดขึ้นได้ บางครั้งผู้บริโภคใช้เวลาติดตามข้อมูลนานกว่า TVC เราเพิ่มเนื้อหาได้มากกว่าและอายุของเว็บไซต์ก็ยาวนานกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณที่จ่ายไป

2. การสร้างแรงจูงใจต่อผู้บริโภค Purchase Intent เนื่องจากพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภคยุคใหม่เข้าใจระบบโปรโมชั่นและโฆษณามากขึ้น การแสวงหาข้อมูลออนไลน์ช่วยกระตุ้นให้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้เร็วขึ้น อีกทั้งเป็นช่องทางที่สื่อถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายที่ต้องการได้จริง

3. การสร้างฐานลูกค้าสัมพันธ์ CRM เพื่อให้การสร้างช่องทางสื่อสารระหว่างลูกค้าและแบรนด์มีประสิทธิภาพสูงสุด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการกำหนดกลยุทธ์ในการออกแบบระบบฐานข้อมูล เทคโนโลยีสนับสนุน และทีมงานที่รองรับการดูแลและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมาก

4. การสร้างกระแสชุมชนออนไลน์ Social Media ให้กลายเป็นเครื่องมือการตลาดและประชาสัมพันธ์ Word of mouth ที่ทรงพลัง เช่น Facebook, Hi5, Twitter และ Blog ต่างๆ โดยมีข้อควรระวัง คือ กลยุทธ์การสื่อสารที่ดีและระบบบริหารจัดการสมาชิกที่เป็นกลุ่มคนจริงๆ ในโลกไซเบอร์ เพราะหากมีข้อผิดพลาดก็เป็นผลร้ายต่อสินค้าได้ง่าย

นอกจากนี้ นักการตลาดจะต้องมีทีมที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีอินเตอร์แอคทีฟและการวางกลยุทธ์การตลาดควบคู่กัน “ยิ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วเท่าไหร่ พฤติกรรมผู้บริโภคก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้น จากเดิมที่สื่อหลักเป็นตัวกำหนดเทรนด์ กลายเป็นต้องไล่ตามกระแสออนไลน์แล้ว นักการตลาดจึงต้องก้าวให้ทันด้วยการวางกลยุทธ์ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งที่ประสานทั้งการตลาดและเทคโนโลยีรวมกันเป็นหนึ่งเดียว” นางสาวอุไรพรกล่าว

หนึ่งในกลุ่มผู้ประสบความสำเร็จในการใช้ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งเพื่อสร้างสรรค์สังคมระดับครอบครัวอย่างรักลูกกรุ๊ป ทำให้ได้รับรางวัลระดับโลกด้านความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบเพื่อสื่อสารสำหรับครอบครัวถึง 4 รางวัลด้วยกัน นางสาวชนิดา อินทรวิสูตร กรรมการผู้จัดการ รักลูกออนไลน์ กล่าวถึงความสำเร็จของ momypedia.com ซึ่งเป็นเว็บไซต์สำหรับครอบครัวของกลุ่มรักลูก ว่า “เป็นรูปแบบการให้บริการและสร้างเครือข่ายออนไลน์ที่เข้มแข็งของรักลูก ซึ่งได้เปลี่ยนรูปแบบของเว็บไซต์จากเดิมที่เน้นการหาข้อมูล เป็นเว็บไซต์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้ หรือ user ได้มีโอกาสร่วมสร้างและแลกเปลี่ยนข้อมูลในรูปแบบของ เว็บบอร์ด บล้อก หรือ photo gallery และการให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนๆ ในเว็บด้วยกัน นับว่าเป็นการช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของความเป็นเว็บไซต์ในฐานะสื่อใหม่และพัฒนาให้เกิดชุมชนออนไลน์ที่เข้มแข้งสร้างคุณภาพให้เกิดขึ้นในสังคม และจากการเติบโตของสื่อออนไลน์ในรูปแบบที่หลากหลายและจำนวนผู้ใช้ที่มากขึ้น รักลูกออนไลน์จึงเตรียมพัฒนาการให้บริการเพิ่มเติม ได้แก่ Live Chat with the Expert, TV Online และ Radio Online ที่สมาชิกสามารถเข้ามาจัดรายการด้วยตัวเองได้ รวมทั้งก้าวสู่ยุคแห่งการเรียนรู้เพื่อครอบครัวยุคใหม่ที่เข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากเป็นการเพิ่มช่องทางการแลกเปลี่ยน และส่งผ่านความรู้ไปยัง User แล้ว ยังเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นผู้สนับสนุนให้สามารถสื่อสาร และทำกิจกรรมการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลายยิ่งขึ้นด้วย”

ในขณะที่แวดวงตลาดบ้านจัดสรรที่อยู่อาศัยระดับกลางถึงบนอย่าง บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ที่ใช้กลยุทธ์ต่างกัน โดยเน้นที่ฟังก์ชั่นการใช้งานดูข้อมูลและแสดงผลแบบบริการออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมงที่แสนสะดวกสำหรับกลุ่มเป้าหมาย นายชายนิด โง้วศิริมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) หรือ PF เปิดเผยว่า “ภาวะตลาดที่อยู่อาศัยในปีที่ผ่านมาค่อนข้างผันผวนและผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางการเงินทั่วโลก ดังนั้น การทำตลาดในประเทศกับผู้ซื้อบ้านจึงต้องทำอย่างระมัดระวังและใช้งบประมาณการโฆษณาประชาสัมพันธ์ตรงเป้าหมายมากกว่าเดิมบริษัทฯ ได้พัฒนาช่องทางสื่อสารในรูปแบบอินเตอร์แอคทีฟมากเป็นพิเศษ การเลือกสื่อออนไลน์ที่เข้าถึงง่ายกับลูกค้าเฉพาะกลุ่มเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เข้าใจรูปแบบชีวิตและความต้องการได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้เราได้โจทย์ที่ชัดเจน รวมทั้งการพัฒนารูปแบบและกลยุทธ์การตลาดสู่โครงการคอนโดมิเนียมและคอมเพล็กซ์มอลล์ เพื่อรองรับลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยเปลี่ยนไป

สิ่งที่เราให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนี้ เพราะความสามารถในการสื่อสารทั้ง 2 ช่องทาง คือ เราสามารถเก็บสถิติที่ต้องการได้เมื่อมีคนเข้ามาดูข้อมูลจากระบบสารสนเทศ และนำไปต่อยอดกับระบบพัฒนาแอปพลิชั่น

แบบครบวงจรกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งนี้มีส่วนสร้างยอดขายได้ตามเป้าหมาย และยังได้รางวัลจากเวทีระดับโลกมาแล้วมากมายในฐานะที่เป็นการพัฒนาฟังก์ชั่นที่ตอบสนองการตลาดได้อย่างดี ที่ผ่านมาบริษัทได้เปิดตัวโครงการใหม่ 4 โครงการมูลค่ารวม 7,326 ล้านบาท โดยปีนี้ตั้งเป้ายอดขาย 8,000 ล้านบาทเท่ากับปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้”

ส่วนแนวโน้มการใช้ดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งเพื่อส่งเสริมแคมเปญระยะสั้นนั้น ผู้บริหารจากบริษัท ไบเออร์สด๊อร์ฟ (ประเทศไทย) จำกัด ให้คำแนะนำว่า “หัวใจหลักของการสื่อสารวิธีนี้ คือ ต้องมีความเชี่ยวชาญการทำโปรโมชั่นออนไลน์และสร้างสรรค์กลยุทธ์ใหม่ๆ ผ่านช่องทางสื่ออินเตอร์แอคทีฟมาร์เก็ตติ้งที่ทันสมัยและเข้าใจผู้บริโภค โดยโซลูชั่นต่างๆ จะต้องเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรได้ด้วย ตัวอย่างที่ทางบริษัทฯ เลือกทำแคมเปญการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ยูเซอรินที่ผ่านมา ถือเป็นการสร้างฐานลูกค้าที่ลงทะเบียนออนไลน์ได้รู้จักกลุ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และเพิ่มช่องทางเชิญชวนผู้บริโภคกลุ่มใหม่เข้ามาสัมผัสประสบการณ์เป็นผู้เชี่ยวชาญผิวสวยได้ด้วยวิธีง่ายๆ นับว่าได้การตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเป็นอย่างดี และย้ำความเป็นเจ้าตลาดเวชสำอางอันดับหนึ่งในประเทศไทยด้วยยอดสัดส่วนการตลาดกว่า 70% ปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดของไบเออร์สด๊อรฟ และได้ขยายกำลังการผลิตของศูนย์การผลิต ณ นิคมอุตสาหกรรมบางพลี เป็น 31,000 ตัน/ปี เพื่อรองรับการเติบโตของยอดขายที่เพิ่มขึ้นด้วยเงินลงทุนกว่า 480 ล้านบาท และเรามุ่งหวังที่จะยกระดับตำแหน่งทางการตลาดให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางธุรกิจในระดับโลกของเรา”

“กลไกของการทำดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งหรืออินเตอร์แอคทีฟมาร์เก็ตติ้งได้รับความสนใจมากเพราะเป็นช่องทางสื่อสารที่สะดวกและคุ้มค่า และสร้างผลตอบแทนทางธุรกิจได้ ซึ่งมีตัวอย่างของบริษัทไทยหลายแห่งที่ได้รับรางวัลระดับโลกในส่วนของการสร้างสรรค์ออกแบบและพัฒนาระบบเว็บไซต์เชิงดิจิตอลมาร์เก็ตติ้ง ดังนั้น องค์กรทั้งหลายควรให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ออนไลน์ และศึกษาระบบแอปพลิเคชั่นอินเตอร์แอคทีฟที่มีอยู่ว่ารองรับการนำข้อมูลไปประยุกต์ใช้งานได้มากกว่าการเป็นเว็บไซต์แสดงข้อมูลองค์กรดังที่เคยเป็นมาในอดีตหรือไม่ เพื่อทันต่อการแข่งขันในการตลาดยุคใหม่ได้ทันท่วงที” นางสาวอุไรพรกล่าวสรุป

สนใจข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ

ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท ธอมัสไอเดีย จำกัด

โทร. 0-2714-7255

[email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net