กรุงเทพฯ--22 ต.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
อาจารย์ ม.อ.คว้ารางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ปี 52 ของ สวทช. หลังผลงานการพัฒนาเทคโนโลยีการขึ้นรูปโลหะด้วยกระบวนการหล่อโลหะกึ่งของแข็ง ให้มีน้ำหนักเบาขึ้น ขณะที่ต้นทุนต่ำกว่ามาก ระบุช่วยเสริมสร้างอุตสาหกรรมหล่อโลหะไทย แถมยังสามารถนำไปประยุกต์ผลิตเกราะกันกระสุนและเกราะกันระเบิดเพื่อใช้ในงานราชการทหารได้
รศ.ดร.บุญสม ศิริบำรุงสุข อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. และมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีมติมอบรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี 2552 ให้กับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา วรรณสินธุ์ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. เจ้าของผลงานพัฒนาเทคโนโลยีการขึ้นรูปโลหะด้วยกระบวนการหล่อกึ่งของแข็ง ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนที่มีน้ำหนักเบา รวมทั้งสามารถใช้ผลิตเกราะกันกระสุนและเกราะกันระเบิด ในราคาถูกกว่าต่างประเทศ นับเป็นการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ และผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถให้แก่วงการอุตสาหกรรมด้วย
ทั้งนี้ รางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่เชิดชูเกียรตินักเทคโนโลยีของไทย ทั้งรุ่นผู้ใหญ่และรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 35 ปี ที่มีผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในเชิงอุตสาหกรรมและสังคม ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่มุ่งมั่นกับการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ที่พร้อมจะผลิตนักวิจัยคุณภาพ
ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา เจ้าของรางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ประจำปี 2552 เปิดเผยว่า เทคโนโลยีการขึ้นรูปโลหะด้วยกระบวนการหล่อโลหะกึ่งของแข็ง ได้มีการพัฒนาเพื่อสนองความต้องการของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอลูมิเนียมที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของอุตสาหกรรมประกอบยานยนต์ และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยในการผลิตชิ้นส่วนอลูมิเนียมส่วนใหญ่ใช้กระบวนการหล่อฉีด (Die Casting) ซึ่งผลิตได้จำนวนมาก แต่มีข้อเสียคือ ชิ้นงานมีโพรงอากาศ ทำให้มีคุณสมบัติเชิงกลต่ำและไม่สามารถเชื่อมหรือเคลือบผิวได้ นอกจากนั้น แม่พิมพ์ยังมีอายุการใช้งานสั้นจึงทำให้มีต้นทุนสูง ทำให้ต้องแก้ปัญหาโดยนำเทคโนโลยีการหล่อโลหะกึ่งของแข็งจากต่างประเทศมาใช้ ซึ่งมีกระบวนการที่ซับซ้อน ควบคุมยาก และเครื่องจักรมีราคาประมาณ 10-20 ล้านบาท ซึ่งสูงเกินกว่าที่โรงงานหล่อในประเทศที่มีขนาดเล็กและขนาดกลางจะนำมาใช้ได้
สำหรับกระบวนการใหม่ที่ได้คิดค้นขึ้นในการผลิตโลหะกึ่งของแข็งนี้ มีชื่อเรียกว่า “กระบวนการ Gas Indused Semi-Solid” หรือ “GISS” ซึ่งใช้การปล่อยฟองแก๊สที่ละเอียดมากผ่านแท่งกราไฟต์พรุนในน้ำโลหะ ขณะที่มีการแข็งตัวบางส่วน ซึ่งทำให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคุมตัวแปรต่างๆ ได้ง่าย และผลิตโลหะกึ่งของแข็งที่มีคุณภาพสูงได้อย่างดี โดยได้มีการพัฒนาเครื่องต้นแบบของกรรมวิธี GISS ซึ่งสามารถผลิตโลหะกึ่งของแข็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีราคาถูกกว่าเครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศหลายสิบเท่า
“ผลงานการคิดค้นนี้ จะช่วยให้อุตสาหกรรมหล่อโลหะไทยมีศักยภาพในการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ โดยอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์ ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตโลหะสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนการเกษตร ชิ้นส่วนโครงสร้างในการก่อสร้างและตกแต่ง และชิ้นส่วนในงานที่ต้องการคุณสมบัติเชิงกลสูง น้ำหนักเบา และ ต้นทุนต่ำ นอกจากนั้น ยังประยุกต์ใช้ในการผลิตชิ้นส่วนที่ใช้กับงานทหารได้ เช่น เกราะกันกระสุนและเกราะกันระเบิด ชิ้นส่วนอาวุธและเครื่องมือที่ต้องการน้ำหนักเบา” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจษฎากล่าว
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดยบริษัท มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ในนามมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ : พิภพ ฆ้องวง (ท๊อป)
โทร. 0-2248-7967-8 ต่อ 118 หรือ 08-1929-8864
e-mail address : [email protected]
เว็บไซต์ : www.mtmultimedia.com
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit