กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--สถาบันอาหาร
สถาบันอาหาร แนะผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกุ้งไทยทั้งระบบปรับตัว หลังเผชิญจุดเปลี่ยน หมดยุครายได้เฟื่องฟู เหตุราคากุ้งตก ต้นทุนการเลี้ยงสูง เร่งผลักดันภาครัฐหนุนข้อมูลเชิงวิชาการให้กุ้งเลี้ยงง่าย โตเร็ว ต้านทานโรค ลดใช้สารเคมี หวังเพิ่มศักยภาพการแข่งขันจากการลดมลพิษและรักษาสิ่งแวดล้อมของฟาร์ม ส่งเสริมการทำ Contract Farming ให้มากขึ้น เน้นแปรรูปกุ้งสดพร้อมนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มลดปัญหากุ้งล้นตลาด สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อด้วยการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย คาดช่วยลดปัญหาการกีดกันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทั้งเป็นการแก้ปัญหาราคากุ้งตกต่ำอย่างยั่งยืน
ดร.อมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยว่า “แม้ตัวเลขการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา (ม.ค. – มิ.ย. 52) เติบโตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ในอัตราร้อยละ 9.2 และเป็นอัตราเติบโตสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2549 โดยมีปริมาณส่งออกรวม 162,868 ตัน เพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 9.12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา และปัจจุบันประเทศไทยผลิตกุ้งได้ประมาณ 4-5 แสนตันต่อปี โดยมีผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 70-80 หรือ 3-4 แสนตัน (น้ำหนักกุ้งสด) ถูกใช้เพื่อส่งออก ซึ่งสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้เฉลี่ย 80,000 ล้านบาทต่อปี แต่ยังมีเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งได้รับความเดือดร้อนจากราคากุ้งตกต่ำ”
ปัจจุบันราคากุ้งขาวขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัมมีราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท ส่วนกุ้งกุลาดำมีราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 110 บาท ซึ่งลดลงมากเมื่อเทียบกับที่เคยขายได้ 120 บาทต่อกิโลกรัม และ 130 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วง 5-6 ปีก่อน ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับราคากุ้งในตลาดโลก
แม้ล่าสุดในปี 2551 ไทยมีส่วนแบ่งตลาดกุ้งโลกประมาณร้อยละ 18.9 โดยมีปริมาณการส่งออก 358,928 ตัน มีมูลค่าส่งออกรวม 84,196 ล้านบาท หรือร้อยละ 11 ของมูลค่าส่งออกสินค้าอาหารทั้งหมดของไทย โดยตลาดส่งออกที่สำคัญได้แก่ สหรัฐอเมริกา (50.4%) ญี่ปุ่น (17.6%) สหภาพยุโรป (11.3%) เป็นต้น ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกกุ้งรวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก แต่จากสถานการณ์ผลผลิตกุ้งในตลาดโลกที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ประกอบกับประเทศคู่แข่งต่างหันมาใช้กลยุทธ์การลดราคาทำให้ผู้ส่งออกต้องกดราคารับซื้อวัตถุดิบกุ้งสดจากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งอาจส่งผลให้เกษตรกรลดการเพาะเลี้ยงลง เนื่องจากต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และจะกลายเป็นอุปสรรคต่อ การเติบโตของอุตสาหกรรมกุ้งไทยได้ในระยะยาว เพราะผลผลิตมีไม่เพียงพอรองรับความต้องการของโรงงานแปรรูป อาจต้องนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศมาทดแทน
“นอกจากนี้ อุตสาหกรรมกุ้งไทยต้องประสบปัญหากับประเทศคู่แข่ง ได้แก่ เวียดนาม, จีน, อินโดนีเซีย และอินเดีย ที่ส่งออกกุ้งสู่ตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น ทำให้กุ้งไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ ปัจจุบันมีส่วนแบ่งในตลาดโลกสูงถึงร้อยละ 12.1 เป็นอันดับสองรองจากประเทศไทย อย่างไรก็ตามนอกจากปัญหาเรื่องการแข่งขันด้านการลดราคาแล้วเกษตรกรไทยยังต้องเผชิญกับต้นทุนการผลิตของไทยที่สูงกว่าคู่แข่ง ขณะเดียวกันประเทศคู่ค้าได้ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) กุ้งไทยในสหภาพยุโรปในปี 2542 ทำให้ไทยสูญเสียตลาดกุ้งอย่างสิ้นเชิงให้กับคู่แข่งในประเทศแถบอเมริกาใต้ และในปี 2547 สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(Anti-dumping) รวมถึงมาตรการอื่นๆส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนผลิตสูงขึ้น” ดร.อมร กล่าว
สิ่งสำคัญในการแก้ไขราคากุ้งที่ตกต่ำซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทยในระยะยาวก็คือ การปรับตัวของผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมกุ้งทั้งระบบ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันโดยใช้มาตรการต่างๆ เข้ามาดำเนินการให้เกิดรูปธรรมโดยเร็ว ได้แก่ ภาครัฐควรสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการแก่เกษตรผู้เลี้ยงกุ้ง โดยเฉพาะการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์กุ้งให้เลี้ยงง่าย เติบโตเร็ว และมีความต้านทานโรค, ควรส่งเสริมการทำ Contact Farming ระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการให้มากขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการว่าจะมีวัตถุดิบในการแปรรูป, ผู้ประกอบการแปรรูป ควรแปรรูปกุ้งสดให้เกิดสินค้ามูลค่าเพิ่มเพื่อลดปัญหากุ้งล้นตลาดในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก และเกษตรกรผู้ผลิต ผู้ส่งออก รวมทั้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมกุ้งไทยควรสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อด้วยกันการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัย ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการกีดกันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมที่มีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคต
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit