ป่วย-ลา-อุบัติเหตุ ลดลงเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ ด้วยระบบพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงาน MS-QWL ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและ สสส.

28 Oct 2009

กรุงเทพฯ--28 ต.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ปิดโครงการขยายผลและขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานในองค์กรระยะที่ 4 พร้อมความสำเร็จของสถานประกอบการทั่วประเทศ

โดยการปิดโครงการฯ ครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายสมพงศ์ นครศรี รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นประธาน พร้อมด้วย นายวิสุทธิ์ จิราธิยุต ผู้อำนวยการโครงการขยายผลและขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานในองค์กร และรองประธานกรรมการบริหารสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้บริหารจากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ จากทั่วประเทศเข้ารับประกาศนียบัตรและโล่ประกาศเกียรติคุณ

นายสมพงศ์ นครศรี รองประธานอาวุโสสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การดำเนินโครงการขยายผลและขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานในองค์กร ระยะที่ 4 ที่เป็นความร่วมมือของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2551 ประกอบด้วยกิจกรรม โรดโชว์ตามสถานประกอบการทั่วประเทศ อบรมเชิงปฏิบัติการ การให้คำปรึกษา การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ และการตรวจประเมินระบบทั้งภายในและภายนอก ซึ่งทุกกิจกรรมได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสถานประกอบการทั่วประเทศ เพราะ “คนทำงาน” ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญและมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของทุกๆ องค์กร โดยคุณภาพชีวิตที่ดีของ “คนทำงาน” จะต้องประกอบไปด้วย 4 มิติใหญ่ คือ สุขภาวะทางกาย สุขภาวะทางอารมณ์ สุขภาวะทางสังคม และสุขภาวะทางจิตวิญญาณ เพราะเมื่อคนทำงานมีความสุข ก็จะส่งผลถึงประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งจะสะท้อนถึงประสิทธิผลของงานด้วย

ทั้งนี้ นายวิสุทธิ์ จิราธิยุต ผู้อำนวยการโครงการขยายผลและขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตการทำงานในองค์กร และรองประธานกรรมการบริหารสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวเสริมว่า หัวใจสำคัญของโครงการนี้อยู่ที่มาตรฐานระบบการบริหารจัดการคุณภาพชีวิตการทำงาน หรือที่เรียกกันสั้นๆว่า MS-QWL ที่ได้รับการพัฒนาจากผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายๆสาขา เช่น นักบริหารจัดการ นักจิตวิทยา นายแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย และอาชีวอนามัย มาร่วมกันพัฒนาระบบมาตรฐานนี้ขึ้น ซึ่งโครงการระยะที่ 4 เราได้รับการตอบรับจากสถานประกอบการกว่า 70 แห่ง ทั้งนี้ จากการเก็บข้อมูลจากสถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ตั้งแต่ระยะที่ 2-4 (ปี 2549-2552) จำนวนกว่า 35 โรงงาน ได้อัตราส่วนของการลาป่วยที่ลดลงกว่า 17.13% อัตราส่วนการลางานลดลงกว่า 42.89% และอัตราส่วนของการเกิดอุบัติเหตุลดลงกว่า 0.3 % จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าระบบ MS-QWL นี้ช่วยให้การลงทุนทางด้านบุคลากรขององค์กรต่างๆ ลดลงและการทำงาน ผลิตผลงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น

สสส. ในฐานะหน่วยงานสำคัญที่สนับสนุนให้คนไทยมีสุขภาวะที่ยั่งยืนรู้สึกภาคภูมิใจกับความสำเร็จของโครงการทั้ง 4 ระยะที่ โดยเฉพาะอัตราส่วนที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดของการลาป่วย การขาดงาน และการเกิดอุบัติเหตุของสถานประกอบการต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ สสส. ยังคงสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ และนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้คุณภาพชีวิตของ “คนทำงาน” ในองค์กรต่างๆ ได้รับการใส่ใจและพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อไป นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ตัวแทนผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในตอนท้าย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด

กณิศอันน์ มโนพิโมกษ์ 02-631-2290-5 ต่อ 318 E-mail: [email protected]

กฤษฏ์ อำนวยพล 02-631-2290-5 ต่อ 304 E-mail: [email protected]