กรุงเทพฯ--8 ม.ค.--สวทช.
เพราะวิทยาศาสตร์สนุกและใกล้ตัวกว่าที่คิด นั่นคือแนวคิดที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สวทช.) ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรในอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จัดงาน “ตะลุยวันเด็ก บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร” อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี ระหว่างวันที่ 7-8 มกราคมที่ผ่านมา
รองศาสตราจารย์ ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สวทช.) กล่าวว่า การจัดงาน “ตะลุยวันเด็ก บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร” เป็นกิจกรรมเฉลิมฉลองวันเด็กแห่งชาติ ซึ่ง สวทช. ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรจัดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ส่งเสริมความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เด็กและเยาวชน ผ่านรูปแบบกิจกรรมที่เน้นการมีส่วนร่วมและมีความสนุกสนาน อีกทั้งบ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร ก็ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นสถานที่บ่มเพาะเยาวชนผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ได้รับการพัฒนาตามความสนใจและความถนัด เพื่อเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่า และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระยะยาวของประเทศ ที่สำคัญการจัดกิจกรรมครั้งนี้ยังเป็นความร่วมมือของหลายหน่วยงานในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งนับเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ อันจะเป็นแรงผลักดันให้เกิดกิจกรรมวิชาการ และกิจกรรมเพื่อชุมชนต่อไปในอนาคต
สำหรับบรรยากาศภายในงานได้มีการจำลองห้องทดลองต่างๆ และขนกิจกรรมทางวิทยาศาสตร์มาให้เด็กๆได้ลงมือปฏิบัติกว่า 20 ฐาน อาทิ ฐานไขปริศนาอำพรางด้วยแว่นตานาโน ประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุเหลือใช้ สร้างโรงเรือนจิ๋วด้วยนวัตกรรมพลาสติกควบคุมความร้อน สนุกพับโอริงามิเท่ๆ ด้วยคณิตศาสตร์ การทดลองวิทยาศาสตร์กับสีสัน อีกทั้งยังมีกิจกรรมลดโลกร้อน ด้วยการให้เด็กๆ นำของเหลือใช้มาประดิษฐ์เป็นของเล่นชิ้นใหม่ พร้อมทั้งสนุกกับการสร้างสรรค์ “ว่าว” ของเล่นโบราณ ก่อนจะมาพบปะพูดคุยกับพี่ๆ เยาวชนคนเก่งจากโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กๆ และเยาวชน ที่ได้นำผลงานสิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมมาจัดแสดง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆเห็นว่า งานวิจัยนั้นไม่ยากอย่างที่คิด
“เมื่อก่อนวันเด็กก็จะไปเที่ยวสวนสนุก ดรีมเวิลด์ แต่พอวันนี้ได้มาร่วมกิจกรรม ก็รู้สึกสนุก และชอบมากที่ได้ทำการทดลองแปลกๆที่ไม่เคยทำมาก่อน” “น้องชมพู่” หรือ ด.ญ.พุธิตา แก้วสุวรรณ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนประถมศึกษาธรรมศาสตร์ บอกเล่าความรู้สึกแรกภายหลังการร่วมทำกิจกรรมวิทยาศาสตร์และว่า ฐานกิจกรรมที่ชอบคือ อะไรเอ่ย นำไฟได้ พี่ๆ นักวิทยาศาสตร์จะต่อวงจรไฟฟ้าในตัวการ์ตูน และจะมีลวดสายไฟยื่นออกมาเป็นแขนของตุ๊กตา หากเราเอาลวดสายไฟทั้ง 2 ข้างไปแตะวัสดุชิ้นใด แล้วมีไฟสว่างติดขึ้น ก็แสดงว่าวัตถุชิ้นนั้นเป็นตัวนำไฟฟ้าได้ ซึ่งจากการทดลองวัตถุที่นำไฟฟ้าได้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นโลหะ เช่น ช้อน ซ้อม ที่ติดผม ต่างหู แต่ถ้าเรานำลวดไฟฟ้าไปแตะแล้วไฟไม่สว่างก็บอกได้ว่าไม่นำไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นพลาสติก โดยตุ๊กตาตัวนี้เรายังสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ทดสอบกับถ่านไฟฉายเก่าๆ ที่บ้านได้ด้วยว่ายังสามารถใช้ได้หรือไม่
ด้าน “น้องบิ๊ง” หรือ ด.ช.ปรัชญ์ เศวตรัตนเสถียร นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสาธิตพิบูลย์บำเพ็ญ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า วันนี้สนุกมาก เพราะมีฐานกิจกรรมการทดลองให้ร่วมสนุกมากมาย แต่ฐานที่ชอบคือ สนุกคิด วิทย์วัสดุ เพราะนอกจากจะได้โมเดลโรงเรือนจำลองกลับบ้านแล้ว ก็ยังทำให้ได้ความรู้เรื่องฟิล์มโพลีเทคพลาสติก ซึ่งเป็นฟิล์มชนิดใหม่ที่นักวิจัยไทยพัฒนาขึ้น
“ก่อนหน้านี้รู้จักแค่พลาสติกที่ทำมาใช้ทำโรงเรือนปลูกฝัก แต่พี่ๆ นักวิทยาศาสตร์บอกว่าด้วยภาวะโลกร้อน ทำให้อุณหภูมิของโรงเรือนยิ่งร้อนมากขึ้น ทำให้พืชผักเสียหาย จึงได้มีการพัฒนาฟิล์มชนิดใหม่ที่จะช่วยกรองแสง ลดอุณหภูมิในโรงเรือนได้ 3 องศาเซลเซียส และยังสามารถป้องกันรังสีที่เป็นอันตรายได้อีกด้วย เป็นความรู้ใหม่สำหรับผมครับ”
ขณะที่ “น้องแจน” หรือ ด.ญ.เมทินี สิงห์สู่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 จากโรงเรียนทวิวิชช์ กล่าวด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มว่า อยากให้มีกิจกรรมอย่างนี้ในห้องเรียนทุกวัน ถึงบางกิจกรรมจะยังไม่ค่อยเข้าใจแต่ก็สนุกที่ได้ลองทำด้วยตัวเอง
“หนูชอบฐาน ทอร์นาโดในขวด ตอนแรกพอเราคว่ำขวด ก็จะเห็นเป็นฟองอากาศขึ้นมานิดหน่อย แต่พอพี่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าให้เขย่าขวดเป็นวงกลม น้ำก็หมุนติ้วเหมือนพายุทอร์นาโดในรูปที่โชว์ไว้เลยค่ะ สวยดีค่ะ เห็นแล้วชอบมาก ตื่นเต้นดีค่ะ” ทั้งหมดนี้เป็นเพียงบางส่วนของกิจกรรมสนุกๆ ที่มีส่วนช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยหันมาสนใจวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสังคม สวทช.
โทร 02-564-7000 ต่อ 1489
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit