ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 2 “นพ.สุภกร บัวสาย” กับภารกิจขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศไทย

04 Jan 2010

กรุงเทพฯ--4 ม.ค.--ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย

นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หนึ่งในเครือข่ายสถาบันทางปัญญา ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ศูนย์ข้อมูลข่าวสารปฏิรูปประเทศไทย” ถึงการขับเคลื่อน “ปฏิรูปประเทศไทย เพื่อสุขภาวะคนไทย” ที่มีเป้าหมายเพื่อร่วมกันหาทางออกให้กับปัญหาวิกฤติของประเทศ ตลอด 1ปีที่ผ่านมา และเป้าหมายต่อไปในอนาคต

เจ้าภาพกิจกรรมทางวิชาการปฏิรูปประเทศไทย

นพ.สุภกร: เคยมีคนถามเหมือนกันว่าตกลงปฏิรูปประเทศไทย ใครเป็นเจ้าของ จะให้ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นเจ้าของหรือไม่ หมอประเวศ ก็บอกว่าไม่ใช่ เรื่องนี้ถ้าให้ใครเป็นเจ้าของจะมีปัญหา เพราะประเทศไทยไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง เรื่องนี้ถ้าไม่มีใครคนสนใจเราก็เลิก ถ้ามีสนใจเข้าร่วมกันทุกคนก็เป็นเจ้าของร่วมกันไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ที่ไปที่มาโครงการฯ และความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปประเทศไทย

นพ.สุภกร: โครงการปฏิรูปประเทศไทยได้เกิดขึ้นมาเพราะหลายๆคนคิดตรงกันว่า บ้านเมืองกำลังเจอปัญหาที่ลำบาก หลายปีที่ผ่านมาเชื่อว่าหลายๆคนคงคิดตรงกันเมื่อมีความยากลำบากย่ำแย่หาทางออกไม่ได้แล้วใครจะหาทางออกได้บ้าง ซึ่งมีอยู่แนวคิดหนึ่งคือไปหาผู้มีอำนาจหรือว่ารัฐบาลที่น่าจะเข้ามากอบกู้สถานการณ์สร้างความสมานฉันท์ จากที่ผ่านมาก็เห็นแล้วว่ารัฐบาลมีข้อจำกัด คนที่อยู่ในวงการการเมืองเองมีข้อจำกัด ต่างก็พยายามทำในสิ่งที่ทำได้ แต่ก็ไม่เห็นทางออก

โชคดีในช่วงปีเศษที่ผ่านมาเหตุการณ์ในภาพใหญ่ของบ้านเมืองลดความรุนแรงลง แต่ไม่ได้หมายความว่าปมปัญหาทั้งหลายของชาติได้รับการแก้ไขคลี่คลายลงไป ทบทวนดูแล้วสิ่งที่เป็นสาเหตุหรือปัญหาของทุกอย่างยังคงเหมือนเดิม ปัญหาการเมือง ปัญหาของนักการเมืองไม่ได้จำเป็นเสมอไปที่จะตรงกับปัญหาที่ประชาชน สังคมกำลังเดือดร้อนอยู่ ตรงนี้มีความผูกพันกับโครงสร้างความขัดแย้งกับสังคมมากกว่าแค่การเมือง

ตอนแรกก็ตั้งวงคุยกันเล็กๆโดยหมอประเวศ ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่หลายคนเคารพนับถือ คุยว่าถ้าจะปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่หรือครั้งที่ 3 ถ้าเราไปบอกว่า ปฏิรูปการเมือง คือ ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็หมายความว่าทำไปแล้ว 2 ครั้ง ถ้าจะทำครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 จะได้ผลหรือไม่ จึงเห็นตรงกันว่า ถ้ามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คงไม่แตกต่างจากเดิมเท่าไหร่ ปฏิรูปการเมืองโดยรัฐธรรมนูญคงจะไม่ใช่ทางออกและผู้มีอำนาจก็อาจจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้เสมอไป จากกลุ่มคนที่ได้พูดคุยปรึกษาคิดว่าคงต้องเชิญหมอประเวศ มาเป็นผู้ใหญ่เป็นประธานเสวนาน่าจะดีเพราะมีคนจำนวนไม่น้อยที่เคารพนับถือจากคุยกันทุก 2 สัปดาห์ในช่วงระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา มีคนให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมประชุมมากขึ้น

1 ปีที่ได้มีการทำงานขับเคลื่อนอะไรไปแล้วบ้าง

นพ.สุภกร: สำหรับวัตถุประสงค์ที่วางไว้ในปีแรก คือ เรื่องการปฏิรูปประเทศไทยมีคนให้ความสนใจและเข้ามาร่วมเสวนาร่วมคุยกัน ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในขั้นหนึ่ง ทุกครั้งที่ประชุมจะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญระดับชาติ บางเรื่องก็ไม่ใช่เรื่องที่นักการเมืองสนใจมากนัก เพราะไม่ได้หยิบยกปัญหาทางการเมืองมาแต่หยิบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

ตอนที่คุยกันครั้งแรกๆ มีความเห็นที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับความสนใจผู้ที่มาคุย คนที่เข้ามาเป็นกลุ่มแรกๆ คือ กลุ่มคนที่มาจากสถาบันการศึกษา นักวิชาการ หลังจากนั้นจะมีผู้นำชุมชน ผู้ที่ปฏิบัติงานในท้องถิ่น ผู้เชี่ยวชาญ หัวหน้าเครือข่าย ผู้แทนเครือข่ายต่างๆ ซึ่งมีความหลากหลายมากขึ้น จึงยากที่จะฟันธงว่าจะคุยประเด็นปฏิรูปเรื่องอะไร ดังนั้นหมอประเวศจึงวางโครงไว้ให้ว่าน่าจะคุยกัน 10 เรื่องใหญ่นี่คือมิติหนึ่งว่ากำลังปฏิรูปอะไร

โจทย์ใหญ่และสำคัญของการปฏิรูปประเทศไทย

นพ.สุภกร: หมอประเวศได้ใช้รูปพระเจดีย์ขึ้นมาเป็นภาพให้เห็นว่า การปฏิรูปประเทศไทยควรให้ความสำคัญ 3 ระดับด้วยกัน ได้แก่ ตัวฐานของพระเจดีย์ คือ องค์กร ชุมชนต่างๆ ประชาชน องค์พระเจดีย์ คือ การเชื่อมโยงระบบต่างๆ และยอดเจดีย์ คือ จิตสำนึกของประชาชนแต่ละคน

ขั้นตอนแรกต้องทำความรู้ให้มีความชัดเจนก่อน ในช่วงแรกจะมีงานวิชาการเข้ามาเป็นองค์ประกอบสำคัญ จากนั้นก็ขยายความรู้ไปสู่การมีส่วนร่วมของบุคคลที่เกี่ยวข้องแต่ละเรื่องทั้ง10 เรื่อง ความรู้ความเข้าใจของคนที่สนใจจะนำไปสู่การผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงการตัดสินในระดับรัฐบาลหรือรัฐสภาต่อไป แต่ตรงนั้นยังไปไม่ถึงส่วนนี้เรียกว่าองค์พระเจดีย์

ส่วนที่จะปฏิรูปต่อไปคือฐานพระเจดีย์ ประชาชนที่อยู่ตามท้องถิ่นชุมชนต่างๆ ตรงนี้ในปีแรกยังลงไปไม่ถึงมากนัก แต่ว่าได้เริ่มและมีการทำงานในท้องถิ่นหลายกรณี เช่น การฟังเสียงประชาชนโดยกระบวนการประชาเสวนา หรือ Citizen Dialogue เป็นกระบวนการที่เน้นคุณภาพการฟังเสียงประชาชนให้ชัดเจนมากกว่าเรื่องการสำรวจโพล มีการแลกเปลี่ยนกันในวงเสวนา เป็นกระบวนการลงไปทำงานกับประชาชนในท้องถิ่น หรือบางเรื่องก็เริ่มทำในระดับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรประชาชนแล้ว

ถ้าเราปฏิรูปเฉพาะตัวระบบตัววิชาการมาผลักดัน ชวนนักการเมืองมาทำใช้อำนาจรัฐมาผลักดันก็ไม่ยั่งยืน การเข้าไปร่วมงานให้เกิดประเด็นปฏิรูปในพื้นที่ เช่น อาจจะไปชวนตั้งคำถามว่าจะทำให้จังหวัดของแต่ละคนน่าอยู่ที่สุดจะทำอย่างไร คำถามอย่างนี้ถ้าทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันตอบ มีวิสัยทัศน์เพื่อจะให้จังหวัดของเขาเป็นอย่างไรก็จะเกิดการเรียนรู้มีทิศทางร่วมกัน เมื่อเอาทุกจังหวัดรวมกันทั้ง 76 จังหวัดก็คือประเทศไทย นี่คือโจทย์ใหญ่ของการปฏิรูปว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศไทยน่าอยู่ที่สุด

อีกระดับหนึ่งคือ ยอดเจดีย์ ซึ่งก็คือจิตสำนึกของประชาชน จากที่ได้เสวนาร่วมลงมือทำถ้าไม่ซึมลึกลงไปในจิตสำนึกก็ไม่เกิดสัมมาทิฐิ คือ อยากให้คนอื่นมาทำให้แต่ตัวเองไม่รู้ว่าจะปฏิรูปอย่างไรต้องเปลี่ยนแปลงความคิดอย่างไร ถ้าทำให้คนไทยส่วนใหญ่ได้กลับมาถามตัวเองว่า ถ้าจะทำให้ประเทศไทยน่าอยู่ที่สุดตัวเองจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร จะทำให้การปฏิรูปครบทั้ง 3 ระบบ ทั้งระดับฐาน องค์พระเจดีย์ และยอดเจดีย์

วางเป้าหมายการขับเคลื่อนในปี 2553 อย่างไร

นพ.สุภกร:ปี 2553 จะเพิ่มเรื่องของความเข้มข้นในระดับของฐานพระเจดีย์มีการทำงานกับพื้นที่ต่างๆมากขึ้น ทั้ง10 ระบบคงมีความก้าวหน้าถึงแนวทางของการปฏิรูป มีทิศทางของแต่ละระบบมากขึ้นพอเกิดความพร้อมทั้งหลาย การรณรงค์ของจิตสำนึกก็จะเป็นขั้นตอนต่อไป

ส่วนสาเหตุที่ไม่เอาเรื่องการรณรงค์มาทำก่อน เพราะว่าการรณรงค์โดยการใช้สปอร์ตโฆษณาต่างๆหรือสื่อเป็นหลักมีให้เห็นมากแล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่า การไปลงทุนทางด้านสื่อการทำสปอร์ตโฆษณาไม่ดี แต่จะทำอย่างไรทั้งที่จิตสำนึกของจริงไม่มีก็จะไม่เกิดผล ก็ได้เตรียมการให้คนที่ทำงานด้านการปฏิรูปในระบบต่างๆ มีตัวมีตนจริง มีการขับเคลื่อนความก้าวหน้าไปพอสมควร เมื่อถึงตอนนั้นการรณรงค์ด้านจิตสำนึกก็ทำได้โดยที่มีของจริงมีคณะทำงานของแต่ละเรื่องจริงมีชุมชนขานรับ นี่คือขั้นตอนต่อไป

ปฏิรูปประเทศไทยทั้ง 10 โจทย์ใหญ่ จะใช้เวลากี่เดือนกี่ปี

นพ.สุภกร: ถ้าถามว่าจะใช้เวลาเท่าไหร่ ก็ไม่ได้นึกถึงมิติของเวลา เรื่องนี้ก็ทำไปได้เรื่อยๆ มีบางท่านในที่ประชุมพูดเล่นๆว่า น่าจะใช้เวลา 10 ปี แต่ 10 ปีไม่ได้หมายความว่าไม่เห็นผลอะไรเลย แต่ความสำเร็จจะทยอยออกมา ทั้งนี้ การทำงานต่อเนื่อง 10 ปีไม่ได้หมายความว่าผลจะเกิดขึ้นในวันสุดท้ายของ 10 ปี จะมีกระบวนการที่ดำเนินการต่อเนื่องต่อไปน่าจะไม่น้อยว่า 10 ปี

หมอหมอประเวศ ได้ยกตัวอย่างเล็กๆให้เห็นว่า อย่างการรณรงค์การไม่สูบบุหรี่ มีคนทำงานไม่กี่คนและแต่ละคนไม่ได้ใหญ่โต ไม่ได้มีอำนาจ แต่ได้ทำงานอย่างทุ่มเทกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่องและเห็นความก้าวหน้ามาโดยตลอด เชื่อว่ากระบวนการวิธีทำงานแบบนี้ก็น่าจะใช้ได้กับการปฏิรูปประเทศไทย ถ้ามีการทำงานแบบนี้อีกประมาณ 20-30 กลุ่มน่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไม่น้อย (ภาพจาก: http://www.oknation.net/blog/abccalo/2007/11/21/entry-2 )

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net