สสส. ชี้สถิติ “มุมนมแม่นำร่อง” ลด “การลาหยุด” ของแม่ในสถานประกอบการมากถึง 30%

18 Jan 2010

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

สสส. ชี้สถิติ “มุมนมแม่นำร่อง” ลด “การลาหยุด” ของแม่ในสถานประกอบการ มากถึง 30% เผยแม่ 56 % ต้องการให้นมลูกวัยแรกเกิด-5 เดือนสูงร่วม 9 เท่าตัว เมื่อเทียบกับเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป พร้อมจับมือศูนย์นมแม่ฯ ก.แรงงาน- 7 องค์กรลงนาม ตั้ง “มุมนมแม่” รองรับเด็กเกิดใหม่ในสถานประกอบการร่วม 4 แสนคน

เมื่อวันที่ 14 มกราคม ที่กระทรวงแรงงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยจัดแถลงข่าว “พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการจัดสวัสดิการแรงงานการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ” ระหว่างกระทรวงแรงงานกับกระทรวงสาธารณสุข, กรุงเทพมหานคร, กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, กรมอนามัย, องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย, องค์การอนามัยโลก ประเทศไทย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “มุมนมแม่” ขึ้นในสถานประกอบกิจการ นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ให้สัมภาษณ์ว่า “มุมนมแม่” เป็นความพยายามที่ต้องการให้แม่สามารถ “บีบ เก็บ ตุน” น้ำนมในระหว่างเวลาปฏิบัติงานเพื่อนำกลับไปให้ลูกที่บ้านได้ดื่มนมแม่ และต้องยอมรับว่า ปัญญาสำคัญของคนวัยแรงงานก็คือ แม่ในสถานประกอบการไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ ทางกระทรวงแรงงานจึงเห็นว่า “มุมนมแม่” จะส่งผลดีให้ทั้งตัวเด็ก พนักงาน ครอบครัว และสถานประกอบกิจการ ทั้งในแง่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศต่อไป โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมีเป้าหมายล่าสุดในการเพิ่มมุมนมแม่อีก 175 แห่งทั่วประเทศในปีนี้

พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิช ผู้จัดการโครงการการสร้างรากฐานชีวิตและสังคมด้วยนมแม่ ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสสส.กล่าวว่า จากผลสำรวจล่าสุดของศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยพบว่า สถิติการใช้บริการ “มุมนมแม่” ในสถานประกอบกิจการดีเด่น 12 แห่งระหว่างปีพ.ศ.2550-2552 ชี้ชัดว่า แม่ที่เข้าร่วมโครงการ “มุมนมแม่” มีอัตราการลาหยุดงานน้อยกว่าแม่ที่ไม่ได้ให้นมลูกถึงร้อยละ 30 และผลการทำงานของแม่ที่เข้าร่วมโครงการมีประสิทธิภาพมากขึ้นถึงร้อยละ 44 ภายใต้เขตนิคมอุตสาหกรรมส่งออกนำร่อง 3 จังหวัด คือ สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา และชลบุรี ซึ่งมีสถานประกอบกิจการเข้าร่วม 38 แห่ง มีมุมนมแม่มาตรฐาน 27 แห่ง โดยแม่ที่เข้าโครงการ ทั้งหมด 529 ราย พบว่าร้อยละ 56 แม่ต้องให้นมลูกวัย 0-5 เดือน ร้อยละ 37.2 ให้นมลูกวัย 6-11 เดือนและร้อยละ 6.8 ยังคงให้นมลูกที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “มุมนมแม่” เป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับเด็กวัย 0-5 เดือน ซึ่งสูงเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบเด็กวัย 6-11 เดือน และสูงร่วม 9 เท่าตัวเมื่อเทียบกับเด็กอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป

“ผลการศึกษาชี้ชัดว่าเด็กที่ได้รับนมแม่ตั้งแต่แรกเกิดกระทั่ง 6 เดือน จะมีระดับสติปัญญาดีกว่าทารกที่ไม่ได้รับนมแม่สูงถึง 2-11 จุด โดยเมื่อเดือนตุลาคม 2552 กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ได้ประกาศผลการดำเนินงานโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ในพื้นที่ 39 จังหวัด พบว่าสมาชิกโครงการฯเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว 6 เดือน เพิ่มขึ้นจากที่องค์การยูนิเซฟสำรวจไว้คือร้อยละ 5.4 เป็นร้อยละ 29.6 เมื่อประกอบกับศักยภาพในการทำงานของแม่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เราเร่งจัดให้มีมุมนมแม่อยู่ในสถานประกอบการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยาก เพียงผู้บริหารมีความจริงใจ” พญ.ยุพยงกล่าว

นางปกรณ์ อมรชีวิน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่ประโยชน์และมีคุณค่าเกินกว่าที่จะประมาณได้ ที่สามารถมองเห็นได้ก็คือลูกจ้างหญิงและครอบครัวหากมีความตั้งใจในการเก็บน้ำนมไว้ให้ลูกทานในเดือนหนึ่งๆ จะประหยัดเงินไปได้ 2-3 พันบาท สิ่งที่ได้มากกว่านั้นก็คือ คุณภาพชีวิตของประชากรในรุ่นถัดไปจากนี้ เด็กไทยจะเป็นเด็กที่มีความอบอุ่น มีอารมณ์เยือกเย็น มีจิตใจที่เมตตา มีวินัย รู้หลักของการคิด มีเหตุผลต่อสิ่งต่างๆ ดียิ่งขึ้น และมีความผูกพันต่อครอบครัว ด้านนพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ให้สัมภาษณ์ว่า “มุมนมแม่” ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างคุณภาพชีวิตให้ทั้งแม่และเด็กแรกเกิดที่อยู่ในภาคส่วนอุตสาหกรรม จากข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติประจำวันที่ 1 ตุลาคม 2552 พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากร จำนวน 66.90 ล้านคน มีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปและอยู่ในวัยกำลังทำงาน ซึ่งคิดเป็นลูกจ้างหญิงจำนวน 3.92 ล้านคน หรือร้อยละ 47.44 ของลูกจ้างทั้งหมด ซึ่งในปีหนึ่งๆจะมีเด็กเกิดใหม่ประมาณ 8 แสนคน โดยกึ่งหนึ่งจะมีแม่ทำงานในสถานประกอบการ “มุมนมแม่” ที่เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้แผนงานสสส.ก็จะช่วยให้เด็กแรกเกิดร่วม 4 แสนคน ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และแม่ก็จะมีสุขภาพจิตที่ดีเมื่อได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้สาระสำคัญในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการจัดสวัสดิการแรงงานการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการนั้นประกอบด้วยภารกิจหลักดังนี้ 1. ประกาศนโยบายการจัดสวัสดิการสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ 2. ร่วมจัดทำเกณฑ์มาตรฐานมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการและคู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ 3. เผยแพร่ความรู้และสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการจัดตั้งมุมนมแม่ 4. พัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่เพื่อรองรับการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการ 5.กำกับติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน 6.ประสานความร่วมมือด้านวิชาการ ระหว่างองค์กรภาคีเครือข่ายส่งเสริมสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit