กกพ. จับมือเรกูเลเตอร์ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำร่องถกแนวทางกำกับกิจการพลังงานเพื่อรับมือปัญหาโลกร้อน

27 Jan 2010

กรุงเทพฯ--27 ม.ค.--ธนบุรินทร์ เอเซีย แปซิฟิค

กกพ. จับมือเรกูเลเตอร์ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำร่องถกแนวทางกำกับกิจการพลังงานเพื่อรับมือปัญหาโลกร้อน ประกาศสร้างความแข็งแกร่งให้เครือข่ายกำกับกิจการพลังงานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่เวทีโลก

กกพ. จัดสัมมนาเชิงวิชาการครั้งใหญ่ “การกำกับกิจการพลังงาน กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก” เป็นครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หวังได้แนวร่วมรับมือกับปัญหาโลกร้อน พร้อมรวมพลังเรกูเลเตอร์ภูมิภาค ผลักดันบทบาทในมิติการกำกับกิจการพลังงานสู่เวทีโลก ย้ำความพร้อมเป็นเจ้าภาพต้อนรับเรกูเลเตอร์ในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 9+3 และผู้เข้าร่วมงานกว่า 350 คน ระหว่างวันที่ 5-6 ก.พ. นี้

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ภาคพลังงานทั่วโลก มีส่วนในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด ดังนั้น นอกจากการเตรียมความพร้อมแก้ปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเชิงนโยบายของประเทศแล้ว กกพ. ในฐานะผู้กำกับดูแลกิจการพลังงาน เล็งเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนและหาแนวทางที่จะกระตุ้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ และผู้ใช้พลังงานตระหนักถึงความจำเป็น และมีส่วนร่วมในการแสวงหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหา และพัฒนาการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล จึงมีแนวคิดริเริ่มในการรวมกลุ่มเรกูเลเตอร์จากกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ลาว กัมพูชา เวียดนาม พม่า และไทย รวม 10 ประเทศ ร่วมด้วยหน่วยงานด้านการกำกับกิจการพลังงานที่มีบทบาทสำคัญในเอเชียอีก 3 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน เกาหลี และญี่ปุ่น เพื่อมาร่วมสัมมนาและหารือร่วมกันภายใต้ชื่อ “การกำกับกิจการพลังงาน กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก” ซึ่งนับเป็นการสัมมนาเชิงวิชาการระดับนานาชาติด้านการกำกับกิจการพลังงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมี กกพ. จากประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดสัมมนาเชิงวิชาการครั้งนี้

ด้าน ดร.พัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน กล่าวเสริมว่า การสัมมนาเชิงวิชาการด้านการกำกับกิจการพลังงานครั้งนี้ นับเป็นงานสัมมนาเชิงวิชาการที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยผลจากการจัดสัมมนาเชิงวิชาการครั้งนี้ จะนำมาซึ่งความร่วมมือในการพัฒนาศักยภาพ และคุณภาพในการกำกับกิจการพลังงานในอนาคต สำหรับหัวข้อการสัมมนาหลักจะเป็นการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับบทบาทของหน่วยงานกำกับกิจการพลังงานในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก เพื่อหาแนวทางในการลดภาวะโลกร้อนในระดับภูมิภาค โดยเรกูเลเตอร์ จากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น จะร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ด้านการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศ เพื่อการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ กกพ. จะนำเสนอแนวทางในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน อาทิ แนวคิดเกี่ยวกับกลไกการพัฒนาพลังงานที่สะอาดสำหรับภาคพลังงาน (Clean Development Mechanism: CDM) รวมถึง แนวคิดการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ในรูปแบบของการบริหารจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand-Side Management: DSM) เป็นต้น

“สำหรับการสัมมนาเชิงวิชาการครั้งนี้ มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2553 ณ โรงแรม พลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ โดยมีหน่วยงานกำกับกิจการพลังงานของประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึง หน่วยงานภาครัฐ ผู้ว่าราชการจังหวัด นักวิชาการ และองค์กรอิสระจากทั่วประเทศกว่า 350 คน เข้าร่วมงาน โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับฟังบรรยายพิเศษจาก นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่อง “ประเทศไทยกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศของโลก พลังงานสะอาด ... พลังงานประสิทธิภาพ” และการสัมมนาระหว่างกรรมการกำกับกิจการพลังงานในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่อง “The Issues, Challenges and priorities faced by regulators in the next 5-10 years” เป็นต้น” ดร.พัลลภา กล่าว

นายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “การสัมมนาเชิงวิชาการในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการระดมความร่วมมือทั้งในส่วนของ เรกูเลเตอร์ และส่วนของสำนักงานฯ เพื่อสร้างมาตรฐานการกำกิจการพลังงานของเวทีเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจะทำให้เรกูเลเตอร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความแข็งแกร่งขึ้น ทั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการผลักดันนโยบาย และแนวทางการทำงานของเรกูเลเตอร์ในภูมิภาคให้มีบทบาท ตลอดจนได้รับความสนใจ และความร่วมมือจากกลุ่มประเทศยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานใน เวทีโลกได้ ซึ่งจะนำมาสู่การพัฒนา และการเสริมสร้างประสิทธิภาพด้านการกำกับกิจการพลังงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ และประชาชน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เป็นผู้ประสานความร่วมมืออันดีนี้ต่อไป”

“ผมเชื่อมั่นว่า การสัมมนาเชิงวิชาการครั้งนี้จะเป็นก้าวแรกของความร่วมมือด้านการกำกับกิจการพลังงานในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันจะนำมาซึ่งการสนับสนุน และการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงแนวทางในการกำกับกิจการพลังงานที่ให้ความสำคัญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกร่วมกันอย่างสูงสุดที่กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะสามารถร่วมมือกันได้ ทั้งในด้านข้อมูลทางวิชาการ การศึกษาวิจัย และผลักดันให้องค์กรด้านพลังงานมีมาตรการในการดูแลการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตลอดจนผลักดันให้เกิดมาตรการในการลดภาวะเรือนกระจกร่วมกันอีกด้วย” ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ดิเรก กล่าวสรุป

จากภาพ: ศ.กิตติคุณ ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ (กลาง) ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ดร.พัลลภา เรืองรอง (ขวา) กรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ นายกวิน ทังสุพานิช (ซ้าย) เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ร่วมกันแถลงข่าวประกาศความพร้อม การจัดสัมมนาเชิงวิชาการครั้งใหญ่ “การกำกับกิจการพลังงาน หวังกระตุ้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ และผู้ใช้พลังงานตระหนักถึงความจำเป็น และมีส่วนร่วมในการแสวงหาแนวร่วมกันในการแก้ปัญหา และพัฒนาการบริหารจัดการพลังงานให้มีประสิทธิภาพเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล โดยงานสัมมนาเชิงวิชาการครั้งนี้มีกำหนดจึดขึ้นระหว่างวันที่ 5-6 กุมภาพันธ์ 2553 ณ โรงแรม พลาซ่า แอทธินี กรุงเทพฯ

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม โปรดติดต่อ

บริษัท ธนบุรินทร์ เอเซีย แปซิฟิค จำกัด

เกษมศรี ยูเฟมิโย (081 611 4696)

โทร: +66 (0) 2231 6158

e-mail: [email protected]

ธิดาพร จำรัสคำ (081 734 0473)

โทร: +66 (0) 2231 6159

e-mail: [email protected]

เกี่ยวกับ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อทำหน้าที่กำกับกิจการไฟฟ้า และกิจการก๊าซธรรมชาติ ภายใต้กรอบนโยบายของรัฐ โดยยึดหลักและเป้าหมายสูงสุดในการกำกับดูแลกิจการพลังงาน เพื่อส่งเสริมให้มีบริการด้านพลังงานอย่างเพียงพอ มั่นคง และเป็นธรรม ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ใช้พลังงาน ทั้งอัตราค่าบริการ และคุณภาพการให้บริการ รวมถึง ส่งเสริมการแข่งขันในกิจการพลังงาน และป้องกันการใช้อำนาจในทางมิชอบในการประกอบกิจการพลังงาน อีกทั้ง ปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ใช้พลังงาน ชุมชนท้องถิ่น ประชาชน และผู้รับใบอนุญาต ในการมีส่วนร่วม เข้าถึง ใช้ และจัดการด้านพลังงาน ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้พลังงาน และการใช้ทรัพยากรในการประกอบกิจการพลังงานอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงให้มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เป็นหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมิได้เป็นส่วนราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ มีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการ ของ กกพ. และสนับสนุนให้การดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ของ กกพ. เป็นไปตามวัตถุประสงค์

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net