กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--บีโอไอ
บอร์ดบีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุน 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 18,834 ล้านบาท อาทิ นิสสันได้รับส่งเสริมให้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์อีโคคาร์ ส่วนโรจนะเพาเวอร์ ได้รับการส่งเสริมผลิตไฟฟ้าป้อนกฟผ. และเมอร์เมด ออฟชอร์ เซอร์วิสเซส ได้รับส่งเสริม 2 โครงการทดสอบและสำรวจแท่นขุดเจาะและตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเลียม
นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ที่ประชุมได้พิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน 8 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 18,834 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.บริษัท สยามกลการและนิสสัน จำกัด ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วนโลหะและชิ้นส่วนประกอบของตัวถังสำหรับรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,430 ล้านบาท โดยมีกำลังการผลิตชิ้นส่วนโลหะสำหรับรถ Eco Car ประมาณ 1.08 ล้านชิ้นต่อปี หรือ 26,890 ตัน ขณะที่ชิ้นส่วนประกอบของตัวถังสำหรับรถ Eco Car กำลังการผลิตประมาณ 100,188 ชุดต่อปี มีการจ้างแรงงานไทย 410 คน ตลาดส่งออกหลักร้อยละ 75 คือกลุ่มประเทศอาเซียน ออสเตรเลีย อินเดียจีนและญี่ปุ่น ร้อยละ 25 จำหน่ายในประเทศ
2. บริษัท ไอเอชไอ เทอร์โบ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตชิ้นส่วนยานพาหนะ ได้แก่ อุปกรณ์ช่วยอัดอากาศเข้าสู่เครื่องยนต์โดยใช้ไอเสียของเครื่องยนต์กลับมาเป็นตัวขับดัน (TURBO CHARGER ) กำลังการผลิตประมาณ 600,000 ชุดต่อปี และTURBINE SHAFT ที่เป็นชิ้นส่วนหนึ่งใน TURBO CHARGER กำลังการผลิตประมาณ 450,000 ชิ้นต่อปี เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท จำหน่ายในประเทศร้อยละ 90 โดยมีลูกค้าหลักคือ อีซูซุ และส่งออก TURBINE SHAFT ประมาณร้อยละ 10 ให้บริษัทในเครือที่ประเทศจีน
3.บริษัท ไทยลู้บเบส จำกัด (มหาชน)ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตเคมีภัณฑ์ ได้แก่ สารเพิ่มความหนืดสำหรับการผลิตยางรถยนต์ (TREATED DISTILLATED AROMATIC EXTRACT:TDAE) กำลังการผลิตประมาณ 67,500 ตันต่อปี เพื่อใช้ในการผลิตยางรถยนต์ และ สารที่ใช้ในการผลิตยางมะตอย (SECONDARY EXTRACT MIX) กำลังการผลิตประมาณ 82,500 ตันต่อปีใช้เป็นยางมะตอย มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 1,105 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์นี้ยังไม่มีผู้ผลิตในประเทศ
4.บริษัท เมอร์เมด ออฟชอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 2โครงการ ในกิจการทดสอบและสำรวจด้านโครงสร้างของแท่นขุดเจาะ และตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมปิโตรเลียม โดยมีประสิทธิภาพในการให้บริการปีละประมาณ 20 งาน เงินลงทุนทั้ง 2 โครงการรวมทั้งสิ้น 5,219 ล้านบาทโครงการนี้ช่วยสนับสนุนและพัฒนาเศรษฐกิจในด้านพลังงานก่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่อง ได้แก่ อุตสาหกรรมซ่อมบำรุงเรือ และอู่เรือ ช่วยนำเข้าเงินตราต่างประเทศปีละประมาณไม่น้อยกว่า 13-14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
5.บริษัท โรจนะเพาเวอร์ จำกัดได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้า ไอน้ำ และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 5,200 ล้านบาทกำลังการผลิตไฟฟ้า 131 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 41 ตันต่อชั่วโมงและ น้ำเพื่ออุตสาหกรรม 55 ตันต่อชั่วโมงโครงการนี้เป็นการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เพื่อจำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ภายใต้โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก (SPP) ส่วนที่เหลือจำหน่ายให้โรงงานอุตสาหกรรมในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ
6.บริษัท ฟินิคซ ยูทิลิตี้ส์ จำกัด ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ซึ่งกระบวนการผลิตไฟฟ้าจะใช้ของเสียจากกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ ( Black Liquor ) เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า กำลังการผลิต 9.6 เมกกะวัตต์ ขณะที่ไอน้ำมีกำลังการผลิต 133 ตัน/ชั่วโมง เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,520 ล้านบาท ทั้งนี้ไฟฟ้าและไอน้ำที่ได้ตามโครงการจะจำหน่ายให้บริษัท ฟินิคซ พัลพ แอนด์ เพเพอร์ จำกัด (มหาชน) เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตเยื่อกระดาษ
7.บริษัท บางจากโซลาร์เอ็นเนอร์ยี จำกัด ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 3,360 ล้านบาท กำลังการผลิตไฟฟ้า 30 เมกกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย นับว่าเป็นโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีกำลังผลิตมากที่สุดเท่าที่เคยอนุมัติให้ส่งเสริม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit