รู้ทันโรคต้อกระจก

22 Jan 2010

กรุงเทพฯ--22 ม.ค.--โรงพยาบาลกรุงเทพ

อาการตามัวในผู้สูงอายุดูจะเป็นเรื่องปกติธรรมดา จนหลายๆ คนไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งนี้เท่าใดนัก เพราะคิดไปว่า “แก่แล้ว หูตาก็ฝ้าฟางเป็นธรรมดา” แต่ในความเป็นจริงแล้ววิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถช่วยรักษาอาการตามัวในผู้สูงอายุส่วนใหญ่ได้ ดังนั้น อย่าได้นิ่งนอนใจ ถ้าคุณหรือญาติผู้ใหญ่ของคุณตามัวลง

ดวงตาของเรานั้นจะสามารถเห็นภาพได้ชัดดี จะต้องอาศัยการมีกระจกตาที่ใส เพื่อให้แสงผ่านเข้าไปยังเลนส์แก้วตา ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือใส และสามารถหักเหแสงให้โฟกัสพอดีที่จอประสาทตา คล้ายกับเลนส์ที่อยู่ในกล้องถ่ายรูป ซึ่งจะต้องโฟกัสภาพลงพอดีที่ฟิลม์ และฟิลม์หรือประสาทตาก็จะต้องมีคุณภาพดี ภาพที่ได้จึงจะชัดเจน ถ้าหากมีองค์ประกอบใดที่ทำงานผิดไป เราก็จะเห็นภาพไม่ชัดหรือเกิดตามัวขึ้นนั่นเอง

ต้อกระจก (Cataract) คือภาวะที่เลนส์แก้วตาขุ่น แสงจึงผ่านเลนส์เข้าไปยังจอประสาทตาได้น้อยลง หรือบางครั้งการขุ่นนั้น จะก่อให้เกิดการหักเหแสงที่ผิดปกติไปโฟกัสผิดที่ ทำให้จอประสาทตารับแสงได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยจึงตามัวลง โดยไม่มีอาการอักเสบหรือเจ็บปวดใดๆ ยิ่งเลนส์แก้วตาขุ่นขึ้น การมองเห็นก็จะลดน้อยลงเรื่อยๆ ทั้งนี้ ต้อกระจกเป็นสาเหตุที่สำคัญอันดับหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุตามัวลง ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับต้อกระจก

ต้อกระจกไม่ใช่โรคติดต่อ และจะไม่ลุกลามจากตาข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ต้อกระจกจะเกิดขึ้นพร้อมกันทั้งสองตา แต่ทั้งนี้ อาการอาจรุนแรงไม่เท่ากัน

• การใช้สายตา และสภาวะของอาหารการกิน ไม่เป็นสาเหตุของต้อกระจก และไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น

• ต้อกระจกมักเกิดขึ้นอย่างช้า ๆ ดังนั้น กว่าสายตาของผู้ป่วยส่วนมากจะขุ่นมัวจนรู้สึกได้ อาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนหรือหลายปี

• แนวคิดเกี่ยวกับการรักษาต้อกระจกได้เปลี่ยนไปจากเดิมที่ว่าต้องรอให้ต้อกระจกสุกก่อน จึงจะทำการรักษาได้ผลดี ปัจจุบันมีวิทยาการในการรักษาโรคต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ที่เรียกว่าวิธี “สลายต้อกระจก” หรือย่อ ๆ ว่า “เฟโค” (Phacoemulsification) ซึ่งสามารถใช้รักษาต้อกระจกได้โดยไม่ต้องรอให้ต้อสุกก่อนและให้ผลการรักษาดีมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องทนทรมานกับสายตาที่มัวลงเพื่อรอให้ต้อสุก ซึ่งอาจจะนานเป็นปี เพราะเมื่อใดที่ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกอึดอัดกับการที่สายตามัวลง จนเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันหรือการทำงาน ก็สามารถมาปรึกษาจักษุแพทย์เพื่อขอรับการรักษาโดยไม่ต้องรอเช่นในอดีต

• ต้อกระจกไม่ใช่โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่ที่เราพบว่าญาติผู้ใหญ่ในครอบครัวหลายคนของเราเป็นต้อกระจก ก็เพราะว่าการขุ่นของเลนส์แก้วตาในโรคต้อกระจกนั้น เกิดจากการเสื่อมของเลนส์แก้วตาตามวัย คล้าย ๆ กับที่ผู้สูงอายุทุกคนจะมีผมหงอกขาวนั่นเอง ทำอย่างไร เมื่อสงสัยว่าอาจเป็นต้อกระจก?

เมื่อมีอาการตามัว หรืออาการอื่นที่สงสัยว่าจะเป็นต้อกระจก ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยดวงตาโดยละเอียด เพื่อแยกชนิดและความรุนแรงของต้อกระจก นอกจากนี้ จักษุแพทย์จะต้องตรวจวัดความดันลูกตา และหยอดยาขยายรูม่านตา เพื่อตรวจประสาทตาโดยละเอียด ให้ทราบแน่ชัดว่าต้อกระจกเป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้ผู้ป่วยตามัวลง หรือมีโรคอื่นร่วมด้วย เพื่อเป็นแนวทางการวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมและครบถ้วนต่อไป

วิธีการรักษาต้อกระจก

การใช้ยาใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นยาหยอดตาหรือยารับประทาน ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าสามารถรักษา หรือยับยั้งการเกิดต้อกระจกได้ เมื่อต้อกระจกเป็นมากจนทำให้สายตาขุ่นมัว จนเกิดความไม่สะดวกในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันตามปกติแล้ว การสลายต้อกระจกด้วยคลื่นอัลตราซาวด์ หรือเทคนิค “เฟโค” (Phacoemulsification) พร้อมทั้งใส่เลนส์แก้วตาเทียม เป็นวิธีการรักษาที่ช่วยให้สายตาของผู้ป่วยดีขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การสลายต้อกระจกด้วยอัลตราซาวด์ เป็นเทคโนโลยีการผ่าตัดที่ทันสมัยและได้ผลดีมาก โดยใช้คลื่นอัลตราซาวด์ไปสลายเลนส์แก้วตาที่ขุ่นแล้วดูดออกจนหมด เหลือแต่เยื่อหุ้มเลนส์ด้านหลังไว้เป็นถุงสำหรับให้จักษุแพทย์สอดเลนส์แก้วตาเทียมเข้าแทนที่ การสลายต้อกระจกนี้ สามารถทำได้โดยการให้ยาชาเฉพาะที่เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องให้ยาสลบ นอกจากนี้ แผลที่เกิดขึ้นจากการรักษาวิธีนี้จะมีขนาดเล็กมากเพียง 3 ม.ม. จึงสมานตัวได้เป็นปกติอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องเย็บแผล ผู้ป่วยจึงไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล สามารถมองเห็นได้ชัดเจนอย่างรวดเร็ว และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ยังต้องเพิ่มความระมัดระวังในการดูแลความสะอาด และระวังไม่ให้มีอุบัติเหตุกระทบกระแทกต่อดวงตา

ทำไมต้องใส่เลนส์แก้วตาเทียม

ภายหลังจากการนำเลนส์แก้วตาที่ขุ่นเป็นต้อกระจกออกแล้ว ดวงตาจะไม่มีเลนส์แก้วตาทำหน้าที่รวมแสงอีกต่อไป การมองเห็นจึงยังไม่ชัดเจนเปรียบเหมือนกล้องถ่ายรูปที่ไม่มีเลนส์ ภาพจึงยังไม่โฟกัส จักษุแพทย์จะต้องใส่เลนส์แก้วตาเทียม เพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน เลนส์แก้วตาเทียมมีคุณสมบัติใส ทำมาจากสารพิเศษที่ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบหรือปฏิกิริยาใด ๆ กับดวงตา มีอายุการใช้งานได้นานตลอดชีพ และจะอยู่ภายในถุงเยื่อหุ้มเลนส์กลายเป็นส่วนหนึ่งของดวงตาคุณ โดยไม่ต้องดูแลอะไรเป็นพิเศษ

มีผู้ป่วยน้อยรายมากที่ไม่เหมาะสมในการใส่เลนส์แก้วตาเทียม ภายหลังนำต้อกระจกออกแล้ว เนื่องจากคนเหล่านั้นมีโรคของดวงตาบางชนิด ในกรณีนี้ผู้ป่วยอาจต้องใช้แว่นสายตาพิเศษหรือคอนแทคเลนส์ชนิดพิเศษทดแทนการใส่เลนส์แก้วตาเทียม

ทั้งนี้ การเลือกใช้เลนส์แก้วตาเทียมชนิดใดในผู้ป่วยแต่ละรายนั้น จักษุแพทย์สามารถให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่คุณ เพื่อประกอบการตัดสินใจร่วมกันระหว่างคุณและจักษุแพทย์ผู้รักษาต่อไป

แม้ว่าทุกคนจะหลีกเลี่ยงการเป็นต้อกระจกไปไม่พ้น แต่ด้วยวิทยาการอันทันสมัยของยุคปัจจุบัน ทำให้ต้อกระจกไม่ใช่เรื่องใหญ่อีกต่อไป ภายในเวลาไม่กี่นาทีของการสลายต้อกระจก คุณก็สามารถกลับมามองโลกได้สดใสอีกครั้งหนึ่ง

ที่มา: ศูนย์ข้อมูลสุขภาพ โรงพยาบาลกรุงเทพ http://www.bangkokhospital.com http://www.bangkokhealth.com

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 02-7551638 BDMS e-Communication Department

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net