กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--เวเบอร์ แชนด์วิค
ธนาคารดอยซ์แบงก์คาดผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติของประเทศไทย (จีดีพี) ปีนี้โต 5.5 เปอร์เซ็นต์ สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ส่งผลให้ภาคธุรกิจส่งออกและการค้าภายในประเทศมีการฟื้นตัวและมีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งยังได้แรงหนุนจากโครงการต่างๆ ของภาครัฐในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศ
“เราคาดว่าการฟื้นตัวของภาคธุรกิจส่งออกและการจัดหาสินค้าคงคลังเข้ามาในสต็อกอีกครั้งเพื่อทดแทนสินค้าเก่าที่หมดไป รวมไปถึงความต้องการสินค้าจากประเทศไทยที่เริ่มมีมากขึ้นในตลาดอเมริกาและยุโรป จะเป็นปัจจัยที่ช่วยพลิกให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2553 ขณะที่แรงซื้อของผู้บริโภคในตลาดภายในประเทศที่สูงขึ้นและแรงสนับสนุนจากภาครัฐและธนาคารแห่งประเทศไทย จะยิ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในปีนี้อีกด้วย” คุณจูเลียนา ลี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารดอยซ์แบงก์ กล่าว
ตัวเลขการเติบโต 5.5 เปอร์เซ็นต์ ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ หรือ จีดีพี (GDP) ที่ธนาคารดอยซ์แบงก์ คาดการณ์เอาไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นการพลิกฟื้นแบบก้าวกระโดด จากจีดีพีของประเทศไทยที่เคยลดลงจนอยู่ที่ระดับ -3 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา อันมีสาเหตุมาจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ทำให้อุปสงค์จากต่างประเทศลดลง
“เราคาดหวังว่าการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชนและภาคการลงทุนในปี 2553 จะมีการเติบโตขึ้นราว 29 เปอร์เซ็นต์และ 8.4 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ ซึ่งช่วยปรับค่าจีดีพีให้สูงขึ้นอีก 1.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะเดียวกัน เราคาดว่าภาคอุปสงค์ภายในประเทศจะมีการเติบโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับตลาดส่งออก” คุณลี เผย
ธนาคารดอยซ์แบงก์ยังคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะทำให้อัตราเงินเฟ้อที่คำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI Inflation) อยู่ที่ 3.7 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าปี 2552 ที่อยู่ที่ระดับ -0.9 เปอร์เซ็นต์ มีผลทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก 75bps ในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ การที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จะทำให้อัตราดอกเบี้ยจริงตกลง แม้ว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 75bps ก็ตาม เมื่อเป็นเช่นนั้น นโยบายทางการเงินของไทยจะยังคงช่วยส่งเสริมให้ภาคอุปสงค์ภายในประเทศเติบโตอยู่ได้
“ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับเรื่องท้าทายเดียวกันกับธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ กับปัญหาที่ว่าเมื่อไรควรจะเริ่มใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด หลังมีการผ่อนผันนโยบายในภาวะที่ทั่วโลกประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางในหลายๆ ประเทศอาจไม่ระมัดระวังจนทำให้-อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำและนานจนเกินไป ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขึ้นได้ในปี 2554 เพราะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เร็วขึ้นกว่าคาดการณ์มากเกินไป” คุณลี เสริม
แม้ว่าปัจจัยพื้นฐานจะส่งผลดีต่อค่าเงินบาท แต่การแข็งตัวของค่าเงินก็ยังมีการควบคุมให้อยู่ในระดับที่กำหนด เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน โดยภายในสิ้นปีนี้ ค่าเงินบาทไม่น่าจะแข็งกว่า 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เว้นแต่จะมีการผันผวนรุนแรงของอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศเพื่อนบ้าน
“อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นของสหรัฐฯ และประเทศในยุโรปยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจทำให้การคาดการณ์ของเราคลาดเคลื่อน” คุณลี เผย
ธนาคารดอยซ์แบงก์ยังได้มีการคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมของโลก (จีดีพี) ว่า จะเติบโตขึ้นประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์ จากตัวเลข -1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2552 ขณะที่ค่าจีดีพีในปี 2553 ของสหรัฐฯ และประเทศในสหภาพยุโรปจะขยายตัวราว 3.5 เปอร์เซ็นต์ และ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ จากตัวเลข -2.5 เปอร์เซ็นต์ และ -3.9 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2552
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:
กมลวรรณ ทันศรี และ ต้องหทัย สุดดี
เวเบอร์ แชนด์วิค
โทร. 02 343 6000 ต่อ 181, 174
E-mail: [email protected], [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit