ปตท. นำเข้าแอลพีจีโดยใช้คลังลอยน้ำเป็นครั้งแรกในปีนี้

01 Feb 2010

กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--ปตท..

เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการนำเข้าแอลพีจีของประเทศ สนองความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกินขีดความสามารถปัจจุบันของคลังก๊าซเขาบ่อยา ซึ่งเป็นคลังรองรับการนำเข้าแอลพีจีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยสูบถ่ายแอลพีจีจากเรือนำเข้าเป็นคลังลอยน้ำและจ่ายลงเรือลำเลียง

วันนี้ (1 ก.พ. 53) เวลา 10.00 น. ณ ท่าเทียบเรือ ปตท. คลังก๊าซเขาบ่อยา จ.ชลบุรี นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดการสูบถ่ายแอลพีจีจากคลังลอยน้ำ (Floating Storage Unit) ลงเรือลำเลียง พร้อมด้วย นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงคมนาคม และ ปตท. ทั้งนี้เรือ Gas Vision ได้เข้าเทียบท่าที่ท่าเทียบเรือ ปตท. คลังก๊าซเขาบ่อยา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 29 มกราคมที่ผ่านมา โดยนับเป็นการนำเข้าแอลพีจีโดยใช้เรือนำเข้าเป็นคลังลอยน้ำ พร้อมทั้งดำเนินการผสมโพรเพนกับบิวเทน และจ่ายแอลพีจีลงเรือลำเลียงในรูปแบบการขนถ่ายระหว่างเรือ (Ship to Ship) เป็นครั้งแรกของปีนี้

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า จากความต้องการแอลพีจีที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2551 อันเนื่องมาจากความผันผวนของราคาน้ำมัน ประกอบกับการที่โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 ของ ปตท. ยังอยู่ภายใต้คำสั่งระงับโครงการของศาลปกครอง จึงไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผน ทำให้คาดการณ์ว่าในปีนี้จะต้องมีการนำเข้าแอลพีจีสูงกว่า1แสนตันต่อเดือน ซึ่งเป็นปริมาณมากเกินกว่าที่คลังแอลพีจี ปตท. ที่เขาบ่อยา จ.ชลบุรี จะรองรับได้ ดังนั้น คณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กบง.) จึงได้เห็นชอบให้กระทรวงพลังงานประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับกฎระเบียบ เพื่อสนับสนุนให้ ปตท. สามารถนำเข้าแอลพีจีโดยการใช้คลังลอยน้ำและการขนถ่ายระหว่างเรือ

“กระทรวงพลังงานตระหนักดีถึงปัญหาเรื่องแอลพีจีที่ประเทศต้องเผชิญอยู่ขณะนี้และเฝ้าระวังมาตลอดเพื่อไม่ให้กระทบกับประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมา ปตท. ได้ทำหน้าที่ในเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี แต่ต้องยอมรับว่าราคาแอลพีจีในตลาดโลก เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ และปรับสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งย่อมกระทบต่อกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องนำมาใช้ในการตรึงราคา ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องดังกล่าว โดยได้ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการในเรื่องของการจัดหาแอลพีจีให้เพียงพอในทุกภาคส่วน โดยเกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และกระทบกับภาคประชาชนน้อยที่สุด” รัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน กล่าว

นายปรัชญา ภิญญาวัธน์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยต้องเปลี่ยนจากผู้ส่งออกแอลพีจีมาเป็นผู้นำเข้าตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โดย ปตท. ซึ่งมีศักยภาพในการนำเข้า ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศในส่วนที่ขาดเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจและความเดือดร้อนของประชาชน ซึ่ง ปตท. ได้ดำเนินการนำเข้าเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนเมษายน 2551 และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยต้องนำเข้าในปริมาณที่สูงขึ้นเรื่อยๆ รวมปริมาณการนำเข้าจนถึงปัจจุบัน (มกราคม 2553) 1 ล้าน 3 แสนตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท สำหรับในปี 2553 จากการคาดการณ์ว่าการนำเข้าแอลพีจีจะเพิ่มสูงขึ้นจนเกินขีดความสามารถปัจจุบันของคลังก๊าซเขาบ่อยา ซึ่งเป็นคลังรองรับการนำเข้าแอลพีจีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ปตท. ในฐานะผู้ดำเนินการคลังก๊าซเขาบ่อยาจึงได้เตรียมความพร้อมในการรองรับเพิ่มเติมด้วยการใช้เรือนำเข้าเป็นคลังลอยน้ำ โดยการดำเนินการครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจากกระทรวงพลังงาน กรมธุรกิจพลังงาน กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต และกรมเจ้าท่า

“แม้ว่าในปัจจุบันโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 จะมีความพร้อมในการผลิตแอลพีจี แต่ยังต้องรอความชัดเจนในกฎเกณฑ์การดำเนินงานตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ซึ่งหากเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในประเด็นดังกล่าวโดยเร็ว ด้วยกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านตันต่อปีของโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 ก็จะสามารถช่วยลดปริมาณการนำเข้า และลดภาระเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันได้ นอกจากนี้ ปตท. ยังได้ปรับเลื่อนการหยุดซ่อมบำรุงของโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 1,2,3 และ 5 ออกไป เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์เพิ่มเติมอีกทางหนึ่งด้วย และ ปตท. ขอยืนยันความพร้อมในการผลิต จัดหา และจัดส่งปิโตรเลียม เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ” นายปรัชญา กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ

ฝ่ายสื่อสารองค์กร ปตท.

โทรศัพท์ 0 2537 2164

โทรสาร 0 2537 2171