อนาคตอุตสาหกรรมไก่เนื้อไทยยังสดใส สถาบันอาหารแนะผู้ผลิตขยายการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา ชิงส่วนแบ่งตลาดโลก

17 Dec 2009

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--สถาบันอาหาร

สถาบันอาหาร แนะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไก่เนื้อไทย เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โดยการขยายการลงทุนในประเทศกำลังพัฒนา ที่สามารถผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้เอง ชิงความได้เปรียบ หวังเพิ่มส่วนแบ่งตลาดไก่เนื้อในตลาดโลก ชี้ อุตฯ ไก่เนื้อโลกยังขยายตัวสูง โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นตลาดใหม่และกำลังพัฒนา เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย ไทย และ เวียดนาม นักวิจัยสหภาพยุโรปชี้ ปี 2552-2561 ส่วนแบ่งตลาดโลกเปลี่ยน บราซิลแชมป์ส่งออกไก่เนื้อ ครองส่วนแบ่งสูงสุดถึงร้อยละ 50 เพิ่มจากเดิมที่มีเพียงร้อยละ 39 จากความพร้อมด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ แรงงาน และการขยายการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ

ดร. อมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวถึงอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยว่า “ในช่วงปี 2552 ประเมินว่ามีการผลิตไก่ 18 ล้านตัวต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นปริมาณที่จะกระทบต่อต้นทุนน้อย โดยในปีนี้ต้นทุนอาหารสัตว์ปรับลดลง ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงไก่ปรับลดลงร้อยละ 17 ส่งผลให้ราคาขายลดต่ำลงด้วย โดยเฉลี่ยอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้กำลังการผลิตมากกว่าปี 2551 อยู่ที่ร้อยละ 58 เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.17 เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภค สำหรับการส่งออกไก่แปรรูปตั้งแต่เดือน ม.ค. - ก.ย. 2552 มีปริมาณ 286,092.43 ตัน มูลค่า 40,129.50 ล้านบาท โดยมีมูลค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 2.10 และ 0.29 ตามลำดับ จากการส่งออกที่มีมูลค่าลดลง มีสาเหตุมาจากการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมีมูลค่าลดลงถึงร้อยละ 11 ส่งผลให้มูลค่าร่วมการส่งออกลดลง เนื่องจากสหภาพยุโรปเป็นตลาดใหญ่ของไก่เนื้อไทย และหากในปี 2553 สหภาพยุโรปปรับอัตราภาษีนำเข้าไก่เนื้ออีกครั้ง จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยอย่างแน่นอน”

กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) ได้ประเมินปริมาณผลผลิตไก่เนื้อโลก ปี 2553 ว่า จะเพิ่มขึ้นจากปีนี้ ร้อยละ 3 มีผลผลิตรวมประมาณ 73.7 ล้านตัน เป็นผลจากการเพิ่มกำลังการผลิตของบราซิลและจีน ขณะที่การส่งออกไก่เนื้อของโลกจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 2 ปริมาณรวม 8.3 ล้านตัน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว สำหรับประเทศไทยนั้น คาดว่าปริมาณการผลิตไก่เนื้อจะเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 4.17 ประมาณการผลผลิต 1,250 พันตัน ปริมาณส่งออก 420 พันตัน เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 ความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว การเพิ่มเมนูไก่แปรรูปในธุรกิจ fast food และอาหารสำเร็จรูปของบริษัทผู้นำตลาด ในด้านผู้นำเข้านั้น รัสเซียจะยังเป็นผู้นำเข้าอันดับ 1 ของโลก แม้ว่าปริมาณนำเข้าจะลดลงจากปี 2552 ร้อยละ 4.1 เนื่องจากมีมาตรการห้ามนำเข้าไก่ที่ผ่านคลอรีน ลดปริมาณโควตานำเข้า เพิ่มภาษีนอกโควตา รวมถึงมาตรการกีดกันที่มิใช่ภาษี เช่น เข้มงวดการนำเข้าเนื้อไก่จากประเทศที่มีการระบาดของไข้หวัดนก รวมถึงการที่รัฐบาลสนับสนุนการเลี้ยงไก่ในประเทศมากขึ้น และการอ่อนค่าของเงินรูเบิล ซึ่งหากมาตรการด้านภาษีและโควตาเปลี่ยนแปลงทิศทางปริมาณนำเข้าอาจปรับเปลี่ยนอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม คาดว่าจนถึงปี 2555 รัสเซียจะลดปริมาณนำเข้าเนื้อไก่ลงจะเหลือไม่เกินร้อยละ 15 ของปริมาณบริโภค

สำหรับสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นผู้นำเข้าไก่เนื้อเป็นอันดับ 2 คาดว่าปริมาณการนำเข้าจะใกล้เคียงกับปีนี้ ส่วนอันดับ 3 คือ ญี่ปุ่น คาดว่าปริมาณนำเข้าจะลดลงประมาณร้อยละ 2.86 โดยจะลดการนำเข้าไก่สดชำแหละไม่มีกระดูก ส่วนสินค้าแปรรูปคาดว่าจะนำเข้าในปริมาณที่ใกล้เคียงกับปี 2552 ในส่วนของตลาดตะวันออกกลาง คาดว่า ซาอุดิอาระเบีย และอิรัก จะนำเข้าไก่เนื้อเพิ่มขึ้น แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ คาดว่าปริมาณนำเข้าจะคงเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาตัวเลขการบริโภคเนื้อไก่ของหลายๆ ประเทศ พบว่าอุตสาหกรรมไก่เนื้อโลกน่าจะยังขยายตัวได้อีกมาก โดยเฉพาะในประเทศที่เป็นตลาดใหม่และกำลังพัฒนา เช่น จีน อินเดีย รัสเซีย อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม ที่ยังมีระดับปริมาณการบริโภคเนื้อไก่ต่อคนต่อปีที่ค่อนข้างต่ำมาก

“มีงานวิจัยของสหภาพยุโรปประเมินว่า ในช่วงปี 2552-2561 ส่วนแบ่งตลาดโลกของประเทศ ผู้ส่งออกไก่เนื้อจะเปลี่ยนไป โดยบราซิลจะมีส่วนแบ่งตลาดโลกถึงร้อยละ 50 จากเดิมที่มีเพียงร้อยละ 39 เนื่องจากมีความพร้อมด้านวัตถุดิบอาหารสัตว์ แรงงาน และการขยายการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ส่วนสหรัฐอเมริกาจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดไป จากร้อยละ 47 เหลือร้อยละ 41 ส่วนประเทศไทยนั้น จะเหลือส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 6 ลดลงจากเดิมที่มีอยู่ร้อยละ 7

อุตสาหกรรมไก่เนื้อไม้ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ทำให้ในระยะยาวความสามารถในการแข่งขันด้านราคาคงสู้บราซิลไม่ได้ ถึงแม้ไทยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปเป็นสินค้าแปรรูปที่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น แต่บราซิลก็สามารถพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้ได้ไม่ยาก โดยอาศัยการลงทุนร่วมกับบริษัทข้ามชาติ ดังนั้น อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยจะเติบโตได้นั้น ต้องวางกลยุทธ์ระยะยาว หาลู่ทางขยายการลงทุนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้เอง เพื่อให้สามารถผลิตแบบครบวงจรในประเทศนั้นๆ หรือส่งวัตถุดิบอาหารสัตว์เข้ามาในไทย จึงจะทำให้อุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ในอนาคต” รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหารกล่าว

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net