กรุงเทพฯ--11 ธ.ค.--เอสซีจี
เอสซีจี ร่วมกับสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยมหิดล ประกาศผลการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัย Thailand Rescue Robot Championship 2009 ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ ทีม BART LAB Rescue จากมหาวิทยาลัยมหิดล คว้าถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา 740,000 บาท และยังคว้ารางวัลหุ่นยนต์อัตโนมัติยอดเยี่ยมอีก 1 รางวัล ได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันระดับโลก ‘World Robocup Rescue 2010’ ที่ประเทศสิงคโปร์
วีนัส อัศวสิทธิถาวร ผู้อำนวยการสื่อสารองค์กร เอสซีจี เปิดเผยว่า ผลการแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รอบชิงชนะเลิศ หลังจากมีการขับเคี่ยวมาตั้งแต่วันที่ 7 – 10 ธันวาคม ที่ผ่านมา มีทีมเยาวชนไทยเข้าร่วมแข่งขัน 8 ทีม และทีมต่างชาติที่เข้าร่วมแข่งขันมากถึง 6 ทีม จาก 4 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น 2 ทีม อิหร่าน 2 ทีม เยอรมนี และออสเตรเลีย ผลปรากฎว่าเยาวชนจากมหาวิทยาลัยมหิดล ในชื่อทีม BART LAB Rescue ทำคะแนนรวมมาเป็นอันดับ 1 คว้าถ้วยรางวัลพระราชทานฯ ไปครอง พร้อมทุนการศึกษาอีก 740,000 บาท และได้เป็นตัวแทนประเทศไทย ไปแข่งขันหุ่นยนต์กู้ภัยโลก World Robocup Rescue 2010 ณ ประเทศสิงคโปร์ เพื่อป้องกันแชมป์หุ่นยนต์กู้ภัยโลกสมัยที่ 5 สมาชิกในทีม ประกอบด้วย นายวรทิต อ่อนประเสริฐ (หัวหน้าทีม) นายสกล นาคธรรมาภรณ์ นายวีระ สอิ้ง นายศุภวัฒน์ สารการโกศล นายวีรวัฒน์ ศิริโสภา นายนัฐพร อินทวิชรารันต์ นายยุธนา อิสสระชัยยศ และนายชวพล ดิเรกวัฒนะ มีอาจารย์ที่ปรึกษา คือ ผศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ และอาจารย์สุรธนา จันทรจิต
สำหรับรางวัลรองชนะเลิศ (The Runner Up) ได้แก่ เยาวชนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ชื่อทีม iRAP_PE
รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม (Technical Achievement Award) ซึ่งเป็นรางวัลพิเศษที่มอบให้หุ่นยนต์ที่มีสมรรถนะสูงในการเคลื่อนที่บนพื้นผิวขรุขระ มี 2 รางวัล ได้แก่ ทีม CEO Mission IV จากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และทีม iRAP_PE จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
รางวัลหุ่นยนต์อัตโนมัติยอดเยี่ยม (The Best Autonomy) ได้แก่ ทีม BART LAB Rescue จากมหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลหุ่นยนต์บังคับมือยอดเยี่ยม (The Best Mobility) ได้แก่ ทีม SUCCESSFULLY by Telecom มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์
ผศ.ดร. จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ นายกสมาคมวิชาการหุ่นยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า หุ่นยนต์ของไทยปีนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และมีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้สามารถยกระดับมาตรฐานวงการหุ่นยนต์กู้ภัยไทยให้สูงขึ้น สำหรับคะแนนการแข่งขันของทีมไทยส่วนใหญ่ทำคะแนนเกาะกลุ่มกัน นอกจากนี้แล้ว สำหรับการแข่งขันครั้งนี้ เยาวชนไทยยังได้เรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องหุ่นยนต์กู้ภัยจากต่างประเทศด้วย ขณะเดียวกันทีมต่างชาติที่เข้ามาแข่งขันก็ต่างทึ่งในความสามารถของเยาวชนไทย และเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่สามารถจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกได้
Thailand Rescue Robot Championship โครงการประกวดหุ่นยนต์กู้ภัยชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคมที่เอสซีจี ริเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ ตั้งแต่ปี 2547 และส่งเข้าร่วมการแข่งขันระดับโลกมาตลอด ที่ผ่านมาตัวแทนเยาวชนจากประเทศไทยสามารถคว้าแชมป์โลกหุ่นยนต์กู้ภัยมาได้ถึง 4 สมัยซ้อน ทั้งนี้ เอสซีจีมีเป้าหมายที่จะสนับสนุน ส่งเสริมให้เยาวชนไทย พัฒนาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงสร้างโอกาสให้เยาวชนได้แสดงออกซึ่งความสามารถด้านนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป