กรุงเทพฯ--9 ธ.ค.--สมาคมกุ้งไทย
ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เปิดเผย ถึงสถานการณ์กุ้งไทยปัจจุบันว่า วันนี้อุตสาหกรรมกุ้งไทยแข็งแรง ยังคงยิ้มได้ ดังจะเห็นได้จากแม้ปีนี้จะเป็นปีที่ทั่วโลกประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ปรากฏว่า ไทยสามารถส่งออกกุ้งช่วงเดือน ม.ค.-ต.ค. 2552 ได้ถึง 320,855 ตัน คิดเป็นมูลค่า 77,132 ล้านบาท เทียบกับปีที่แล้วปริมาณส่งออกกุ้งเพิ่มขึ้น 8% ในขณะที่มูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 12% การส่งออกกุ้งของไทยปีนี้ที่เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ในทุกตลาด แม้กระทั่งสหรัฐฯ ซึ่งประเทศไทยถือว่าเสียเปรียบเนื่องจากยังโดนเก็บภาษีเอดีในขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั้งเอกวาดอร์ เวียดนาม ภาษีแทบจะเป็นศูนย์แล้ว นั่นหมายความว่าคุณภาพสินค้ากุ้งจากไทยเป็นที่ยอมรับอย่างยิ่งในตลาดที่มีความเข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยอาหาร
ด้านสถานการณ์การผลิตกุ้งในพื้นที่ต่างๆ นายเอกพจน์ ยอดพินิจ เลขาธิการสมาคมฯและประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งสุราษฎร์ธานี ให้ข้อมูลการผลิตกุ้งในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ว่า ด้วยช่วงปลายปีนี้ เกิดความเสียหายเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีโรคระบาด สภาพอากาศหนาวเร็ว และแปรปรวนบางช่วง ทำให้เกษตรกรหลายรายยังไม่กล้าลงเลี้ยง ส่งผลต่อเนื่องทำให้ปี 2553 ผลผลิตกุ้งไม่สูงตามที่คิดกัน
นายปกครอง เกิดสุข อุปนายก ส.กุ้งไทย และ ปธ.ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดกระบี่ ให้ข้อมูลการเลี้ยงกุ้งในภาคใต้ฝั่งอันดามันว่า เนื่องจากราคากุ้งที่ผ่านมา ผู้เลี้ยงเลี้ยงไม่มีกำไร/กำไรน้อย ทำให้คาดว่าปี 2553 ผลผลิตกุ้งฝั่งอันดามันน่าจะทรงๆ หรืออาจจะลดลง
ด้านนายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย กล่าวถึงการเลี้ยงกุ้งภาคตะวันออกว่า ปี 2553 ผลผลิตจะเพิ่มขึ้นในขณะที่พื้นที่การเลี้ยงลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากลูกกุ้งที่มีคุณภาพ ทำให้รอบการเลี้ยงเร็วขึ้น สำหรับพื้นที่ทีไม่เหมาะสมกับการเลี้ยงกุ้งนั้น จะปรับเปลี่ยนไปเลี้ยงสัตว์น้ำชนิดอื่น
ขณะที่นายชัยพร เอ้งฉ้วน กรรมการส.กุ้งไทย บอกว่าในพื้นที่สตูล เนื่องจากลูกกุ้งคุณภาพดี ระยะเวลาการเลี้ยงลดลง ทำให้สามารถมีรอบการเลี้ยงที่มากขึ้น หากสามารถแก้ปัญหาโรคระบาดในช่วงต้นปีได้ ผลผลิตของสตูลก็จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
นายสรวุฒิ จิระพันธุ์ ปธ.ชมรมผู้เลี้ยงกุ้งปัตตานี เปิดเผยว่า ปัตตานี มีการขยายพื้นที่การเลี้ยงโดยการกลับมาเลี้ยงกุ้งอีกครั้งในพื้นที่ซึ่งเคยหยุดการเลี้ยงในช่วงที่ผ่านมา
“การผลิตกุ้งของไทย ปี 2553 ที่จะถึง โดยภาพรวมเบื้องต้น คาดการณ์ว่าผู้เลี้ยงจะสามารถผลิตกุ้งได้ในระดับเดียวกับปีนี้ ที่ 540,000 ตัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นกับราคา อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน สภาพเศรษฐกิจ และอื่นๆ ฯลฯ ยืนยันว่าผู้เลี้ยงกุ้งไทยมีศักยภาพสูงในการผลิตกุ้ง ส่วนประเด็นที่อยากฝากภาครัฐ/รัฐบาล ให้ช่วยเร่งดำเนินการ คือ 1. เอดี-สหรัฐฯ –ขอให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีการทำการประนีประนอมฯ (Settlement) เพื่อให้มีการพิจารณายกเลิกมาตรการเอดีกับสินค้ากุ้งไทยให้สำเร็จ เพราะตอนนี้ทาง เอสเอสเอ (SSA) หรือกลุ่มชาวประมงกุ้งสหรัฐฯ เปิดช่องให้แล้ว 2. แรงงานเด็ก –ขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญ ติดตามแก้ไขอย่างเข้มแข็ง เพราะสินค้ากุ้งไทยถูกสหรัฐฯนำไปใส่ไว้ในรายการที่เชื่อว่าใช้แรงงานเด็ก ที่อาจถูกนำมาเป็นประเด็น ห้ามนำเข้ากุ้งไทยในอนาคตได้
3. ค่าเงินบาท –อย่าให้แข็งค่า จนไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้ และ 4. การเปิดเสรีการค้าในกรอบอาฟต้า ซึ่งลดภาษีเป็นศูนย์ 1 ม.ค. 2553 ที่จะถึง ซึ่งอาจมีการเข้ามาของสินค้ากุ้งจากปท.อื่น มาส่งออกในชื่อของสินค้าไทยนั้น เรื่องนี้อยากฝากภาครัฐให้มีการตรวจสอบสินค้านำเข้าอย่างเข้มงวดด้วย เพื่อไม่ให้สินค้ากุ้งไทยที่มีคุณภาพสูง ในด้านความปลอดภัย ที่ได้จากการเลี้ยงการผลิตที่ได้มาตรฐานฯ ในแนวทางเป็นมิตรกับสวล. และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ได้รับผลกระทบ” นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวทิ้งท้าย
ดร. สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย-081-8302448
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ -เลขาธิการสมาคมฯและประธานชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี 081-9566611
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit