กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--บีโอไอ
บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนแก่ 2 โครงการในภูเก็ต ลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือผลิตอุปกรณ์การแพทย์นวัตกรรมใหม่ และท่าจอดเรือท่องเที่ยว รวมมูลค่าเงินลงทุน 156 ล้านบาท ด้านเอกชนเล็งจับมือวิทยาลัยอาชีวะศึกษาภูเก็ต ผลิตบุคลากรด้านเครื่องมือแพทย์
นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาโครงการได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการที่เข้าไปลงทุนในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 2 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 156 ล้านบาท โดยเป็นกิจการที่เกี่ยวกับการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ
กิจการแรกเป็นการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัท ภูเก็ต โออีเอ็ม จำกัด มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 76 ล้านบาท ผลิต เซอร์จิคัล เมส (Surgical Mesh) ซึ่งเป็นวัสดุที่ใส่ไว้ภายในจุดที่ผ่าตัด เพื่อช่วยสมานแผล ทำให้คนไข้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยวัสดุดังกล่าวจะมีคุณสมบัติพิเศษ ละลายเป็นเนื้อเดียวกันอยู่ภายในร่างกายได้โดยไม่มีอันตราย มีกำลังการผลิตปีละประมาณ 250,000 ชิ้น ซึ่งโครงการดังกล่าวนับเป็นผลสำเร็จจากการนำเอาใยสังเคราะห์ที่ได้จากการวิจัยพัฒนาของบริษัทจากประเทศสวีเดน มาพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้บริษัทภูเก็ต โออีเอ็ม จำกัด ยังได้ร่วมมือกับวิทยาลัยอาชีวะศึกษาภูเก็ต เพื่อนำหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเครื่องมือแพทย์ บรรจุอยู่ในโปรแกรมการสอน เพื่อผลิตบุคลากรด้านนี้โดยเฉพาะหากนักศึกษาจบหลักสูตรตามเกณฑ์ที่กำหนด บริษัทจะรับเข้าทำงานทันที ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดี สำหรับการพัฒนาบุคลากรทางด้านการผลิตเครื่องมือแพทย์ในประเทศไทย เพื่อรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องมือแพทย์ที่ประเทศไทยยังขาดแคลนอีกมาก
“ที่ผ่านมา ยังไม่มีผู้ใดได้รับส่งเสริมการผลิตวัสดุดังกล่าวที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับโครงการนี้ จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่บริษัทเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งรูปแบบของโครงการนั้น นอกจากจะเป็นการเข้ามาลงทุนเพื่อทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว ยังเป็นโอกาสที่สำคัญของสถาบันการศึกษาไทยที่จะได้พัฒนาแนวทางการศึกษา และผลิตบุคลากรไทย เพื่อป้อนให้ตรงกับความต้องการของตลาดอุตสาหกรรมด้านการผลิตเครื่องมือแพทย์ ให้มีเพิ่มขึ้นอีกด้วย ” นางหิรัญญา กล่าว
นอกจากนี้ที่ประชุมยังส่งเสริมการขยายกิจการลงทุนแก่บริษัท ภูเก็ตโบ๊ทลากูน จำกัด ให้บริการที่จอดเรือท่องเที่ยว เงินลงทุนทั้งสิ้น 80 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการพื้นที่จอดเรือประเภทต่างๆ เช่น เรือสำหรับท่องเที่ยว เรือสปีดโบ๊ท และลูกค้าเรือยอชต์ ที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี และสถานที่จอดเรือแก่ลูกค้าในจังหวัดภูเก็ตมีไม่เพียงพอ โดยปัจจุบันมีลูกค้าเรือยอชต์ที่เข้ามาจอดประมาณ 1,000-1,500 ลำต่อปี และใช้เวลาอยู่ในพื้นที่เฉลี่ยลำละประมาณ 60 วัน
รูปแบบของโครงการจะให้บริการที่จอดเรือท่องเที่ยวได้เพิ่มขึ้น อีก 80 ลำ จากที่บริษัทได้ลงทุนในกิจการดังกล่าวมาแล้ว 2 โครงการ ให้บริการที่จอดเรือแล้ว 250 ลำ และที่พัก 116 ห้อง โดยกิจการที่ได้รับส่งเสริมใหม่จะครอบคลุมการให้บริการทั้งบนบกและในน้ำ รวมถึงการจัดสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น รถเครนยกเรือ โรงเหล็ก สำหรับซ่อมแซมอุปกรณ์ที่เป็นเหล็ก และสเตนเลส โรงซ่อมบำรุงเรือ รวมถึงการให้บริการน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำจืด และไฟฟ้า เป็นต้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit