กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--สถาบันอาหาร
สถาบันอาหารชี้อุตสาหกรรมปลาร้าไทยยังต้องเผชิญอุปสรรคเรื่องมาตรฐานการผลิต ความสะอาดและความปลอดภัย แนะต้องควบคุมคุณภาพ ขั้นตอนการผลิต และบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดต่างประเทศที่เข้มงวดเรื่องสุขอนามัย เผยยอดส่งออกไม่รุ่งได้แค่ปีละ 20 ล้านบาท ขณะที่ตลาดในประเทศมูลค่าสูงถึง 800 ล้านบาทต่อปี
นายอมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เผยว่า จากการสำรวจของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและมาตรฐานแห่งชาติ(มกอช.) เพื่อทำการวิจัยข้อมูลการบริโภคอาหาร ระบุว่า จากประชากรไทยกว่า 63 ล้านคน จะมีอัตราการบริโภคปลาร้าดิบเฉลี่ย 1.15 กรัม/คน/วัน หรือ 419.75 กรัม/คน /ปี และถ้าคิดเป็นปริมาณการบริโภคทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 26,000 พันตัน/ ปี ของประชากรทั้งประเทศ มีมูลค่าการจำหน่ายในประเทศสูงถึง 800 ล้านบาท ต่อปี และมีมูลค่าการส่งออกสูงถึงปีละ 20 ล้านบาท
“สำหรับอุตสาหกรรมผลิตปลาร้าเพื่อส่งออกและจำหน่ายในประเทศนั้น ปัจจุบันมีโรงงานขนาดใหญ่รวมไปถึงระดับอุตสาหกรรมครอบครัวมากกว่า 300 แห่ง ตลาดหลักของปลาร้าคือ ตลาดในประเทศ สำหรับตลาดต่างประเทศนั้นได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และประเทศในตะวันออกลาง โดยสหรัฐอเมริกานั้น เป็นตลาดใหญ่ที่สุดแต่มีปัญหามากที่สุด เพราะเข้มงวดเรื่องความสะอาด ปลอดภัยของสินค้าประเภทอาหารที่จะนำเข้าปลาร้าไทยจึงเข้าประเทศนี้ได้น้อย การส่งออกปลาร้าไปต่างประเทศนั้น นอกจากต้องคำนึงถึงเรื่องความสะอาดแล้ว บรรจุภัณฑ์ต้องเหมาะสมป้องกันกลิ่นได้ดีและต้องแน่นหนาแข็งแรงพอ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระหว่างการขนส่ง ราคาขายในต่างประเทศจะสูงขึ้นไม่ต่ำกว่า 1 เท่าตัว สำหรับผู้บริโภคในต่างประเทศนั้นประกอบไปด้วยคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้นๆ และกลุ่มผู้อพยพจาก อินโดจีน เช่น ลาว เขมร และเวียดนาม”
แม้ว่าผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศจะมีความต้องการปลาร้า แต่อุปสรรคที่ไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้มากเท่าที่ควรส่วนหนึ่งอาจเป็นปัญหาจากด้านความสะอาดและสุขอนามัย เนื่องจากปลาร้าเป็นสินค้าประมงแปรรูปโดยการหมักดองที่ต้องเข้มงวดในเรื่องของการผลิต การบรรจุ ที่มีความปลอดภัยรวมทั้งการตรวจสอบคุณภาพที่เข้มงวดเป็นพิเศษ จึงอาจส่งผลให้การส่งออกในรูปแบบปลาร้าดิบยังไม่สามารถทำตลาดในต่างประเทศได้มากเท่ากับผลิตภัณฑ์ปลาร้ารูปแบบอื่นๆ เช่น ปลาร้าผง ปลาร้าก้อน หรือน้ำพริกปลาร้า ที่บรรจุในรูปแบบแห้ง หรือกึ่งเหลวกึ่งแห้ง ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยได้ง่ายกว่าแบบน้ำ และสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น
นอกจากนี้อุปสรรคสำคัญในการส่งออกปลาร้าคือ ขั้นตอนการขออนุญาตส่งออกนั้นค่อนข้างยุ่งยาก ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกยังอยู่ภายใต้พิกัดน้ำปลาหรือสิ่งปรุงรสอื่นๆ เนื่องจากผู้นำเข้าในต่างประเทศยังมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อปลาร้า โดยเฉพาะในเรื่องสุขอนามัยในขั้นตอนการผลิต ซึ่งในเรื่องนี้คงต้องอาศัยเวลาในการแก้ไขความเข้าใจให้ถูกต้องต่อไปและต้องการความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่นในกรณีการส่งปลาร้าไปยังตลาดสหภาพยุโรปจะต้องได้รับใบรับรองจากกรมประมงก่อน และมีบัญชีรายชื่อที่สหภาพยุโรปให้การรับรอง เมื่อมีการส่งออกจะต้องมีใบรับรองสุขอนามัยจากกรมประมงอีกด้วย
อย่างไรก็ตามจากปัญหาเรื่องการพบสารฆ่าแมลงในปลาร้าตามที่เป็นข่าวนั้น นายอมร กล่าวว่า จากการศึกษาแหล่งที่มาของยาฆ่าแมลง พบสาเหตุ 3 ประการ ประการแรก มาจากแหล่งน้ำเกิดจากการใช้ยาฆ่าแมลงกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรสารเหล่านั้น เมื่อฝนตกไหลตกลงสู่แหล่งนํ้าอันเป็นที่อยู่อาศัยของปลา ซึ่งในลักษณะนี้มีความเป็นไปได้น้อยที่สุด ประการที่ 2 มาจากกระบวนการผลิตเนื่องจากผู้ผลิตฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเพื่อป้องกันและขับไล่แมลงวัน ระหว่างที่นำไปตากแดด และประการสุดท้าย มาจากพ่อค้าแม่ค้าฉีดยาฆ่าแมลง ระหว่างที่วางจำหน่ายเพื่อป้องกันแมลงวันมาตอมและวางไข่ ซึ่งสาเหตุ 2 ประการหลังนี้มีความเป็นไปได้สูงสุด
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit