เผยโฉมผู้แทนประเทศไทยไปแข่งเคมีโอลิมปิก

02 Jul 2009

กรุงเทพฯ--2 ก.ค.--สสวท.

การแข่งขันเคมีโอลิมปิกระหว่างประเทศในปีนี้ จัดวันที่ 18-27 กรกฎาคม 2552 ณ เมืองอ๊อกฟอร์ด ประเทศอังกฤษ โดยมีผู้แทนประเทศไทยเดินทางไปร่วมการแข่งขัน จำนวน 4 คน

นายพชรพล สินชัยโรจน์กุล (หุ้น) ชั้น ม. 5 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ กล่าวว่า ได้รับแรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ จึงอยากทำอะไรเพื่อประเทศชาติบ้าง ในส่วนของเคมีถนัดทางทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ เนื่องจากสามารถทุ่มเทความคิดทั้งหมดได้อย่างเต็มที่ และมีโอกาสผิดพลาดจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันน้อยกว่า “รู้สึกกดดันเล็กน้อย แต่ก็พยายามทำให้ดีที่สุด แน่นอนว่าต้องหวังเหรียญทองอยู่แล้วครับ แต่ถ้าไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ตอนนี้ก้หมั่นฝึกโจทย์ หาความรู้เพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงวันแข่งครับ”

นางสาวพิณนรี เตี่ยมังกรพันธุ์ (พินพิน) ชั้น ม. 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เข้าเป็นนักเรียนโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ตอนนั้นได้พบปะพูดคุยกับรุ่นพี่ที่เป็นผู้แทนประเทศไทยโอลิมปิกวิชาการก็รู้สึกประทับใจ จึงเห็นรุ่นพี่เป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ความถนัดและความสามารถที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติตั้งแต่อายุยังน้อย พอขึ้นชั้นมัธยมศึกษาก็มีเพื่อน ๆ และรุ่นพี่เข้าโครงการโอลิมปิกวิชาการกันมาก ก็เป็นแรงบันดาลใจให้อีกทางหนึ่ง

“ดีใจที่ได้รับโอกาสอันดีนี้ แต่ก็รู้สึกถึงความรับผิดชอบ ความกดดันก็มีบ้าง แต่พยายามให้ความกดดันไม่มีผลกระทบต่อการใช้ศักยภาพของตัวเอง มีการเตรียมตัวด้านวิชาการ อ่านหนังสือ ทบทวนความรู้เก่า ค้นคว้าความรู้ใหม่เพิ่มเติม ฝึกทำแลป ด้านสุขภาพได้รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมใจด้วยการฝึกตนเองให้มีสติและสมาธิอยู่เสมอ บอกตัวเองว่าอย่าทำให้ดีที่สุด แต่อย่าเครียด คุยกับเพื่อนและอาจารย์ในทีม ช่วยเหลือกัน ให้กำลังใจกันและกัน และพยายามให้มีเสียงหัวเราะเข้าไว้” นางสาวศศิลดา ศิริรุ่งเรือง (พาย) เพิ่งจบชั้น ม. 6 จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และรับทุนศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาด้านเคมีที่สหรัฐอเมริกา เล่าว่า ชอบเรียนทั้งเคมี ฟิสิกส์ และภาษาอังกฤษ แต่ที่เลือกเรียนเคมีเพราะชอบมากที่สุด และเรียนได้ดีกว่าวิชาอื่นด้วย ที่ชอบเคมี เพราะธรรมชาติของวิชานี้อธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล ทุกอย่างมีที่มาที่ไป และการเรียนวิชานี้ทำให้ต้องใช้จินตนาการ ถึงมองไม่เห็นแต่ต้องมองให้ออก

เมื่อได้มาเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ น้องพายประทับใจหลายอย่าง เริ่มตั้งแต่อาจารย์ผู้สอนทุกท่านที่ทุ่มเทมาก ๆ ทำให้ตลอดเวลาในค่ายเต็มไปด้วยความรู้ใหม่ ๆ และได้พบเพื่อน ๆ ที่สนใจเรื่องเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ นับว่าเป็นโอกาสที่หาไม่ได้ง่าย ๆ

“รู้สึกดีใจที่ได้เป็นผู้แทนประเทศไทย แต่ก็กดดันมาก ๆ โดยเฉพาะแรงกดดันจากตัวเอง กลัวว่าจะทำไม่ได้ดีเท่ากับรุ่นพี่เคยทำไว้ ก็เตรียมพร้อมโดยพยายามอ่านหนังสือและทำแบบฝึกหัดเยอะๆ ค่ะ”

นายอลิฟ น้อยคำ (อลิฟ) ชั้น ม. 6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เล่าว่า ตอนอยู่ ม. 3 เป็นช่วงเวลาที่ควรอ่านหนังสือเตรียมสอบเข้า ม. 4 แต่ตนเองนั้นอยู่ในสภาพเด็กติดเกม ผมกับคอมพิวเตอร์ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ แต่พอเล่นเกมไป ก็เริ่มรู้สึกเพื่อกับการที่จะต้องมานั่งอยู่กับสิ่งที่ไม่มีตัวตนอยู่ทั้งนั้น

จึงเลิกเล่นเกม และจากนั้นมา ก็ไม่เคยติดเกมอีกเลย อลิฟบอกว่า “จริงๆ แล้วไม่ค่อยชอบการแข่งขัน ไม่ค่อยได้ออกไปแข่งขัน แต่การที่ได้เข้าโครงการโอลิมปิกวิชาการเป็นเพราะสนใจวิทยาศาสตร์ แล้วติดตามเพื่อน ๆ มาสมัครด้วยกัน จนได้เป็นผู้แทนประเทศไทย ฯ ก่อนไปแข่งขันฝึกทำโจทย์ ก่อนไปแข่งขันเตรียมตัวโดยฝึกทำโจทย์และอ่านหนังสือเท่าที่อยากทำ เพราะได้ฝึกฝนอย่างเต็มที่มา 2 ปีครึ่งแล้ว” หนุ่มน้อยคนนี้ ชอบภาคปฏิบัติการกรือการทำแลปมากกว่าทฤษฎี เพราะไม่ต้องนั่งอยู่กับที่นาน ๆได้ขยับตัว เดินไปเดินมา แต่อย่างไรก็ตามทฤษฎีก็ยังต้องใช้เป็นพื้นฐานของการทำแลปอยู่ดี

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net