รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังมอบนโยบายกรมบัญชีกลาง และเร่งเตรียมการรองรับแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง

21 Jul 2009

กรุงเทพฯ--21 ก.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง

รมช. คลัง ประชุมผู้บริหารกรมบัญชีกลาง ติดตามผลการปฏิบัติงานอย่างใกล้ชิด และมอบนโยบายสำคัญโดยเฉพาะการเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ และการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ต่างๆ รวมทั้งเตรียมการรองรับโครงการไทยเข้มแข็ง และการใช้งบประมาณปี 2553 โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ เป็นหลักสำคัญ

นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังประชุมผู้บริหารกรมบัญชีกลางเพื่อติดตามผลการปฏิบัติงานและมอบนโยบาย เมื่อวันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม 2552 ว่า นับแต่

ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานของกรมบัญชีกลาง ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางมีภารกิจที่สำคัญหลายด้านโดยเฉพาะการกำกับดูแลการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ การบริหารเงินคงคลัง ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้ รวมถึงการกำหนดกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ต่างๆ ให้ส่วนราชการถือปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณด้วย จึงได้มอบนโยบายที่สำคัญๆ ไว้หลายเรื่อง เช่น

1. การเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 มีเป้าหมายต้องเบิกจ่ายงบประมาณในภาพรวมร้อยละ 94 ของวงเงินงบประมาณ 1.835 ล้านล้านบาท และงบลงทุนร้อยละ 74 ของงบประมาณรายจ่ายลงทุนของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ จนถึงวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 มีการเบิกจ่ายแล้วจำนวน 1.297 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 70.73 และคาดว่าจนถึงสิ้นปีจะสามารถเบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ รวมถึงงบประมาณเพิ่มเติมอีกจำนวน 1.1 แสนล้านบาท ก็ได้มีการเบิกจ่ายในโครงการสำคัญ ๆ ตามนโยบายรัฐบาลเป็นจำนวนมากแล้ว โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีรายได้น้อย

โดยจ่ายเป็นเช็คช่วยชาติ จนถึงปัจจุบันมีผู้รับเช็ค นำเงินไปขึ้นเงินแล้วจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท คงเหลืออีกจำนวน 526,684 ราย ที่ยังไม่ขึ้นเงิน และขณะนี้ก็ได้มอบหมายให้เร่งดำเนินการประเมินผลว่าสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากน้อยเพียงใด บุคลากรภาครัฐและประชาชนมีความพึงพอใจหรือไม่

2. การเร่งแก้ไข ปรับปรุง กำหนด กฎ ระเบียบ ต่าง ๆ โดยที่มีกฎหมายหลายฉบับผ่านการพิจารณาจาก ครม. แล้ว อยู่ระหว่างการบัญญัติกฎหมาย ก็กำชับให้ติดตามว่าจะสามารถเร่งรัดกฎหมายใดเพื่อดำเนินการต่อไปได้ โดยให้พิจารณาถึงประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ มีกฎหมายหลายฉบับที่สำคัญซึ่งต้องผลักดันให้มีผลบังคับใช้ต่อไป เช่น ร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เป็นต้น

3. การดูแลทุกข์สุขเกี่ยวกับสวัสดิการ ความเป็นอยู่ของบุคลากรภาครัฐ และประชาชน เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สามารถครองชีพได้ในสภาวะการต่าง ๆ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ เช่น ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาล การช่วยเหลือผู้รับบำนาญซึ่งเป็นผู้สูงอายุ เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย และดูแลด้านสุขภาพพลานามัยของคนในครอบครัวด้วย

4. การช่วยเหลือภาคเอกชน ในฐานะผู้ประกอบการที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ได้รับการปฏิบัติจากหน่วยงานภาครัฐด้วยความยุติธรรมเท่าเทียมกัน มีความโปร่งใส โดยการพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) ซึ่งผู้ประกอบการและประชาชนสามารถเข้าสู่ระบบเพื่อติดตามการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างได้ทุกขั้นตอน และเร่งหาแนวทางปรับปรุงการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction) ให้แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้

“สุดท้าย นโยบายที่สำคัญของรัฐบาล คือ ต้องเตรียมมาตรการรองรับเกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว รวมถึงงบประมาณสำหรับโครงการลงทุนภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ ระยะที่ 2 (Stimulus Package 2 : SP2) หรือแผนปฏิบัติการ ไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งมีวงเงินรวมถึง 1.43 ล้านล้านบาท และในระยะที่ 2 ปีงบประมาณ

พ.ศ. 2553 นี้ จะมีวงเงินสำหรับการลงทุนทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ประมาณ 4.5 แสนล้านบาท ซึ่งต้องดูแลเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินให้เกิดความคุ้มค่าและเป็นประโยชน์สูงสุด” นายแพทย์พฤฒิชัย ดำรงรัตน์ กล่าว