กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งชี้ขยะในทะเลส่งผลกระทบมหาศาล ต้องจัดระบบการจัดการขยะบนบกให้ดี จะส่งผลต่อการลดขยะในทะเลได้ เร่งรณรงค์กระตุ้นกระแสการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลในประเทศไทย และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดขยะโดยเฉพาะพลาสติกต่อทะเล โดยร่วมกับสมาคมกรีนฟินส์ และสยามโอเชี่ยนเวิลด์ จัดกิจกรรมรณรงค์การดำน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประกวดสื่อสร้างสรรค์ ในงานวันทะเลโลก 8 มิถุนายน 2552 ณ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสยามโอเชี่ยนเวิลด์ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ปัจจุบันปัญหาขยะในทะเลเป็นปัญหาสำคัญระดับสากล ขยะทะเลมาจากแหล่งสำคัญ คือ ทะเล เช่น การขนส่งทางเรือ เรือสำราญและเรือท่องเที่ยว ประมงชายฝั่ง แท่งขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ และชายฝั่ง เช่น จากแหล่งอุตสาหกรรมบริเวณชายฝั่ง การขนส่งจากแม่น้ำบริเวณชายฝั่ง ของเสียที่ปล่อยมาจากบ้านเรือน จากการท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่ง
จากรายงานปี 2007 ของ COBSEA (Coordinating Body on the Seas of East Asia) ระบุว่ามีปริมาณขยะมากถึง 6.4 ล้านตัน/ปี (1,800 ตัน/วัน) โดยขยะทะเล 8 ล้านตัน ถูกทิ้งลงสู่ทะเลทุกวัน ซึ่งในจำนวนนี้ ประมาณ 5 ล้านตัน มาจากกิจกรรมในทะเล ขยะทะเลที่ล่องลอยอยู่ในทะเลเป็นพวกพลาสติก 89% หรือมีขยะพลาสติกประมาณ 46,000 ชิ้น/ตารางไมล์ ซึ่งคิดเป็น 3 เท่าของปริมาณปลาที่จับได้ นอกจากนี้ยังมีการประมาณว่าทุกๆ ตารางกิโลเมตรของทะเลมีขยะประเภทเศษพลาสติกลอยอยู่มากกว่า 13,000 ชิ้น
ที่ผ่านมา กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้สำรวจพบว่าขยะทะเลได้ส่งผลกระทบหลายด้าน ทั้งต่อระบบนิเวศ ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนและเกิดการแพร่กระจายของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ต่อเศรษฐกิจ สร้างความเสียหายให้กับเรือและเครื่องมือประมง ส่งผลต่อจำนวนสัตว์น้ำและการประมง ทำให้เกิดการสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ต่อการท่องเที่ยว ทำลายทัศนียภาพที่สวยงาม ทำให้คุณค่าของแหล่งท่องเที่ยวลดลง และต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์ทะเลและมนุษย์ได้รับบาดเจ็บจากขยะบริเวณชายหาด จากการกินหรือติดบริเวณทางเดินอาหาร หรืออาจได้รับสารพิษจากขยะเหล่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาทางทะเลและทางด้านเคมีได้วิจัยเกี่ยวกับการปนเปื้อนบริเวณชายฝั่งทะเล พบพลาสติกที่มีขนาดเล็กปนเปื้อนอยู่ทั่วไปทั้งในทะเลและบริเวณชายฝั่ง ชิ้นส่วนพลาสติกนั้นจะพบทั้งในบริเวณชายหาดและดินตะกอนในมวลน้ำ และยังพบว่าเพรียงทะเลและหนอนทะเลได้กินชิ้นส่วนของพลาสติกเข้าไป และมีแนวโน้มว่าจะมีขยะประเภทพลาสติกนี้เพิ่มขึ้น ทำให้มีการปนเปื้อนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อชุมชน ได้แก่ ผลกระทบที่เกิดจากการทำการประมง น้ำเสียจากโรงงาน การปนเปื้อนจากสารซักฟอก การปนเปื้อนบริเวณอ่าวที่มีการทำการพาณิชย์ทางทะเล การปนเปื้อนบริเวณชายฝั่งที่เกิดจากแหล่งปศุสัตว์ ผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และผลกระทบต่อสุขอนามัยของมนุษย์
สำหรับประเทศไทย ขยะในทะเลก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นโดยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และระบบนิเวศแนวปะการังอย่างมาก บ่อยครั้งที่สัตว์ทะเลโดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายากได้รับบาดเจ็บจากขยะเหล่านี้ หรือเข้าใจผิดกินขยะเข้าไปและตาย ทางการท่องเที่ยวนั้น พบว่าบริเวณชายหาดท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น เกาะลันตา จ.กระบี่ หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต ชายหาดพัทยา ชายหาดบางแสน จ.ชลบุรี มีขยะทะเลสะสมอยู่มาก โดยเฉพาะพวกเศษพลาสติก การแก้ไขปัญหาดังกล่าวกระทำโดยการเก็บ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างกัน เช่น บางแห่งไม่มีการเก็บเลย บางแห่งมีการรณรงค์ให้มีการเก็บขยะบริเวณชายหาดเป็นประจำโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับประชาชน นักเรียน หรือบางแห่งโดยเฉพาะที่อยู่บริเวณหน้าโรงแรมเอกชนจะมีเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดบริเวณชายหาดหน้าโรงแรมทุกวัน และบางแห่งพบว่ามีนักท่องเที่ยวที่มีจิตสำนึกเดินเก็บขยะบริเวณชายหาดเป็นประจำอีกด้วย
ในปี พ.ศ.2551 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ร่วมกับนักดำน้ำอาสาสมัครและองค์กรต่างๆ เก็บขยะทะเล ได้จำนวน 22 ตัน จากแหล่งดำน้ำต่างๆ ทั่วประเทศ ขยะทะเลที่พบบริเวณแนวปะการังมากที่สุดคือขยะจำพวกเครื่องมือประมง รองลงมาคือพวกโลหะ และอื่นๆ เช่น ยางรถยนต์
ในปีนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้ร่วมลงนามข้อตกลงความร่วมมือในการรณรงค์ “โครงการ 45 วัน รวมพลังลดถุงพลาสติกลดโลกร้อน” โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด รวม 22 ศูนย์การค้า และอีก 2 หน่วยงานรัฐ จะบันทึกปริมาณการใช้ถุงพลาสติกตลอดระยะเวลาโครงการ จำนวน 45 วัน คือตั้งแต่ 22 เมษายน ซึ่งถือเป็นวันคุ้มครองโลก หรือ Earth Day ไปจนถึงวันสิ่งแวดล้อมโลก หรือ World Environment Day ซึ่งตรงกับวันที่ 5 มิถุนายน 2552
สำหรับการลดขยะในทะเลนั้น กรมทรัพยากรทางทะเลแลชายฝั่ง ได้ร่วมกับสมาคมกรีนฟินส์ และสยามโอเชี่ยนเวิลด์ จัดกิจกรรมรณรงค์การดำน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประกวดสื่อสร้างสรรค์ โดยมีการประกาศผลและมอบรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศการประกวดสื่อสร้างสรรค์ และการเสวนาในเรื่อง ” วิกฤติขยะทะเลไทย” ในงานวันทะเลโลก 8 มิถุนายน 2552 ณ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสยามโอเชี่ยนเวิลด์ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน
นางสาวกาญจนา อดุลยานุโกศล นักวิชาการประมงชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาดังกล่าว เปิดเผยว่า ขยะในทะเลส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายากทุกตัว ไม่ว่าจะเป็น วาฬ โลมา พะยูน เต่าทะเล โดยเฉพาะเต่าทะเลจะพบมากที่สุด ขยะส่วนใหญ่จะเป็นประเภทโฟม พลาสติกและเครื่องมือประมง ซึ่งสัตว์ทะเลเหล่านี้จะกินขยะเข้าไปหรือโดนขยะพันลำตัว ทำให้บาดเจ็บ พิการ และตาย
เต่าะทะเลจำนวนมากที่เกยตื้นส่วนใหญ่มักจะมีขยะติดที่ครีบ ซึ่งไม่สามารถแกะหรือสลัดออกเองได้ เมื่อยิ่งว่ายน้ำก็จะยิ่งทำให้แน่นขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ครีบหรือขาหน้าขาด อาจจะขาดเพียงข้างเดียวหรือ ทั้งสองข้าง บางครั้งพบว่ามีเศษอวน เอ็นเล็ก ๆ ที่มีความคมพันคอเต่าจนขาดหรือตัดเส้นเลือดจนคอเกือบขาด และที่พบบ่อยที่สุดก็คือการที่เต่าทะเลกินเศษโฟมหรือพลาสติกเพราะคิดว่าเป็นอาหารจนเข้าไปอุดตันลำไส้และตายในเวลาต่อมา
นางกาญจนา เปิดเผยต่อไปว่า เคยพบว่ามีวาฬกินเศษพลาสติกเข้าไปหลายอย่าง ทั้งถุงดำ กล่องและขวดพลาสติก ถุงขนม หนักรวมกันถึง 1.6 กิโลกรัม ซึ่งขยะจำนวนมากขนาดนี้ย่อมไปอุดตันสำไส้และทำให้ตายแน่นอน หรือเมื่อเร็ว ๆ นี้พบโลมาปากขวดตายเพราะติดอวนทั้งผืน ซึ่งมีขนาดใหญ่มากถึง 45 เมตร พันลำตัวจนทำให้โลมาไม่สามารถว่ายน้ำขึ้นมาหายใจได้และตายในที่สุด นอกจากนี้ยังมีขยะปริมาณมากใต้ทะเลซึ่งทำให้สัตว์ทะเล อย่างเช่นวาฬขนาดใหญ่หลายชนิดตายไปแต่ไม่ได้เกยตื้นขึ้นมาให้เห็น
ทั้งนี้ ที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้มีภารกิจหลักที่ทางกลุ่มสัตว์ทะเลหายากของสถาบันวิจัยฯ ดำเนินการมาโดยตลอด ก็คืองานของหน่วยช่วยชีวิตสัตว์ทะเล ซึ่งกรมฯ ตั้งขึ้นเพื่อดูแลและช่วยเหลือสัตว์ทะเลที่ป่วยหรือได้รับบาดเจ็บจากสาเหตุต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเครื่องมือทำการประมงได้อย่างทันท่วงที ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของสัตว์ทะเล โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหายาก เช่น พะยูน เต่าทะเล วาฬ โลมา เป็นต้น โดยหน่วยดังกล่าวจะทำหน้าที่ดูแลและปฐมพยาบาลเบื้องต้นให้แก่สัตว์ทะเล ที่ป่วย ก่อนที่จะส่งไปยังศูนย์/สถานีที่มีความชำนาญในการดูแลสัตว์ทะเลต่อไป
สัตว์ทะเลที่มาเกยตื้น หากไม่ได้มีบาดแผลหรือไม่ได้เจ็บป่วย ทางหน่วยช่วยชีวิตสัตว์ทะเลก็จะช่วยเหลือจนนำออกสู่ทะเลได้ แต่ส่วนใหญ่ที่บาดเจ็บและป่วยจะมีอัตราการรอดชีวิตต่ำ ในทะเลฝั่งอันดามันบริเวณ จ.ภูเก็ต พังงา และกระบี่ จะมีสัตว์ทะเลเหล่านี้มาเกยตื้นประมาณ 40 ตัว/ปี และพบว่ามากกว่า 70% เป็นสัตว์ทะเลที่บาดเจ็บและตายจากเศษอวน เครื่องมือประมง และขยะโดยเฉพาะพลาสติก หน่วยช่วยชีวิตสัตว์ทะเล จะมีหน่วยรถพยาบาลเคลื่อนที่ ภายในรถจะมีอุปกรณ์และเครื่องมือในการช่วยเหลือสัตว์ทะเลครบครัน ไม่ว่าจะเป็น ถังออกซิเจน เครื่อง X-Ray เป็นต้น พร้อมกับสัตวแพทย์ประจำหน่วยเพื่อให้การรักษาแก่สัตว์ทะเลที่ป่วยได้ทันที ทั้งนี้ กรมฯ ได้จัดทำบ่อน้ำปลอดเชื้อ เพื่อรับสัตว์น้ำที่ป่วยเข้ามาดูแลต่อภายในบ่อที่ปลอดเชื้อ เพราะสัตว์ทะเลที่ป่วยส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตเนื่องจากการติดเชื้อ จนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ ซึ่งในปัจจุบัน หน่วยช่วยชีวิตสัตว์ทะเล ที่พร้อมที่จะออกให้บริการและช่วยเหลือสัตว์ทะเลที่เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บได้อย่างทันท่วงที ทางฝั่งอันดามันประจำที่สถาบันวิจัยฯ จ.ภูเก็ต ส่วนฝั่งอ่าวไทย ประจำที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลอ่าวไทยฝั่งตะวันออก จ.ระยอง แต่ในพื้นที่อื่น ๆ ยังไม่มีความพร้อมมากพอ เป็นปัญหาสำคัญ เนื่องจากงบประมาณจำกัด และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญยังน้อยมาก
“สิ่งสำคัญที่จะช่วยลดขยะในทะเลก็คือไม่ทิ้งขยะลงทะเล นั่นก็คือลดขยะบนบก หลายประเทศที่ประชากรมีความรู้จะมีระบบการจัดการขยะบนบกที่ดี ซึ่งจะลดขยะในทะเลได้ ที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รณรงค์เกี่ยวกับเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งในประเทศไทยควรจะมีระบบการจัดการขยะที่ดี โดยควรประชุมหารือกันหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งด้านการประมง การท่องเที่ยว โรงเรียน ชุมชนชายฝั่ง โดยมีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นเจ้าภาพ เพื่อจัดระบบการจัดการขยะจากบนบกถึงทะเลให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบต่าง ๆ ได้อย่างมากเลยทีเดียว” นางสาวกาญจนา กล่าว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
กลุ่มสื่อสารองค์กร www.dmcr.go.th
โทรศัพท์/โทรสาร ๐ – ๒๑๔๑ – ๑๓๐๐
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit