กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--พันธวณิช
ผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่มพันธมิตรผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์เสนอแนวทางแก้ไขระเบียบการจัดซื้อออนไลน์ภาครัฐ พ.ศ. 2549 ที่เป็นอุปสรรคต่อการประมูลเพื่อรักษาผลประโยชน์ของการประมูลภาครัฐ โดยมุ่งประเด็นไปที่การปรับปรุงระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อภาคเอกชน การจำกัดวงเงินสำหรับการประมูล และมาตรการเสริมสร้างความโปร่งใสให้กับการประมูลออนไลน์ภาครัฐ
สืบเนื่องจากที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ) มีการหารือในเรื่องการแก้ไขระเบียบอีออคชั่น โดยมีการเสนอแนะให้ยกเลิกการใช้ระเบียบอีออคชั่นที่เกี่ยวกับงานการประมูลก่อสร้าง เนื่องจากพบว่าระเบียบดังกล่าวเป็นอุปสรรคต่อการประมูลงานของภาคเอกชน และภาครัฐยังได้รับงานที่ไม่มีคุณภาพจากการประมูล ทำให้กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 11 บริษัท ซึ่งประกอบด้วย บริษัท พันธวณิช จำกัด บริษัท ป๊อป เนทเวอร์ค จำกัด บริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด บริษัท ดาต้าแมท จำกัด (มหาชน) บริษัท ซอฟแวร์ลิ้งค์ จำกัด บริษัท ฟรีอินเตอร์เน็ท จำกัด บริษัท อินเทลลิเจนท์ โซลูชั่น แอนด์เซอร์วิส จำกัด บริษัท นิวตรอน การประมูล จำกัด บริษัท สเปซไวร์ จำกัด บริษัท สวนกุหลาบ เซอรารี่ชีล จํากัด และบริษัท ไอ ซี เอ็น ซิสเต็ม จำกัด จัดประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นปัญหาดังกล่าว และมีมติร่วมกันเกี่ยวกับข้อเสนอแนะ 4 ประเด็นหลักในการแก้ไขปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อออนไลน์ที่ภาครัฐควรจะดำเนินการ
ประเด็นแรกคือ ระเบียบที่ว่าด้วยการการยืดหลักประกันซองจากผู้มีสิทธิเสนอราคาในการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549
คุณปิยะ พิริยะโภคานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นิวตรอน การประมูล จำกัด กล่าวว่า “ทางกลุ่มผู้ให้บริการตลาดกลางอิเล็กทรอนิกส์ได้เสนอให้กรมบัญชีกลางแยกหลักประกันซองออกเป็น 2 ส่วนคือ ค่าปรับในการผิดเงื่อนไขการเสนอราคา และการยึดหลักค้ำประกันซอง โดยให้หน่วยงานผู้ซื้อเก็บค่าปรับเป็นมูลค่า 10 เท่าของค่าธรรมเนียมการบริการประมูลในกรณีที่ผู้มีสิทธิเสนอราคาไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลได้ และโดยให้หน่วยงานผู้ซื้อยึดหลักค้ำประกันซองในกรณีที่ ผู้เสนอราคาทำผิดพลาดร้ายแรง อาทิ ไม่ลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง log in เข้าสู่ระบบแต่ไม่มีการเสนอราคา หรือไม่ลงรายมือชื่อเพื่อยืนยันราคาสุดท้ายในการเสนอราคา เป็นต้น” การแก้ไขระเบียบในประเด็นนี้จะช่วยลดเสียงต่อต้านและการร้องเรียนจากผู้เสนอราคา ในกรณีที่ผู้เสนอราคาบางรายอาจพบกับเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถเข้าร่วมการประมูลไม่ได้ หรืออาจมาสายกว่าระยะเวลาลงทะเบียนที่กำหนดเพียงแค่ 5 นาที ทำให้ถูกริบหลักประกันซองเสนอราคา ซึ่งการถูกริบหลักประกันซองในงานประมูลที่มีมูลค่าสูงมากๆ อาจส่งผลกระทบถึงสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ทำให้ไม่มีเงินสดหมุนเวียนเพื่อดำเนินกิจการต่อไปได้
อีกหนึ่งประเด็นปัญหาที่พบคือ สถานที่เสนอราคาไม่มีห้องเสนอราคาเพียงพอสำหรับผู้ที่มีสิทธิ์เสนอราคา ทาง พ.อ. รังษี กิติญาณทรัพย์ ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พันธวณิช จำกัด ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า “กรมบัญชีกลางน่าจะกำหนดวงเงินสำหรับการใช้สถานที่กลางตั้งแต่วงเงินจัดซื้อ / จัดจ้างที่มีมูลค่าตั้งแต่ 25 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น” การปรับวงเงินสำหรับการใช้สถานที่ปะมูลจะช่วยให้ภาครัฐประหยัดทรัพยากรบุคคลในการเป็นผู้สังเกตุการณ์ประมูล ตลอดจนงบประมาณในการจัดการประมูล อาทิค่าเดินทางและค่าเบี้ยเลี้ยง ได้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ผู้เสนอราคาสามารถเสนอราคาผ่านระบบอินเทอร์เน็ตจากสถานที่ใดก็ได้โดยไม่ต้องเดินทางมายังสถานที่ประมูลแทนซึ่งจะช่วยย่นระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และยังลดโอกาสที่ผู้ค้าจะมาพบกันและทำการสมยอมราคา ณ วันที่ประมูลจากสถานที่เดียวกันได้อีกด้วย
ในประเด็นเกี่ยวกับวงเงินงบประมาณในการประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทางให้กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์พบว่ามีหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานที่ปรับลดงบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเลี่ยงการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอีออกชั่น ดร. โยธิน อนาวิล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ป๊อปเนทเวอร์ค จำกัด กล่าวว่า “กรมบัญชีกลางควรจะพิจารณาปรับ ลดวงเงินงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างขั้นต่ำจาก 2 ล้านบาท ลงมาอยู่ที่ 1 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นให้มีการจัดซื้อจัดจ้างผ่านระบบอีออกชั่นมากขึ้นและสร้างความโปร่งใสในการดำเนินงานให้กับหน่วยงานภาครัฐ” เนื่องจากระบบอีออกชั่นสามารถช่วยลดการทุจริตให้กับภาครัฐ โดยกระทรวงการคลังสามารถควมคุมงบประมาณการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ผ่านข้อมูลที่ได้รับจากรายงานของกรมบัญชีกลาง นอกจากนี้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินยังสามารถตรวจสอบขั้นตอนการประมูลได้ทุกขั้นตอนและมั่นใจได้ว่าหน่วยงานที่ทำการจัดซื้อจัดหาจะปฎิบัติหน้าที่อย่างถูกต้องตามระเบียบ
นอกจากประเด็นดังกล่าวข้างต้นแล้วกลุ่มบริษัทผู้ให้บริการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ยังมีข้อเสนอแนะในส่วนของมาตรการเสริมสร้างความโปร่งใสในการประมูลที่เกี่ยวกับเรื่องของการขายซองประกวดราคาและการยื่นข้อเสนอของผู้ค้า ซึ่งการดำเนินการในเรื่องต่างๆ เหล่านี้หากภาครัฐนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาใช้ในการจัดการก็จะช่วยลดโอกาสที่ผู้เสนอราคาจะมาพบกันและมีการตกลงเรื่องการสมยอมราคากันในภายหลัง
คุณปิยะ กล่าวทิ้งท้ายว่า “ทางกลุ่มหวังว่าข้อเสนอแนะดังกล่าวจะนำไปสู่การแก้ไขระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการประมูล” ทั้งนี้กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะร่วมมือกันนำสรุปข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเพื่อนำเสนอกับทางกรมบัญชีกลางเพื่อพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้ต่อไป
เกี่ยวกับกลุ่มบริษัทผู้ให้บริการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
กลุ่มบริษัทผู้ให้บริการตลาดกลางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ทั้ง 11 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท พันธวณิช จำกัด บริษัท ป๊อป เนทเวอร์ค จำกัด บริษัท บีส ไดเมนชั่น จำกัด บริษัท ดาต้าแมท จำกัด (มหาชน) บริษัท ซอฟแวร์ลิ้งค์ จำกัด บริษัท ฟรีอินเตอร์เน็ท จำกัด บริษัท อินเทลลิเจนท์ โซลูชั่น แอนด์เซอร์วิส จำกัด บริษัท นิวตรอน การประมูล จำกัด บริษัท สเปซไวร์ จำกัด บริษัท สวนกุหลาบ เซอรารี่ชีล จํากัด และบริษัท ไอ ซี เอ็น ซิสเต็ม จำกัด
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
บริษัท พันธวณิช จำกัด
มรกต ทวีศรี
ผู้อำนวยการฝ่ายการประมูลออนไลน์ภาครัฐ
โทรศัพท์ 0 2689 4355
แฟกซ์ : 02-679-9944 e-mail : [email protected]
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit