กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--สสวท.
คณิตศาสตร์มีความหมายโดยทั่วไปว่า การศึกษาเกี่ยวกับการคำนวณ องค์ความรู้ในคณิตศาสตร์รวมกันเป็นสาขาวิชา หลักการเบื้องต้นที่เริ่มจากเลขคณิตไปยังการประยุกต์ใช้งานพื้นฐานของสาขาคณิตศาสตร์ ที่รวมพีชคณิต เรขาคณิต ตรีโกณมิติ สถิติศาสตร์ และแคลคูลัส เป็นหลักสูตรแกนในการศึกษาขั้นพื้นฐาน
คณิตศาสตร์มีแง่งามบางอย่างที่น่าค้นหา เหมือนอย่างที่หนุ่มน้อย 5 คน ที่จะเดินทางไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก ระหว่างวันที่ 10-22 กรกฎาคม 2552 ณ เมืองเบนเมน ประเทศเยอรมนีได้ค้นพบจากการได้รักและเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์อย่างลึกซึ้งเด็กชายนิปุณ ปิติมานะอารีย์ (ดิสนีย์) วัย 14 ปี ชั้น ม. 3 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ชอบวิชาคณิตศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่สนุก เป็นวิชาพื้นฐานของหลาย ๆ วิชา มีความสวยงาม และสามารถต่อยอดไปยังวิชาอื่น ๆ ได้
“เมื่อก่อน ผมเคยทำข้อสอบแล้วเครียดมากที่ทำไม่ได้ จนบางครั้งถึงกับปวดหัว แต่ตอนนี้ผมรู้วิธีแก้แล้วคืออย่าเครียด และทำให้ดีที่สุดพอ เพราะความเครียดไม่ได้ช่วยอะไรเลย ถ้าเราไม่เครียดก็จะเรียนได้อย่างมีความสุข การเตรียมพร้อมก่อนไปแข่งขันก็ทำให้เต็มที่ในตอนนี้ จะได้ไม่เสียใจในห้องสอบว่าเราน่าจะพยายามให้มากกว่านี้ ส่วนเรื่องผลจะเป็นอย่างไรก้ได้ ไม่เครียดครับ ขอแค่ทำให้ดีที่สุดพอ”
นายภควุฒิ จิรดิลก (โปร) วัย 15 ปี ชั้น ม. 4 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ชอบวิชาคณิตศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่มีเหตุผล และมีโจทย์ปัญหาท้าทายความคิดได้เสมอ และสนใจไปแข่งโอลิมปิกวิชานี้ เพราะเป็นหนทางที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเอง
“โครงการนี้มีส่วนช่วยส่งเสริมการเรียนคณิตศาสตร์มาก ทำให้กระตือรือร้น สนใจเรียนคณิตศาสตร์มากขึ้น ดีใจมากที่ได้เป็นผู้แทนประเทสไทย มีความกดดันจากบรรยากาศรอบตัวเป็นปกติ แต่พยายามทำใจให้สงบ ไม่กดดันตัวเอง เตรียมตัวโดยฝึกทำโจทย์มาก ๆ”
นายธนาตย์ คุรุธัช (ม็อด) วัย 15 ปี ชั้น ม. 5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ชอบคณิตศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะเป็นวิชาที่ไม่ต้องจำอะไรมาก ใช้การคิดวิเคราะห์เป็นหลัก และเป็นวิชาที่สนุก ได้แก้โจทย์ปัญหาต่าง ๆ การเตรียมตัวก่อนไปแข่งขันได้ฝึกฝนทำโจทย์สม่ำเสมอ ส่วนการเตรียมใจได้ฝึกนั่งสมาธิเพื่อให้จิดใจสงบนิ่งทุกวัน นายพงศ์ภัค ภูมิวัฒน์ (ภู) วัย 17 ปี ชั้น ม. 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีความสนใจคณิตศาสตร์ตั้งแต่เด็ก เมื่อทราบว่ามีการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกจึงสนใจ เพราะเป็นความรู้ที่แปลกใหม่ และใช้การคิดวิเคราะห์มาก
น้องภูเล่าต่อว่า ตอนที่ยังเด็ก คุณแม่ซื้อหนังสือคณิตศาสตร์หรือนิทานมาให้อ่านและฝึกทำอยู่เสมอ ทำให้มีทักษะในการคิดเลขและอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก และเวลาที่เริ่มท้อหรือขาดสมาธิในการทำงาน คุณพ่อคุณแม่มักจะให้กำลังใจและเตือนสติอยู่เสมอ
เคล็ดลับในการเรียนของน้องภู คือ เวลาเรียนอย่ามุ่งมั่นจนเกิดไป เพราะจะทำให้เกิดแรงกดดันแล้วทำอะไรไม่เป็นระบบและไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งสำคัญคือต้องรู้จักแบ่งเวลาว่าเวลาไหนควรเรียน ควรทบทวนตำรา หรือเวลาไหนควรเล่น ตั้งใจทำสิ่งที่เราต้องการให้ดีที่สุด ถ้ายังไม่ประสบความสำเร็จก็พยายามหาสาเหตุ และแก้ไขตัวเองในการเรียนครั้งต่อไป
นายสุธี เรืองวิเศษ (ทีม) วัย 17 ปี ชั้น ม. 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เจ้าของเหรียญเงินคณิตศาสตร์โอลิมปิก ปี 2550 จากเวียดนาม และเหรียญเงินคณิตศาสตร์โอลิมปิก ปี 2551 จากสเปน เล่าว่า คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่สนุก มีเหตุมีผล ไม่ต้องท่องจำมาก ทางครอบครัวเปิดโอกาสให้เรียนในวิชาที่สนใจ เมื่อทราบว่ามีความสนใจด้านคณิตศาสตร์ ก็สนับสนุนส่งเสริมเต็มที่
นายศุภณัฐ คำตื้อ (การ์ฟิลด์) วัย 17 ปี ชั้น ม. 6 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เจ้าของเหรียญเงินคณิตศาสตร์โอลิมปิก ปี 2551 จากสเปน เล่าว่า คณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยเหตุผล มีความสวยงาม ทำให้น่าศึกษา ที่เลือกแข่งโอลิมปิกวิชานี้ เพราะเห็นว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางการเป็นนักคณิตศาสตร์ต่อไปทั้งนี้ หนุ่มน้อยส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ ตั้งเป้าว่า หลังจากจบชั้นมัธยมศึกษา จะรับทุนโอลิมปิกวิชาการไปศึกษาต่อยอดทางคณิตศาสตร์จบจบปริญญาเอก แล้วกลับมาใช้ความรู้ที่มีทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติต่อไป
เว็บไซต์ สสวท. www.ipst.ac.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit