กรุงเทพฯ--17 มิ.ย.--แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์
ครั้งแรกกับการเปิดเผยถึงวิถีกำเนิดลูกหมีแพนด้า ทายาทช่วงช่วง และหลินฮุ่ย ในรายการแดนสนธยา ซึ่งเป็นรายการสารคดีเชิงบันเทิงสร้างสรรค์ ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี รายการเดียว ทีได้รับการอนุมัติให้เจาะลึก 7 สัปดาห์ก่อนกำเนิดอีกหนึ่งชีวิตใหม่ของลูกหมีแพนด้า ทายาทช่วงช่วง และหลินฮุ่ย ตั้งแต่การเตรียมพร้อมการผสมพันธุ์แพนด้า ตามธรรมชาติการค้นคว้าวิจัยวิธีผสมเทียม การปลูกไผ่ ซึ่งเป็นอาหารหลัก และเป็นพืชชนิดเดียวของแพนด้า ที่ก่อให้เกิดรายได้กับชุมชน และความเป็นไปของสวนสัตว์เชียงใหม่ และเชียงใหม่ ซู อควาเรียม อุโมงค์น้ำจืดและอุโมงค์น้ำเค็มที่มาต่อกันแล้ว ถือได้ว่าเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดในโลก ในรายการแดนสนธยา ชุดสวนสัตว์เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 23 – 25 มิถุนายน 2552 ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี เวลา 18.00 – 18.30 น.
จากข้อมูลรายงานการค้นพบซากฟอสซิลหมีแพนด้า ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดชัยภูมิ เมื่อปี 2543 ทำให้ เชื่อได้ว่า ในสมัยโบราณเคยมีแพนด้าอาศัยอยู่ในดินแดนสุวรรณภูมิของเราเช่นกัน และปลายปี 2546 ที่คนไทย ได้มีโอกาสต้อนรับทูตสันถวไมตรีแพนด้าเพศผู้ และเพศเมีย “ช่วงช่วง - หลินฮุ่ย” ที่ทางการจีนส่งมาให้กับ ประเทศไทย เพื่อสานสัมพันธ์ไทย-จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ….ผ่านไป 5 ปี คนไทยก็ได้มีโอกาสต้อนรับสมาชิกใหม่ลูกแพนด้าตัวน้อย ที่หลินฮุ่ยให้กำเนิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 ด้วยวิธีผสมเทียม จากฝีมือทีมสัตวแพทย์ของไทย ที่เฝ้าพยายามมานานกว่า 4 ปี
เริ่มต้นจากการศึกษาถึงช่วงเวลาที่แพนด้าสามารถเจริญพันธุ์ได้ โดยแพนด้าตัวเมียจะตกไข่เพียงปีละ 2 – 3 วันเท่านั้น ในช่วงฤดูใบไม้ผลิ หรือประมาณเดือนเมษายน โดยมีระยะเวลาของการตั้งท้องตั้งแต่ 95 วัน ถึง 160 วัน และสามารถตกลูกได้ครั้งละ 2 ตัว แต่ส่วนใหญ่แล้วจะมีเพียงตัวเดียวเท่านั้น ที่แม่แพนด้าจะเลือกให้รอดชีวิต เมื่อถึงช่วงที่ทั้ง ช่วงช่วง และหลินฮุ่ย อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เมื่อปี 2549 ทีมสัตวแพทย์ที่เฝ้าดูอยู่จึงปล่อยแพนด้าทั้ง 2 ตัว ได้ทำความคุ้นเคยกันเป็นอย่างแรก เพื่อให้แพนด้าทั้ง 2 เรียนรู้วิธีการผสมพันธุ์กันตามธรรมชาติ แต่เนื่องจาก ช่วงช่วง และหลินฮุ่ย อาจจะยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ จึงทำให้การผสมพันธุ์แพนด้าตามธรรมชาติยังไม่ประสพความสำเร็จ ในปีต่อมาทีมนักวิจัยได้เตรียมความพร้อมให้มากยิ่งขึ้น โดยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมให้กับช่วงช่วง ที่ไม่ค่อยมีการตอบสนองเท่าไหร่นัก แต่ดูเหมือนว่าการปล่อยให้แพนด้าผสมพันธุ์กันเองตามธรรมชาติจะใช้ไม่ได้ผลกับเจ้าช่วงช่วง และ หลินฮุ่ย ทีมนักวิจัยจึงตัดสินใจที่จะใช้วิธีการผสมเทียม สำหรับครั้งแรกก็ยังคงล้มเหลว เนื่องจากยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม ในปี 2551 ความพยายาม ในการผสมพันธุ์แพนด้าเกิดขึ้นอีกครั้ง ซึ่งทีมสัตวแพทย์ และนักวิจัยได้ซักซ้อม เพื่อทำความเข้าใจถึงขั้นตอนในการปฏิบัติเป็นอย่างดี แต่เมื่อแพนด้าไม่เกิดภาวการณ์เป็นสัด แผนการทุกอย่างก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรต่อไปได้
ปี 2552 ทีมแพทย์ และนักวิจัยได้เริ่มต้นความพยายามขึ้นใหม่อีกครั้ง จากการติดตามภาวการณ์เป็นสัดของหลินฮุ่ย และเมื่อพบว่าระดับฮอร์โมนเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมกราคม จึงได้ตรวจอย่างละเอียด เพื่อจะได้ทราบผลของฮอร์โมน ที่ใกล้เคียง และรวดเร็วที่สุด เพื่อจะได้ทำการผสมพันธุ์ หรือผสมเทียมได้อย่างทันที เมื่อถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ระดับฮอร์โมนของหลินฮุ่ยพุ่งขึ้นสูงสุด และมีอาการเป็นสัดอย่างเห็นได้ชัด รวมทั้ง ยังส่งเสียงร้องส่งสัญญาณถึงความพร้อมในการผสมพันธุ์ แต่ช่วงช่วงกลับไม่มีอาการตอบสนองอาการเป็นสัดของหลินฮุ่ยแม้แต่น้อย ทีมสัตวแพทย และนักวิจัย จึงต้องตัดสินใจใช้วิธีการผสมเทียม เพราะถ้าไม่ทำในช่วงนี้ก็จะไม่มีโอกาสอีกแล้วสำหรับปีนี้ ทีมสัตวแพทย์ได้ให้ยาสลบกับหลินฮุ่ย ก่อนที่จะนำน้ำเชื้อของช่วงช่วงที่ได้รีดเก็บไว้ ก่อนนหน้านี้ ซึ่งถือว่าเป็นน้ำเชื้อที่มีคุณภาพที่ดีที่สุดเท่าที่เคยเก็บได้ ด้วยจำนวนอสุจิสูงถึง 95% ฉีดเข้าไปยังมดลูกของหลินฮุ่ย นับเป็นการผสมเทียมที่อยู่ในช่วงเวลาเจริญพันธุ์ที่ดีที่สุด หลังจากนั้นอีกเพียง 97 วัน การรอคอยของคนไทยทั้งประเทศก็สิ้นสุดลง การผสมเทียมแพนด้าจากความพยายามของทีมสัตวแพทย์ และนักวิจัยประสพความสำเร็จ เมื่อ หลินฮุ่ย แพนด้าเพศเมียของไทยได้ให้กำเนิดลูกแพนด้าน้อยตัวใหม่เพศเมียให้กับคนไทย และ ยังเป็นลูกแพนด้าน้อยตัวแรกของโลกที่เกิดในช่วงมีนาคม – พฤษภาคม เพราะตามธรรมชาติช่วงเวลานี้ จะเป็นช่วงเวลาที่แพนด้าอยู่ในภาวการณ์เป็นสัด และจะคลอดลูกในช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน นอกจากนี้ สำหรับประเทศไทย ยังเป็นประเทศที่ 3 ในโลกที่ประสพความสำเร็จในการผสมเทียมแพนด้า ต่อจากประเทศสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามวิถีชีวิตชาวบ้านกับการปลูกไผ่ และการทำกระดาษจากมูลแพนด้า ที่ก่อให้เกิดรายได้กับชุมชนท้องถิ่น พร้อมร่วมชมความน่ารักของสัตว์เมืองหนาวในสวนสัตว์เชียงใหม่ อาทิ นกเพนกวินสายพันธุ์ ฮัมโบว์, แมวน้ำสายพันธุ์เคปเฟอร์ซีล และหมีโคอาล่า ปิดท้ายกันด้วย ที่สุดของสีสันแห่งโลกใต้น้ำ เชียงใหม่ ซู อควาเรียม อุโมงค์น้ำจืด และอุโมงค์น้ำเค็ม ที่ต่อกันแล้วจะมีความยาวมากที่สุดในโลก ในรายการแดนสนธยา ชุดสวนสัตว์เชียงใหม่ ที่จะออกอากาศระหว่างวันที่ 23 – 25 มิถุนายน 2552 ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี เวลา 18.00 - 18.30 น.
หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
บริษัท แม็กซิม่า คอนซัลแตนท์ จำกัด โทร. 0-2434-8300 / 0-2434-8547
คุณสุจินดา, คุณแสงนภา และคุณวิภาวัลย์
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit