กรุงเทพฯ--1 ก.ย.--สำนักภาษี เคพีเอ็มจี ภูมิไชย
ผลการศึกษาของ KPMG ระบุว่า แนวโน้มการลดลงของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั่วโลกนั้นอาจมีการเปลี่ยนทิศทางเนื่องจากสภาวะงบประมาณขาดดุลและแรงกดดันจากทางรัฐบาลในการกระตุ้นสภาวะเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น
-จากการสำรวจพบว่า อัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมนั้นถือเป็นตัวแปรสำคัญที่ใช้พิจารณาและตัดสินใจในการส่งพนักงานออกไปปฏิบัติงานยังต่างประเทศ
-แม้ว่าในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมาอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของทั่วโลกนั้นจะมีทิศทางที่ลดลง แต่อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในระดับสูงสุดของประเทศไทยนั้นยังคงอยู่ที่อัตราเดิมและสูงกว่าอัตราเฉลี่ยของทั่วโลกและภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
จากผลสำรวจของเคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล มีการเปิดเผยว่า ทิศทางของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ลดลงติดต่อในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมาของทั่วทั้งโลกนั้นกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงทิศทางอีกครั้งหนึ่ง เนื่องมาจากความต้องการระดมแหล่งเงินทุนและความต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจของรัฐบาล และการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้นก็อาจส่งผลต่อการส่งพนักงานออกไปปฏิบัติงานในต่างประเทศและแนวโน้มของการโยกย้ายแรงงานที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกในอนาคต
ผลการสำรวจใน KPMG’s 2009 Individual Income Tax and Social Security Rate นั้นยังระบุอีกว่า อัตราเฉลี่ยของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในระดับสูงสุดของทั่วทั้งโลกนั้นลดลง 0.3 เปอร์เซ็นต์ จาก 29.2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2551 เหลือ 28.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2552 อย่างไรก็ตาม ภายใต้แผนงบประมาณและรายได้หลายประเทศก็ได้เริ่มวางแผนที่จะเพิ่มอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับกลุ่มบุคคลผู้ที่มีรายได้สูงในประเทศของตนแล้ว ขณะที่บางประเทศก็กำลังพิจารณาถึงทางเลือกนี้อยู่เช่นเดียวกัน
คุณเบญจมาศ กุลกัตติมาส กรรมการผู้ถือหุ้นและหัวหน้างานให้บริการผู้บริหารต่างชาติ ของบริษัท สำนักภาษี เคพีเอ็มจีภูมิไชย จำกัด ได้กล่าวว่า “สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันซึ่งหลายๆประเทศก็กำลังเผชิญกับปัญหางบประมาณขาดดุลและต้องการระดมเงินทุนที่จะมาช่วยกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจด้วยวิธีการต่างๆนั้น ได้ส่งผลให้เห็นเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า หลายๆประเทศนั้นกำลังจะเพิ่มรายรับของรัฐบาลโดยการเพิ่มอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในระดับสูงสุด”
คุณเบญจมาศยังเสริมต่ออีกว่า “การศึกษาพบว่า แนวโน้มของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในระดับสูงสุดที่ลดลงในช่วง 7 ปีที่ผ่านมานี้ กำลังจะมีทิศทางที่เปลี่ยนไปในทางตรงกันข้ามในปี2553 โดยจะเห็นได้จากการที่บางประเทศในสหภาพยุโรป ยกตัวอย่างเช่น ไอร์แลนด์และสหราชอาณาจักรที่กำลังเสนอที่จะปรับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำรับผู้ที่มีรายได้สูงในประเทศของตน”
จากการศึกษาของเคพีเอ็มจีพบว่า อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่สูงที่สุดในโลกนั้นยังคงมาจากกลุ่มสหภาพยุโรป แต่จากการเริ่มนำการเก็บภาษีแบบอัตราคงที่มาใช้ในหลายประเทศแถบยุโรปตะวันออก ยกตัวอย่างเช่น ประเทศลัตเวียและโปแลนด์ที่มีการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงเหลือ 23 และ 32 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับในปี 2551 นั้น ได้ส่งผลให้อัตราเฉลี่ยของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในสหภาพยุโรปลดลงจาก 41.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2546 เหลือ 36 เปอร์เซ็นต์ในปี 2552
คุณเบญจมาศได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “จากการที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านทรัพยากรบุคคลต้องทบทวนการประเมินต้นทุนของการส่งพนักงานไปปฏิบัติงานยังต่างประเทศอีกครั้ง อัตราภาษีเงินได้จึงเป็นประเด็นสำคัญในการพิจารณาตัดสินใจว่าจะส่งพนักงานไปปฏิบัติงานที่ใด และพนักงานเองก็จำเป็นที่จะต้องตระหนักว่าภาษีในรูปแบบต่างๆนั้นจะส่งผลต่อรายรับของตนทั้งในบ้านและในประเทศอื่นอย่างไร”
“โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่มีรายได้สูงมักจะมีทักษะและความรู้ความสามารถเพียงพอที่จะย้ายไปทำงานในประเทศที่มีการเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราที่ต่ำกว่าและต้องการแรงงานทักษะสูงได้ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงในอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้นจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มในการเคลื่อนย้ายแรงงานทั่วโลก”
หากพิจารณาถึงเรื่องของกองทุนประกันสังคมและอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปพร้อมๆกันแล้ว จะพบว่า เดนมาร์กเป็นประเทศที่มีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงที่สุดในโลก โดยอยู่ที่ 62.3 เปอร์เซ็นต์ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ญี่ปุ่นอยู่ในอันดับหนึ่งที่ 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนในภูมิภาคละติน อเมริกานั้น ประเทศชิลีครองอันดับหนึ่งที่ 40 เปอร์เซ็นต์
คุณเบญจมาศกล่าวว่า “ถึงแม้ว่าทิศทางของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะมีแนวโน้มลดลงในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา แต่อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในระดับสูงสุดของประเทศไทยกลับคงที่อยู่ที่ 37 เปอร์เซ็นต์มาตลอด 5 ปีที่ผ่านมา”
คุณเบญจมาศยังเสริมอีกว่า “ทิศทางที่ลดลงของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั่วโลกค่อนข้างจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คืออัตราเฉลี่ยลดลงจาก 36.1 เปอร์เซ็นต์ในปี 2546 เหลือ 33.9 เปอร์เซ็นต์ในปี 2552”
“ประเทศยักษ์ใหญ่หลายประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น จีน อินเดีย และญี่ปุ่นแทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงในอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เห็นเลยในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบันนี้ ประเทศที่มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากกว่าและประเทศที่มีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาต่ำกว่าจะมีความได้เปรียบและเป็นที่น่าดึงดูดใจในสายตาของนักลงทุนและผู้บริหารชาวต่างชาติ ในขณะที่ประเทศไทยนั้นอาจเสียเปรียบได้”
ผลการสำรวจของเคพีเอ็มจียังรวมถึงบทวิเคราะห์เกี่ยวกับอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะการวิเคราะห์ในส่วนของภาษีเงินได้และอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่เก็บได้จากบุคคลที่มีรายได้รวมตลอดทั้งปีที่ 1 แสน และ 3 แสนเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ส่วนประกอบของกองทุนประกันสังคมแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ ประเภทนายจ้าง และลูกจ้าง
เมื่อพูดถึงอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่เก็บได้จากบุคคลที่มีรายได้ 1 แสนเหรียญสหรัฐฯต่อปี ประเทศที่ถือว่ามีอัตราสูงที่สุดได้แก่ สโลเวเนีย (54.9 เปอร์เซ็นต์) โครเอเชีย (53.5 เปอร์เซ็นต์) และฮังการี (48.1 เปอร์เซ็นต์)
และหากมองไปยังบุคคลที่มีรายได้ 3 แสนเหรียญสหรัฐฯต่อปีแล้ว ประเทศที่จะมีอัตราสูงสุดก็จะเป็น สโลเวเนีย (60.4 เปอร์เซ็นต์) เดนมาร์ก (57.1 เปอร์เซ็นต์) และโครเอเชีย (54.5 เปอร์เซ็นต์)
“กองทุนประกันสังคมมักจะเป็นภาษีที่ถูกลืมอยู่เสมอ และขณะนี้ในหลายๆประเทศก็กำลังมีการพิจารณาเกี่ยวกับการเพิ่มอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมให้มากขึ้นอยู่ด้วย” คุณเบญจมาศยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “ผู้เชี่ยวชาญทางด้านทรัพยากรบุคคลจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงกองทุนประกันสังคมควบคู่ไปกับมาตรการการเก็บภาษี ทั้งในระดับประเทศ ในระดับรัฐ รวมไปถึงระดับเทศบาล เพื่อประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการส่งพนักงานไปปฏิบัติงานยังต่างประเทศด้วย”
การศึกษาครั้งนี้ยังได้ทบทวนเกี่ยวกับอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมที่ถูกเรียกเก็บ (ทั้งที่เป็นภาระของนายจ้างและลูกจ้าง) สำหรับลูกจ้างที่มีรายรับทั้งปีที่ 1 แสนและ 3 แสนเหรียญสหรัฐฯไว้ด้วย ทั้งสองกรณีพบว่า ประเทศฝรั่งเศสนั้นมีอัตราโดยรวมเฉลี่ยสูงที่สุดอยู่ที่ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ ตามมาด้วยประเทศเบลเยียมที่ 47 เปอร์เซ็นต์ โดยมีฮังการีและอิตาลีอยู่ในอันดับสามเท่ากันที่ 40 เปอร์เซ็นต์
หมายเหตุ ถึงบรรณาธิการ
การสำรวจอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในปี พ.ศ. 2552 ของเคพีเอ็มจีนั้นเป็นงานสำรวจระหว่างประเทศในหัวข้อที่เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคมซึ่งใช้ข้อมูลทางสถิติในอดีตระหว่างปี 2546 ถึง 2552 โดยรายงานดังกล่าวครอบคลุม ประเทศต่างๆถึง 86 ประเทศ โดยมุ่งประเด็นไปที่เรื่องอัตราสูงสุดของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่จัดเก็บโดยรัฐบาลของแต่ละประเทศ และเพื่อให้ง่ายต่อการเปรียบเทียบ การสำรวจครั้งนี้ก็ได้ตัดประเด็นของภาษีประเภทอื่นๆเช่น ภาษีรัฐ และภาษีเทศบาลออกไปด้วย
การศึกษาครั้งนี้ถูกจัดทำขึ้นโดยส่วนงานบริการผู้บริหารต่างชาติ ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกของบริษัทเคพีเอ็มจีในหลายๆประเทศทั่วโลก
สำหรับสำเนาของการสำรวจดังกล่าว โปรดเข้าไปที่ http://www.kpmg.com/Global/IssuesAndInsights/ArticlesAndPublications/Pages/income-tax-social-security-survey-2009.aspx.
เกี่ยวกับ เคพีเอ็มจี
เคพีเอ็มจี เป็นเครือข่ายระดับโลกของบรรดาบริษัทผู้เชี่ยวชาญในวิชาชีพต่างๆ ที่ให้บริการในด้านการสอบบัญชี, การภาษี และการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ บรรดาบริษัทที่เป็นสมาชิกอิสระของเครือข่าย เคพีเอ็มจี เป็นบริษัทซึ่งอยู่ในเครือของบริษัท เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เคพีเอ็มจี แต่ละบริษัทเป็นองค์กรที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจนทางด้านกฎหมายตามที่แต่ละบริษัทเป็น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit