ปรับพฤติกรรม-บำบัดทางเลือก แต้มรอยยิ้มสู่ครอบครัวเด็กออทิสติก

03 Sep 2009

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--พี.อาร์.เอพลัส

แผนพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มูลนิธิสดศรี สฤษดิ์วงศ์

ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ดั่งดอกไม้บาน ...” บทเพลงดั่งดอกไม้บาน จากเสถียรธรรมสถาน ดังแว่วออกมาจากห้องกิจกรรม อาคารจิตเวชเด็ก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เด็กชายร่วม 10 คน นั่งออกกำลังกาย โดยมีพี่เลี้ยงประกบ ช่วยยกแขนหรือโยกตัวทำลีลาประกอบ สังเกตเห็นชัดเจนว่าบางคนแม้จะย่างเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว แต่ยังไม่สามารถทำท่าทางประกอบจังหวะได้ ขณะที่บางคนก็ส่งเสียงดังเย้วๆ ตลอดเวลา

นางคนึงนิจ ไชยลังการณ์ หัวหน้าหอผู้ป่วยจิตเวชเด็ก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เล่าว่าปัญหาของเด็กออทิสติก คือมีความพร่องทางพัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา สังคม และพฤติกรรม ทำให้ไม่สามารถดูแลตนเองด้านกิจวัตรประจำวัน และการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่นได้ ซึ่งยังหาสาเหตุของโรคที่แน่นอนไม่ได้ แต่พบทั่วไปทุกเชื้อชาติ และมักจะพบในเด็กชายมากกว่าเด็กหญิง ส่วนการปรากฏอาการของโรคในเด็กหญิงรุนแรงกว่าเด็กชาย

โดยอาการที่พบในแต่ละรายจะไม่เท่ากัน บางรายมีระดับความรุนแรงเพียงเล็กน้อย แต่บางรายรุนแรงมาก อาการที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ ความพร่องทางด้านภาษา เช่น พูดช้ากว่าเกณฑ์ ไม่พูด หรือมีภาษาเฉพาะของตนเอง พูดซ้ำๆ มีปัญหาพฤติกรรม และอารมณ์ ก้าวร้าวรุนแรง บางรายมีภาวะปัญญาอ่อนร่วมด้วย เด็กกลุ่มนี้จึงไม่สามารถสื่อสารไม่ว่าจะเป็นความต้องการ และความรู้สึกของตนได้ การเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะชีวิตก็ไม่เป็นไปตามพัฒนาการ เกิดความพร่องในการดูแลตนเองไม่ว่าจะเป็นด้านกิจวัตรประจำวัน และการมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างและสิ่งแวดล้อม

หัวหน้าหอผู้ป่วยจิตเวชเด็ก อธิบายว่าสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามนอกเหนือจากตัวเด็ก คือภาวะจิตใจของพ่อแม่ ที่อัดแน่นไปด้วยความทุกข์ แม้ในเบื้องต้นผู้ปกครองส่วนใหญ่จะลดความคาดหวังกับเด็กออทิสติก ในการใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไปทั้งที่บ้านและโรงเรียน แต่ก็ยังอยากให้ลูกได้พบเรื่องดีๆ ในชีวิตประจำวัน และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย โดยสิ่งที่พวกเขารู้สึกหวาดวิตกอยู่ลึกๆ คือลูกจะดำรงชีวิตได้อย่างไร หากพ่อแม่เสียชีวิตก่อน ดังนั้นในการทำงานของเจ้าหน้าที่จึงต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ช่วยหาทางออกที่ดีที่สุดให้กับเด็กและพ่อแม่ โดยพยายามให้เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในชีวิตประจำวัน

เน้นฝึกเด็กเป็นรายบุคคล ดูว่าเด็กมีปัญหาอะไร แล้วปรับพฤติกรรมเด็กอย่างมีแบบแผน เช่น เด็กมีปัญหาด้านทักษะการใช้ชีวิต ใช้มือไม่คล่อง ทำให้หยิบจับช้อนส้อมรับประทานอาหารเองไม่ได้ ก็ต้องฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กงอ โดยดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม จะได้ฝึกตลอดเวลา ทั้งที่โรงพยาบาลและบ้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกผิดปกติ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ภายหลังการปรับพฤติกรรม เพียงแค่เห็นลูกตักข้าวใส่ปากด้วยตนเอง ก็มีความสุขและเกิดความคาดหวังจะให้ลูกปรับพฤติกรรมในด้านอื่นๆ ต่อไป

“เด็กคนหนึ่ง อาจมีปัญหาหลากหลาย เป็น 10 เรื่อง 100 เรื่อง ก็ต้องติดตามแก้ไขให้ถูกทาง มองชีวิตเด็กเป็นหลัก ไม่ได้ดูแค่โรคที่เป็นอยู่ แต่มองไปถึงสิ่งแวดล้อม ชีวิตครอบครัว คนที่เกี่ยวข้อง บางรายพ่อแม่เป็นหมอ บางรายจบปริญญาตรี และบางรายพ่อแม่จบระดับประถมศึกษา พื้นฐานการใช้ชีวิตแตกต่างกัน ฉะนั้นอาการที่แสดงออกอย่างเดียวกัน อาจเกิดจากสาเหตุแตกต่างกัน และมีวิธีแก้ไขไม่เหมือนกัน อาทิ เด็กรายหนึ่ง ส่งเสียงดังแผดก้องตลอดเวลา ทำให้คนในบ้านไม่สามารถนอนหลับได้ และน้องเล็กๆ เมื่อได้ยินเสียงพี่ชาย ก็จะเกิดความเครียด นอนไม่หลับไปด้วย ส่วนเพื่อนบ้านก็รู้สึกรำคาญเสียง แม้จะเห็นใจครอบครัวเด็ก เมื่อพ่อแม่เด็กนำเรื่องมาปรึกษา จึงได้ระดมทีมงาน ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักกิจกรรมบำบัด ครู เพื่อวิเคราะห์ปัญหา และหาทางแก้ไข” นางคนึงนิจ เล่าถึงกรณีตัวอย่างที่เคยช่วยบำบัด

วิธีที่ใช้มีทั้งการให้ยา และพาเด็กออกกำลังกาย เพราะในชีวิตประจำวันผู้ปกครองต้องทำงานค้าขาย ไม่ค่อยมีเวลาใกล้ชิดกับลูกมากนัก เด็กอาจเกิดความรู้สึกเครียด และกดดันโดยไม่รู้ตัว เริ่มต้นบำบัดด้วยการว่ายน้ำ ก็สังเกตเห็นว่าเด็กยิ้ม มีความสุขเมื่อได้อยู่ในน้ำ พอกลับไปบ้าน ถึงช่วงกลางคืนก็นอนหลับ ไม่ส่งเสียงดังรบกวนคนอื่น แต่ผ่านไประยะหนึ่งก็เริ่มนอนไม่หลับและส่งเสียงดังอีก ทีมงานจึงได้เพิ่มการออกกำลังกายให้เด็กเดินรอบตึก วันละครึ่งชั่วโมง มีการใช้เครื่องมือเข้ามาจับรอบ ทำให้เด็กรู้สึกสนุกเมื่อเดินจนครบกำหนด กลับบ้านก็นอนหลับสบาย ส่งผลให้ครอบครัวมีความสุขมากขึ้น และเราก็พลอยรู้สึกสุขใจไปกับความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาให้กับเขาด้วย

หัวหน้าหอผู้ป่วยจิตเวชเด็ก ยังบอกอีกว่าประสบการณ์ทำงานพยาบาล ดูแลคนไข้จิตเวชผู้ใหญ่ 7 ปี และจิตเวชเด็กอีก 13 ปี ได้หล่อหลอมความคิดให้รู้จักเสียสละ มีจิตอาสาโดยอัตโนมัติ อยากช่วยคลายทุกข์ และหาวิธีทำให้คนอื่นๆ ในสังคมเกิดความสุข ซึ่งพบว่าเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันทำงานก็เกิดความรู้สึกเดียวกัน เมื่อทำหน้าที่ดูแลเด็กออทิสติก ก็มีใจรักและเมตตาเด็ก คิดอยู่เสมอว่าผู้ปกครองเด็กมีความทุกข์ เพราะจากการศึกษาปัญหาของผู้ปกครองในการดูแลเด็กออทิสติกพบว่าพ่อแม่ผู้ปกครองมีทัศนคติที่ดีต่อเด็ก แต่ขาดความรู้เกี่ยวกับโรค และกิจกรรมการดูแลที่เหมาะสม ที่สำคัญคือพ่อแม่ร้อยละ 93.3 ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการดูแลเด็กออทิสติก โดยเฉพาะความรู้เรื่องการใช้ยา ถึงแม้ว่าในจำนวนนี้ร้อยละ 44.1 ได้ผ่านการอบรมการดูแลเด็กออทิสติกมาแล้ว

ดังนั้นเราจะช่วยเด็กและครอบครัวได้อย่างไร นอกเหนือจากการใช้ยาบำบัด สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ คือการค้นหาเครื่องมือที่เป็นประโยชน์เพื่อนำมาช่วยเด็ก พยายามให้คุณค่ากับชีวิตของคนที่อยู่ข้างหน้ามากที่สุด รวมทั้งหาทางสื่อสารกับผู้ปกครองให้เป็นและถูกต้อง เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็มองว่านั่นคือความท้าทาย และหาทางข้ามไปให้ได้ ก็จะเกิดพลังความเชื่อมั่นในตัวเอง ขณะเดียวกันในการทำงานร่วมกันเป็นทีม ก็ต้องเอาใส่ใจเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ด้วย รู้จักให้เกียรติ เห็นคุณค่าของเพื่อนร่วมทีม ที่ทุกคนเปรียบเหมือนฟันเฟืองช่วยหมุนเครื่องจักรให้เดินไปข้างหน้าได้

สำหรับงานจิตเวชเด็ก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้เปิดให้บริการเด็กออทิสติก 4 รูปแบบ ได้แก่ กลุ่มที่เข้ารับการบำบัด 08.00-16.00 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ อย่างต่อเนื่อง รับได้เต็มที่ 16 คน, กลุ่มรับบริการบางช่วงเวลา (สัปดาห์ละ 2 ชั่วโมง รับบริการวันเสาร์-อาทิตย์) เพื่อฝึกทักษะบางด้านที่บกพร่อง, กลุ่มคนไข้นอก เป็นการให้คำแนะนำผู้ปกครองในการดูแลเด็กออทิสติก และกลุ่มคนไข้ใน ที่ปัจจุบันมีน้อยมาก บางช่วงก็ไม่มีเลย เพราะหากมีคนไข้กลุ่มนี้ ต้องจัดเวรเจ้าหน้าที่ทำงานเป็นกะ ขณะที่บุคลากรในฝ่ายมีทั้งหมดแค่ 10 คน

และนับว่าโชคดีที่ผู้ปกครองเด็กออทิสติกกลุ่มหนึ่ง เห็นความสำคัญของการบำบัดรักษา จึงตั้งทุนเพื่อเด็กออทิสติก ให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้งานหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง และต่อมาก็มีผู้ใจบุญร่วมบริจาคสมทบเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังได้ตั้งกล่องรับบริจาคตามวัดสำคัญต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ และใกล้เคียง ทำให้สามารถนำเงินมาพัฒนาเด็กออทิสติกได้อย่างเต็มที่

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net