กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
กระดาษธรรมดาๆ หนึ่งแผ่น ประโยชน์ใช้สอยมากมาย เกินค่ากว่าการจดบันทึกทั่วไปอย่างที่เห็น เมื่อเราใส่หัวใจให้กระดาษติดปีกโบยบินเหินฟ้าได้ดั่งนก แปลงร่างเป็นเครื่องบินกระดาษพับ พลังขุมทรัพย์การเรียนรู้จึงเกิดขึ้นอย่างไม่มีวันหมด เพียงแค่กระดาษแผ่นเดียว ต้นทุนต่ำ แต่มากมายด้วยต้นทุนความคิด
ความสนุกเล็กๆ จากของขวัญที่เป็นเครื่องร่อนเล็ก ก่อเกิดนักวิทยาศาสตร์บันลือโลก อย่างออร์วิลและวิลเบอร์ ไรท์ ทั้งสองมีแรงบันดาลใจเกี่ยวกับเรื่องการบิน จนสร้างเครื่องบินสำเร็จ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ฝันอันยิ่งใหญ่จะสำเร็จขึ้นได้ด้วยการเรียนรู้จากความสนุกเล็กๆ อย่างเช่น ด.ช.หม่อง ทองดี ฮีโร่เด็กขวัญใจคนใหม่ของคนไทย ด้วยวัย 12 ปี นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านห้วยทราย จ.เชียงใหม่ คว้ารางวัลชนะเลิศประเภททีม และรางวัลที่ 3 รุ่นนักเรียนประถม ประเภทเยาวชนไม่เกิน 12 ปี จากการแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับชิงแชมป์ประเทศญี่ปุ่น ครั้งที่ 4 ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากกระดาษหนึ่งแผ่น นำไปสู่การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ได้อย่างไร
มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับองค์กรผู้ให้การสนับสนุนและองค์กรภาคีเครือข่ายพูนพลังเยาวชน เล็งเห็นคุณค่าพัฒนาเยาวชนไทย เปิดโลกกว้างวิทยาศาสตร์แสนสนุก “กระดาษติดปีก หัวใจบินได้ ” เครื่องบินกระดาษพับ ความสนุกเล็กๆ ของน้องหม่อง ในงานรวมพลพลังเยาวชนครั้งยิ่งใหญ่ “พลังเยาวชน พลังสังคม” ครั้งที่1 ณ ลานสยามพารากอน -หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 9-11 ตุลาคม 2552 เชิญชวนทุกท่านเข้าร่วมกิจกรรมดีๆ พร้อมสนุกกับกิจกรรมภายในงานที่สร้างสรรค์จากพลังเยาวชน หลากหลายองค์กร จะฉายเดี่ยวมาคนเดียว ชวนเพื่อนมาเป็นกลุ่ม หรือมาทั้งครอบครัว สนุกกับไขความลับวิทยาศาสตร์จาก กระดาษหนึ่งแผ่นกว่าจะเป็นเครื่องบิน และของที่ระลึกเครื่องบินกระดาษพับฝีมือ เมื่อน้องหม่อง (ด.ช.หม่อง ทองดี ) แชมป์เครื่องบินกระดาษพับประเทศไทยตัวจริง บุกเยือนตะลุยงานมหกรรมครั้งนี้ มาร่วมสัมผัสโลกทัศน์การเรียนรู้นอกห้องเรียนกับเครื่องบินกระดาษพับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ Workshop วิธีการสาธิตพับเครื่องบินกระดาษ และวิธีการเล่นให้เครื่องบินร่อนได้นาน แบบฉบับของน้องหม่อง และคุณครู อำนาจ กิตติจริยา ครูสอนวิทยาศาสตร์และเครื่องบินกระดาษพับ ร.ร.บ้านห้วยทราย อย่างใกล้ชิดเป็นครั้งแรก
ดร.ประเสริฐ ประเสริฐ เฉลิมการนนท์ หัวหน้าโครงการสร้างความตระหนักและแนวคิดเชิงวิทยาศาสตร์ด้วยกิจกรรมเครื่องบินกระดาษ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ในฐานะที่สอนเด็กๆในสมาคมเครื่องบินกระดาษพับ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จครั้งนี้ ได้ไขความลับวิทยาศาสตร์ที่ซ่อนอยู่อย่างสนุกว่า “ ศิลปะการพับเครื่องบินกระดาษ ให้สมดุลและร่อนอยู่ในอากาศได้นาน เป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ทางฟิสิกส์ด้านอากาศพลศาสตร์ หรือ แอโรไดนามิกส์ (aerodynamics)” นั่นก็คือ วิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับแรงที่อากาศกระทำต่อวัตถุในขณะที่วัตถุนั้นเคลื่อนที่ผ่านอากาศ ซึ่งอาศัยสารพัดแรงขับเคลื่อน แรงยก แรงต้านอากาศ ตลอดจนน้ำหนักและความสมดุล ที่จะทำให้เครื่องบินร่อนได้นาน แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้มีอยู่ในตำราเรียน ฟิสิกส์จึงกลายเป็นเรื่องยากในทันที เครื่องบินกระดาษพับจึงเป็นสื่อสอนวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับฟิสิกส์ได้เป็นอย่างดี มีประโยชน์และความสนุกที่ได้จากการพับเล่น
หัวใจสำคัญของการพับเครื่องบินกระดาษ คือ ความใส่ใจในสิ่งที่เราทำ และต้องอาศัยทักษะวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่กระบวนการคิด การสังเกต การทดลอง เช่น การ เลือกกระดาษ การออกแบบ รูปทรงเครื่องบิน วิธีการพับ และวิธีการพุ่ง ซึ่งเป็นการปลูกฝังความคิดเป็นเหตุเป็นผล อย่างมีระบบและหลักการทางวิทยาศาสตร์ด้วย
ความพิเศษในเครื่องบินกระดาษพับของน้องหม่อง คุณครู อำนาจ กิตติจริยา ครูสอนวิทยาศาสตร์และเครื่องบินกระดาษพับ ร.ร.บ้านห้วยทราย เล่าว่า ส่วนใหญ่ผมจะสอนแค่หลักเบื้องต้น วิธีการพับเครื่องบินกระดาษ โดยให้ข้อคิดสมมุติฐาน ซึ่งเด็กๆจะต้องนำไปคิดต่อยอดเองว่าจะทำอย่างไรให้เครื่องบินร่อนได้นาน น้องหม่องสามารถนำความรู้ไปบูรณาการได้ โดยเครื่องบินกระดาษพับมีรูปทรง ความสมดุล จุดศูนย์ถ่วง และน้ำหนักกระจายตัวได้ดี การพับแต่ละขั้นตอนจะอาศัยความปราณีต และสมาธิในการทำ ที่สำคัญน้องหม่องจะมีวิธีการพุ่งท่าไม้ตายที่ไม่เหมือนใคร คือ ใช้ท่านั่งแล้วพุ่งเครื่องบินสุดแขน โดยไม่ตวัดมือกลับ เพราะการย่อตัวลงต่ำ จะทำให้มีแรงเริ่มต้นจากปลายมือไปถึงเครื่องบินได้ดี วิธีการพุ่งแบบนี้น้องหม่องคิดค้นได้เอง จากการสังเกตการปล่อยจรวดที่เริ่มต้นพุ่งออกจากฐาน
ความสำเร็จของน้องหม่อง ได้สร้างกระแสนิยมการเล่นเครื่องบินกระดาษพับให้กับเด็กๆ โดยเฉพาะใน ร.ร.บ้านห้วยทราย คุณครูใหญ่ ครูดวงฤทธิ์ เภติมา ผู้ส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กๆ เข้าแข่งขันโครงการนี้ ได้กล่าวด้วยความปลาบปลื้มว่า น้องหม่องกลายเป็นไอดอลให้กับรุ่นพี่รุ่นน้อง ทางโรงเรียนจึงได้นำหลักการของเครื่องบินกระดาษพับ ไปบูรณาการเชื่อมโยงการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ศิลปะ และพลศึกษา เมื่อได้เล่น ได้ปฏิบัติจริง นำเข้าสู่บทเรียน เขาก็จะได้รู้จักการสังเกต สัมผัส ทดลองเอง ทำเอง ก็จะเกิดการคิดวิเคราะห์ได้ สังเคราะห์ได้เป็นผลสำเร็จ เด็กๆจะได้รับประโยชน์อย่างมากมาย ทั้งร่างกาย สุขภาพ ฝึกสมาธิ ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หลีกเลี่ยงอบายมุข ตอนนี้นักเรียนตั้งแต่อนุบาลถึงป.6 ก็เล่นเครื่องบินกระดาษ บางคนก็มาขอเล่นกับน้องหม่องด้วย ซึ่งได้มีการถ่ายทอดประสบการณ์จากการแข่งขันที่ญี่ปุ่นและเคล็ดลับการพับเครื่องบินมาฝากให้พี่ๆน้องๆในโรงเรียน
จากกระดาษหนึ่งแผ่นที่อยู่ใกล้ตัว สามารถท่องโลกกว้างของวิทยาศาสตร์และเรียนรู้ได้อย่างสนุกสนาน หากมองให้ลึกซึ้ง ประโยชน์ของเครื่องบินกระดาษพับจึงไม่เป็นเพียงแค่สื่อการเรียนรู้เท่านั้น ยังเป็นสื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างผู้เล่น เพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้อง และครอบครัว ตลอดจนผู้ใหญ่ในบ้านเมือง (นายกรัฐมนตรี ) ที่สำคัญยังเป็นสื่อการแลกเปลี่ยนจากผู้รับ (น้องหม่อง ตัวแทนประเทศไทยแข่งขันเครื่องบินกระดาษพับ) มาเป็นผู้ให้ (ถ่ายทอดและนำความรู้ให้กับเยาวชนไทย ) และผู้ให้อย่างประเทศไทย จะให้ความเป็นสัญชาติไทย หรือไร้สัญชาติ แก่น้องหม่องหรือไม่นั้น คงไม่เป็นสิ่งจำเป็นต่อไป เพราะทุกวันนี้น้องหม่องได้ทำหน้าที่เสมือนหนึ่งคนไทย เป็นเยาวชนที่ดีและเก่ง สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทย ตอบแทนคุณแผ่นดิน จากการขอถวายรางวัล และร่วมลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่โรงพยาบาลศิริราช ด้วยการพับเครื่องบินกระดาษหนึ่งลำที่ติดปีก หัวใจบินได้ของน้องหม่อง ได้ชนะใจคนไทยทุกคน และนี่คือประโยชน์ของกระดาษหนึ่งแผ่นจริงๆ
เผยแพร่โดย งานสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล โทร.0-2270-1350
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net