อุ่นไอยิ้มระลึกวิถีเมืองบางกอก ใน ‘เทศกาลเที่ยวงานวัด ครั้งที่๙’

28 Sep 2009

กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--เวิรฟ

แม้วันเดือนปีจะล่วงเลยเปลี่ยนผันจากสีสันเมืองบางกอก สู่มหานครเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานคร แต่ร่องรอยอดีตของวิถี “เมืองบางกอก” ยังคงเป็นเรื่องราวให้ทุกคนถวิลหากับความงดงามของผู้คน วิถีชีวิต อาหารการกิน และศิลปะวัฒนธรรมที่หล่อหลอมให้เมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ที่ไม่เคยหลับใหล เป็นความงดงามของวิถี และชีวิตผู้คนที่รายล้อม ที่เรียกรอยยิ้มได้ทุกครั้งที่ระลึกถึง

นายประเสริฐ ศรีอุฬารพงศ์ กรรมการบริหาร บริษัท สยามรีเทล ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าแฟชั่น ไอส์แลนด์ กล่าวว่า วิถีชีวิตของชาวเมืองบางกอก ยังคงเป็นเรื่องเล่าถึงเสน่ห์ของวิถีชีวิตในยุคนั้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารการกิน การละเล่น การแสดง รวมถึงมนต์เสน่ห์ของเสียงเพลงทั้งลูกกรุง และลูกทุ่งของศิลปินชั้นครู เป็นความคลาสสิคที่ผู้คนสมัยนี้อยากย้อนรอยกลับไปสัมผัสกับช่วงเวลาแห่งความสุขดังกล่าว

“ศูนย์การค้าแฟชั่น ไอส์แลนด์ จึงได้จัดกิจกรรม “เทศกาลเที่ยวงานวัด ครั้งที่ ๙” ในระหว่างวันที่ ๒๔ กันยายน – ๔ ตุลาคมนี้ ด้วยแนวคิด “ไหว้พระเก้าวัด สัมผัสตลาดเก่าบางกอก” ร่วมย้อนรอยอดีตสัมผัสบรรยากาศของวิถีผู้คนในเมืองบางกอก โดยได้อัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์จาก ๙ วัดของเมืองบางกอก เพื่อให้ผู้มาร่วมงานได้กราบไหว้เพื่อความเป็นสิริมงคล และยังได้รวบรวมอาหารการกินที่ขึ้นชื่อของตลาดเก่าเลื่องชื่อ การละเล่นและการแสดงที่หาชมได้ยาก เช่น การแสดงหุ่นเชิด โขนเด็ก ลิเกเด็ก ละครลิง การแสดงดนตรี ทั้งลูกกรุง และลูกทุ่งจากศิลปินชั้นครู เช่น วงดนตรีสุนทราภรณ์ และการรวมตัวเฉพาะกิจของวงชาตรี และร่วมสนุกในเกมส์เรียกเสียงหัวเราะ เช่น สาวน้อยตกน้ำ ปาลูกโป่ง (บิงโกโป๊ะแตก) ปากระป๋อง (ถล่มหอคอย) ตักไข่พาโชค เป็นต้น”

รืนรมย์บันเทิงเมืองบางกอก

ย้อนรอยความรื่นรมย์ของชาวเมืองบางกอกในสมัยนั้น ถือได้ว่าเป็นสุนทรีย์แห่งชีวิตที่ได้ชื่นชมกับงานด้านศิลปะวัฒนธรรมจากศิลปินชั้นครูที่ได้บรรจงถ่ายทอดผ่านผลงานในรูปแบบต่างๆ เช่น โขน ลิเก หรือละครลิง และความนิยมในบทเพลงลูกทุ่งและลูกกรุง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่หลงใหลในศิลปะการแสดงดนตรี และเชิญชวนกันแสดงฝีมือในงานสังสรรค์ต่างๆ โดยเฉพาะงานสังสรรค์ของกลุ่มทหารและตำรวจ หรือในแวดวงเจ้าขุนมูลนาย ก่อนจะขยายความนิยมมาสู่สาธารณชน โดยเนื้อหาที่ถ่ายทอดส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบางกอก ความรักของหนุ่มสาว และหลายๆ ผลงานได้กลายเป็นผลงานระดับชื่อชั้นตำนานจนถึงทุกวันนี้ อย่างเช่น วงสุนทราภรณ์ วงชาตรี เป็นต้น

นางอติพร (สุนทรสนาน) เสนะวงศ์ ทายาทครูเอื้อ สุนทรสนาน เล่าให้ฟังว่า “วงสุนทราภรณ์เกิดขึ้นในปี ๒๔๗๙ โดยครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งในระยะแรกมักจะเป็นเพลงแนวปลุกใจ ต่อมาในปี ๒๔๘๘ มีการเปลี่ยนแปลงแนวการเล่นดนตรีเป็นจังหวะ ‘เพลงลีลาศ’ และเริ่มนำทำนองเพลงไทยเดิมมาปรับใส่เนื้อร้องใหม่และร่วมบรรเลงระหว่างดนตรีไทยเดิมและไทยสากล ที่เรียกว่า“สังคีตสัมพันธ์” ต่อมาจึงได้เริ่มแสดงผ่านรายการโทรทัศน์ช่อง ๔ บางขุนพรหม โดยมีเพลง ‘เพลงขวัญใจเจ้าทุย’ และ ‘สวัสดีบางกอก’ และในปี ๒๕๐๒ วงดนตรีสุนทราภรณ์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเพลงไตเติลประจำวงคือเพลง “พระมหามงคล” เนื่องในโอกาสครบรอบ ๒๐ ปี ของวง ซึ่งครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้อัญเชิญมาเป็นเพลงเปิดวงนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา”

“ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นครูเพลงคนสำคัญของไทยที่มีความสามารถด้านการประพันธ์ ทำนองและคำร้อง มีผลงานการแต่งเพลงไทยสากลมากกว่า ๒,๐๐๐ เพลง และในวาระครบรอบ 100 ปี ครูเอื้อ สุนทรสนาน องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ยกย่องให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นบุคคลสำคัญของโลกด้านวัฒนธรรมดนตรีไทยสากล” นางอติพร เล่าให้ฟัง

นายนราธิป กาญจนวัฒน์ หัวหน้าวงชาตรี เล่าให้ฟังว่า “ในยุคปี พ.ศ. ๒๕๑๘ เป็นช่วงเวลาที่คนบางกอกนิยมฟังเพลงสากลมากขึ้น วงชาตรีเริ่มการแสดงในงานเลี้ยงต้อนรับน้องใหม่ของวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ และเริ่มบันทึกเสียงครั้งแรกในรายการวิทยุ ๑๒๐ พร้อมๆ กับออกผลงานเพลงไทยสากลชุดแรก ‘จากไปลอนดอน’ ต่อมาในปี ๒๕๑๙ ได้ออกผลงานชุดที่สอง ‘แฟนฉัน’ และผลงานชุดที่สามในสไตล์ลูกทุ่ง โดยได้บทเพลง ‘หลงรัก’ ของคุณชาตรี ศรีชล มาขับร้องใหม่ จนมาในปี ๒๕๒๓ ได้เปิดแสดงสดครั้งใหญ่ พร้อมผลงานชุดใหม่ ‘รักไม่เป็น’ ซึ่งเป็นผลงานที่ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองมหาชนจากเพลงภาษาเงิน สำหรับผลงานชุด ‘รักที่เธอลืม’ ได้มีบทเพลงอย่าง ‘วันรอคอย’ และ ‘ใต้ร่มเย็น’ ประพันธ์โดยพลเอกหาญ ลีลานนท์ แม่ทัพภาคที่ ๔ ที่มีเนื้อหาเพื่อให้คนไทยเกิดมีความสามัคคีและรักชาติ โดยผลงานชุดนี้ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำขาวจากยอดจำหน่ายมากกว่าสองแสนตลับ และในปี ๒๕๒๘ ได้ฝากผลงานชุดสุดท้าย ‘อธิษฐานรัก’ รวมแล้ววงชาตรีมีผลงานทั้งสิ้นกว่า ๑๕ ผลงาน”

ตลาดเก่าบางกอก อิ่มอร่อยเลื่องชื่อ

อาหารการกินของชาวบางกอกนั้นเลื่องชื่อในรสชาติและความพิถีพิถันในการทำอาหาร ทั้งอาหารคาวและอาหารหวาน โดยแหล่งอาหารเลื่องชื่อมักอยู่ในบริเวณชุมชนหรือตลาดเก่าแก่ของเมืองบางกอก เป็นฝีมือของบรรดาคนเก่าแก่จากในรั้วในวัง และถ่ายทอดสูตรอาหารรสเด็ดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

ตลาดบางลำพู เป็นย่านการค้าเก่าแก่แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตดุสิตและเขตพระนครบนเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มาของชื่อนั้นมาจากพื้นที่บริเวณนี้ในสมัยนั้นเต็มไปด้วยต้นลำพูทั้งสองฝั่งคลอง เป็นที่ตั้งของป้อมพระสุเมรุ (ถนนพระอาทิตย์) ๑ ใน ๑๔ ป้อมแรกที่รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อใช้ป้องกันข้าศึกโดยเฉพาะ นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่ตั้งสำคัญของวัดบางกอก ทั้งวัดบางลำพู (วัดสังเวชฯ) และวัดตองปุ (วัดชนะสงครามฯ) อาหารเลื่องชื่อของตลาดบางลำพู ส่วนใหญ่เป็นขนมไทยโบราณที่ใช้ความประณีตบรรจงในการทำ เช่น ขนมปุยฝ้าย ทองเอก จ่ามงกุฎ ช่อม่วง กลีบลำดวน ขนมกง เป็นต้น

ตลาดนางเลิ้ง เดิมเรียกว่า ‘บ้านสนามควาย’ หรือ ‘อีเลิ้ง’ ตามชื่อตุ่มต้นไม้ชนิดหนึ่งของชาวมอญ เป็นตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทยมีอายุประมาณ ๑๑๐ ปี ซึ่งเป็นศูนย์รวมความบันเทิงของชาวเมืองบางกอก เพราะเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญ เช่น ราชตฤณมัยสมาคม (สนามม้านางเลิ้ง) โรงภาพยนต์ศาลาเฉลิมธานี ที่ฉายภาพยนตร์ทุกชาติทั้งไทย จีน อินเดีย ฝรั่ง เมื่อผู้คนมารวมตัวกัน จึงกลายเป็นศูนย์รวมอาหารคาวและหวานที่ขึ้นชื่อ อาทิ ขนมบาเยีย ห่อหมกข้าวเกรียบปากหม้อ เป็ดย่างจิ๊บกี่ บะหมี่รุ่งเรือง ซึ่งล้วนแต่เป็นเมนูขึ้นชื่อของนักชิมทั้งหลาย

ตลาดเยาวราช หรือถนนมังกร สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เป็นแหล่งชุมชนชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนเป็นจำนวนมาก จัดเป็นย่านธุรกิจการค้า การเงิน การธนาคาร ร้านทอง ภัตตาคาร โดดเด่นด้วยร้านขายสมุนไพรจีน ร้านขายผลไม้ และร้านจำหน่ายเครื่องรางเสริมโชคลาภสิริมงคล ตลาดน้ำตลิ่งชัน หรือ “คลองชักพระ" เป็นตลาดน้ำที่สะท้อนวิถีชีวิตชุมชนริมน้ำ วัด และบ้านทรงไทย ทั้งแบบเก่าและแบบประยุกต์ โดยสองฝั่งคลองเต็มไปด้วยร้านค้าขายของ เรือขายของ พร้อมธรรมชาติของสวนกล้วยไม้ สวนผักและผลไม้พื้นบ้าน อาทิ กระท้อนห่อ ขนุน มะปรางไข่ มะม่วง เป็นต้น

ร่วมย้อนรอยวันวานสัมผัสตลาดเก่าบางกอกและความสนุนกสนานแบบเก่าก่อนได้ในงาน “เทศกาลเที่ยวงานวัด ครั้งที่ ๙” ตั้งแต่วันที่ ๒๔ กันยายน – ๔ ตุลาคมนี้ ที่ศูนย์การค้าแฟชั่น ไอส์แลนด์ ชั้น ๑ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ เคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ หรือ โทร. ๐๒-๙๔๗-๕๐๐๐ # ๑๐๐๑

ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: เวิรฟ

ประสิทธิ์ กฤษฎาอริยชน (บ๊อบ) โทร. ๐๒ ๒๐๔ ๘๒๑๖

พรรณราย ทวีโชติกิจเจริญ (อ๋า) โทร. ๐๒ ๒๐๔ ๘๒๑๒

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net