กรุงเทพฯ--28 ก.ย.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
หลังจากสัปดาห์แห่งหายนะของประเด็นโลกร้อนในนิวยอร์กและพิสเบอร์ก วันนี้ ตัวแทนเด็กไทยจำนวน 5 คน ได้เรียกร้องถึงอนาคตของพวกเขาไปยังนายอีฟ เดอ บัวร์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ในการเริ่มต้นรอบการเจรจาเรื่องโลกร้อนล่าสุดในกรุงเทพมหานคร เด็ก ๆ ได้ส่งมอบกระปุกออมสินช้างที่มี “เงินสมทบคนละเล็กคนละน้อยเพื่อกู้วิกฤตโลกร้อน (small change for the climate)”
เด็กๆกลุ่มนี้เป็นตัวแทนผู้คนมากกว่า 1.4 ล้านคนซึ่งได้ร่วมลงชื่อเรียกร้องให้กับแนวร่วม tcktcktck ระดับโลก(1) ในการได้มาซึ่งข้อตกลงที่เป็นธรรม สูงส่ง และมีผลบังคับทางกฎหมาย เพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมาอากาศที่โคเปนเฮเกน กิจกรรมดังกล่าวเป็นการส่งท้ายโครงการ “เดินกับช้าง ร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง” ซึ่งกรีนพีซและช้างนักรณรงค์ทั้ง 5 เชือกได้เดินทางเป็นเวลา 15 วัน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการทำลายป่าไม้
“ข้อตกลงที่เป็นธรรม สูงส่งและมีผลบังคับใช้ทางกฎหมายนั้น เป็นผลลัพธ์ที่ควรเกิดขึ้นในการประชุมที่โคเปนเฮเกน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพายุไต้ฝุ่นกฤษณาได้พัดกระหน่ำเมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ยาวนานถึง 6 ชั่วโมง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตหลายคนและมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 280,000 คน นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในภูมิภาคที่มีความเสี่ยงมากที่สุดและมีการเตรียมการรับมือน้อยที่สุดต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” นายวอน เฮอร์นันเดซ ผู้อำนวยการบริหาร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว
“เหลือการเจรจาเพียง 3 รอบ จากนี้จนถึงโคเปนเฮเกน เราอยากเห็นรัฐบาลต่างๆ ผลักดันให้การเจรจาที่กรุงเทพฯ มีความคืบหน้า ลงมือปฏิบัติการอย่างห้าวหาญเพื่อทำให้ถ้อยแถลงของผู้นำโลกที่ประกาศ ณ การประชุมสหประชาติที่นิวยอร์กในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานั้นมีความชัดเจนในรายละเอียดมากขึ้น” ไคซา โคโซเนน ที่ปรึกษาทางนโนบาย กรีนพีซสากลกล่าว
ประเทศจีนและอินเดียได้แสดงสัญญานว่าจะปฏิบัติการเพื่อลดการปล่อยก๊าซตามสัดส่วนที่เป็นธรรม ญี่ปุ่นเน้นย้ำเป้าหมายใหม่ของตนและสหภาพยุโรปได้เริ่มตื่นตัวกับข้อเท็จจริงที่ว่าสหรัฐอเมริกามีเป้าหมายที่อ่อนแอมาก แต่ในขณะนี้เป้าหมายโดยรวมของโลกอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งแม้รวมข้อตกลงใหม่ของญี่ปุ่นเข้าด้วยแล้ว ยังคงเป็นการลดการปล่องก๊าซเรือนกระจกไปเพียงร้อยละ 10-17 ภายในปี 2563 จากปี 2533 เท่านั้น และยังขาดอีกร้อยละ 40 ในการที่จะคงอุณหภูมิโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา การประชุมจี 20 นั้นได้ล้มเหลวในการสรุปข้อตกลงให้มีการจัดสรรเงินทุน 140 พันล้านเหรียญสหรัฐทุกปีเพื่อการปรับตัวและต้านสู้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการยุติการทำลายป่า
“เรามีเวลาเหลือเพียง 70 วันเท่านั้น ก่อนการประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่โคเปนเฮเกน เวลาใกล้จะหมดลงแล้ว ประเทศกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นกุญแจสำคัญต่อผลลัพธ์ที่ประสบผลสำเร็จในการปกป้องสภาพภูมิอากาศ ปกป้องโลกและประชาชน ผู้นำโลกจึงควรเข้าร่วมการประชุมที่โคเปนเฮเกนและร่วมเจรจาเพื่อให้เกิดข้อตกลงขึ้น” ไคซา กล่าวเสริม
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit