กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
เครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศ ระดมล่าหมื่นรายชื่อเสนอร่างพรบ.สภาเกษตรฉบับชาวบ้านสู้ ร่างกฎหมายรัฐบาล ชำแหละกฎหมายรัฐไร้การมีส่วนร่วมของเกษตรกรตัวจริง ตั้งสภาเกษตรซ้ำซ้อนงานกระทรวง เพิ่ม ความขัดแย้ง แนะจัดสมัชชาเกษตรกรเพื่อเปิดโอกาสเข้ามีส่วนร่วมได้โดยตรง
คณะทำงานติดตามร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกร สนับสนุนโดยมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมระดมความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) สภาเกษตรฉบับประชาชนซึ่งมีเกษตรกรและเครือข่ายเกษตรกรจากทั่วประเทศเข้าร่วมประชุม โดยมี นายไพสิฐ พานิชย์กุล และนายทศพล ทรรศกุลพันธ์ นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ยกร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวซึ่งพัฒนามาจากประสบการณ์ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ(FAO) บทเรียนของสภาเกษตรกรในประเทศต่างๆ และการเก็บข้อมูลจากเครือข่ายเกษตรกรทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิดหลักคือ ทำให้เกษตรกรมีความเข้มแข็ง
นายทศพล กล่าวว่า แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศเกษตรกรรม มีเกษตรกรจำนวนมาก แต่เรื่องสิทธิเกษตรกรนั้นถือเป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ และมีความพยายามจะผลักดัน ร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกรฯ เพื่อรับรองสิทธิเกษตรกร แต่ปัจจุบันพบว่ามีความพยายามผลักดันร่างกฎหมาย 2 ฉบับ โดยฉบับหนึ่งเป็นร่างกฎหมายที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ยกร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรแห่งชาติ และอีกฉบับเกิดจากการยกร่างโดยภาคประชาชน
“คาดว่าร่างกฎหมายของพรรคชาติไทยพัฒนา น่าจะเสนอเข้าสู่วาระการพิจารณา ในเดือนสิงหาคม แต่ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ยังขาดเรื่องการรวมกลุ่มของเกษตรกรเพื่อพัฒนาสิทธิเกษตรกร เช่น ไม่มีการจัดตั้งสมัชชาเกษตรกร ให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วมโดยตรง รวมถึงสิทธิของเกษตรกรด้วย”
นอกจากนี้ร่างกฎหมายของพรรคชาติไทยยังมีวิธีการคัดเลือกตัวแทนเกษตรกรซึ่งกำหนดให้องค์กรเกษตรกร ที่ลงทะเบียนกับราชการเท่านั้นจึงจะมีสิทธิส่งชื่อผู้เข้าสมัครรับเลือกเป็นสมาชิกสภาเกษตรกร ทั้งในส่วนของสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ ระดับจังหวัด และผู้ทรงคุณวุฒิ
“การจัดให้มีสภาเกษตรกร 2 ระดับ คือ สภาเกษตรกรแห่งชาติ และ สภาเกษตรกรจังหวัด โดยผู้ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมได้ต้องเป็นสมาชิกที่ผ่านการคัดเลือกแล้วเท่านั้น อาจทับซ้อนกับการทำงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีหน่วยงานในส่วนกลางและภูมิภาคไม่แตกต่างกันเหมือนมีสภาที่สวมร่างโดยกระทรวงเกษตรอีกต่อหนึ่ง”
นายทศพล กล่าวอีกว่า ในส่วนร่างกฎหมาย สภาเกษตรกรฯของภาคประชาชนที่เกิดจากการเสนอของเครือข่ายภาคประชาสังคมนั้นพบว่ามีข้อเสนอที่อาจจะเป็นทางเลือกในการปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติสภาเกษตรกรแห่งชาติ คือ การคัดเลือกตัวแทนเกษตรกร เกษตรกรทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรงในวันเปิดประชุมสมัชชาเพื่อเสนอตัวเข้ารับการคัดเลือกเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรแห่งชาติ นอกจากนี้เกษตรกรยังมีสิทธิเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องเป็นสมาชิกในองค์กรเกษตรที่จดทะเบียนกับราชการ
ส่วนการจัดตั้ง สภาเกษตรกรนั้นเห็นว่าควรจัดให้มีสภาเกษตรกรแห่งชาติเพียงระดับเดียว เพื่อเป็นองค์กรเชื่อมระหว่างเกษตรกร กับ ภาครัฐ โดยมีสมัชชาเกษตรกรเข้ามาเสริมในระดับต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรรายย่อยเข้ามามีส่วนร่วมได้มากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องชนะการคัดเลือกเข้ามาเป็นสมาชิกสภาเกษตรกรอย่างเป็นทางการ
“ประเด็นที่สำคัญคือ การจัดให้มีสมัชชาเกษตรกรเพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมได้โดยตรง และมีสมัชชาเข้าร่วมได้หลายระดับทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด พื้นที่ และสมัชชาเฉพาะประเด็นที่เกษตรกรมีความสนใจ หรือมีปัญหาเร่งด่วนต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกรฉบับประชาชนนี้น่าจะเป็นแนวทางลดความขัดแย้งดังที่เคยปรากฏมาในอดีตได้ แต่กลไกเหล่านี้ไม่ได้มีใน ร่างกฎหมายของพรรคชาติไทยพัฒนาที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาในเร็วๆนี้”
ด้านนายไพสิฐ พานิชย์กุล นักวิชาการจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อเห็นจุดบกพร่องของร่างกฎหมายที่ฝ่ายรัฐบาลดำเนินการแล้ว ในส่วนภาคประชาสังคมจึงได้ร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกรฉบับประชาชนขึ้นมาเทียบเคียง โดยจะล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฏหมาย หลังจากนั้นจะพยายามผลักดันเข้าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสู่สภาให้มีการพิจารณาควบคู่ไปพร้อมกับร่างพ.ร.บ.สภาเกษตรกรแห่งชาติของรัฐบาลให้ได้ เนื่องจากเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.สภาเกษตรกรฉบับประชาชนน่าจะสามารถแก้ไขปัญหาของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง แต่ร่างกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลอาจจะเพิ่มภาระให้กับเกษตรกรมากกว่าการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกร.-
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ 0-2551-5855 ต่อ 116
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit