กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--ทีเค ปาร์ค
หลังจากจัดแถลงผลการวิจัยเรื่อง “การ์ตูนความรู้ไทย: ความเป็นมา สถานการณ์ และแนวทางการพัฒนา” ไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2552 ที่ศูนย์พัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำนักงานอุทยานแห่งการเรียนรู้ หรือ ทีเค ปาร์ค และ สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก ก็ได้นำผลการวิจัยซึ่งพบว่าการ์ตูนความรู้ไทยยังอ่อนด้อยด้านการเล่าเรื่อง และการสร้างคาแร็คเตอร์ตัวละครไปต่อยอด โดยการระดมความคิดเห็นจากทั้งนักวาดการ์ตูน นักสร้างสรรค์บท นักจิตวิทยา และนักวิชาการกว่า 20 ชีวิต เพื่อยกร่างหลักสูตรการ์ตูนความรู้หลักสูตรแรกของประเทศไทย
ผลของการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้มีแตกต่างหลากหลาย โดยแพทย์หญิงพรรณพิมล หล่อตระกูล ให้มุมมองแง่จิตวิทยาเด็กว่าการเขียนการ์ตูนความรู้ที่ดีต้อง “simple” คือเป็นเรื่องง่ายๆ และหากผู้เขียนเขียนแนวเรื่องที่ตรงกับความสนใจของเด็กในแต่ละวัยก็จะช่วยให้เข้าถึงเด็กได้ง่ายขึ้น ขณะที่อัมราพร แผ่นดินทอง นักเขียนบทภาพยนตร์แอนิเมชั่นก้านกล้วยมองว่า การ์ตูนเป็นแค่เพียงวิธีการหนึ่งที่จะส่งผ่านเนื้อหาออกไปเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้เรื่องน่าสนใจหรือไม่ขึ้นอยู่กับสิ่งที่นักเขียนต้องการจะบอกหรือการสื่อสารกับคนอ่าน ซึ่งก็คือเนื้อเรื่อง หรือการเขียนบท และเป็นสิ่งที่วงการการ์ตูนยังขาดอยู่มาก
ด้านเอกสิทธิ์ ไทยรัตน์ นักเขียนการ์ตูน และนักเขียนบทภาพยนตร์ เสนอว่า การเขียนบทที่ดีคือการทำให้คนอ่านเปิดการ์ตูนแล้วรู้สึกว่า “เดาไม่ได้” และนักเขียนต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอโดยการทำตัวเสมือนเป็น “ผู้อ่าน” เป็นนักวิจารณ์งานของตัวเองอย่างตรงไปตรงมา พร้อม ๆ กับการพยายามทดลองเขียนในแนวที่แตกต่างไปจากสิ่งที่ตัวเองคุ้นชินอยู่เสมอ
ขณะที่นักวิชาการอย่าง ดร. วรัชญ์ ครุจิต มองว่าสิ่งสำคัญประการแรกที่ควรอยู่ในหลักสูตรการ์ตูนความรู้คือ “การสร้างแรงบันดาลใจ” และธรรมศักดิ์ เอื้อรักสกุล ผู้ช่วยคณบดีคณะศิลปะและการออกแบบเสนอว่า ควรเพิ่มวิชาด้านการแสดง คือการให้นักเขียนการ์ตูนได้เข้าใจธรรมชาติในการแสดงอารมณ์ของมนุษย์ซึ่งจะช่วยพัฒนาการออกแบบคาแร็คเตอร์ตัวละครให้มีชีวิตชีวาขึ้น ส่วนนักเขียนการ์ตูนอย่างสุทธิชาติ ศราภัยวานิช มองว่าหลักสูตรควรมี 3 ส่วนคือ เริ่มจากการออกแบบตัวละคร การเล่าเรื่อง และความเข้าใจในการทำงานร่วมกันระหว่างนักเขียนรูปกับนักเขียนเรื่อง ด้านตติยะ ศรียะพันธ์ บรรณาธิการการ์ตูนความรู้สำนักพิมพ์อีคิว พลัส มองว่าสิ่งที่ควรเพิ่มในหลักสูตรก็คือการสร้างความเข้าใจในการทำงานเป็นทีม
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอในด้านเทคนิคการเล่าเรื่องผ่านภาพซึ่งเป็นหัวใจของการ์ตูน เช่น การลำดับช่อง การลำดับบอลลูน การสร้างเนื้อเรื่องและภาพประกอบให้สมดุลพร้อมกับตอบโจทย์กลุ่มผู้อ่านอีกด้วย
หลังจากเสร็จสิ้นการระดมสมองเพื่อยกร่างหลักสูตรการ์ตูนความรู้ในครั้งนี้ ทีเค ปาร์ค และสถาบันการ์ตูนไทยยังได้จัดงานแถลงข่าวและการเสวนา “หลักสูตรการ์ตูนสร้างชาติ : เปิดมิติสังคมแห่งการเรียนรู้” พร้อมกับเปิดตัวโครงการ “การพัฒนานักเขียนการ์ตูนความรู้ไทย” โดยผลจากการระดมความคิดเห็นเพื่อยกร่างหลักสูตรการ์ตูนความรู้จะกลายเป็นหลักสูตรต้นแบบเพื่อใช้ใน “ค่ายการ์ตูน ทีเค การ์ตูนนิสต์” ซึ่งเป็นหลักสูตรการสร้างสรรค์การ์ตูนความรู้ระยะสั้น ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 - 29 ตุลาคม 2552
ผลจากการยกร่างจนเกิดหลักสูตรการ์ตูนความรู้หลักสูตรแรกของเมืองไทยในครั้งนี้ วัฒนชัย วินิจจะกูล ผู้จัดการฝ่ายวิชาการ ทีเค ปาร์ค ได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในเวลาเพียง 7 - 8 วัน ของค่ายการ์ตูนครั้งนี้ เราไม่ได้หวังว่าจะทำให้เกิดนักเขียนการ์ตูนความรู้ที่เก่งกาจถึงขั้นเป็นมืออาชีพ แต่อย่างน้อยเราก็ได้นำเอาผลวิจัยเชิงวิชาการลงมาจากหิ้ง ทำให้เกิดหลักสูตรการ์ตูนความรู้ที่เป็นรูปธรรม แม้มันจะเป็นเพียงแค่ฉบับทดลองก็ตาม ...ซึ่งถ้าผลออกมาดี ทางทีเค ปาร์คย่อมไม่ลังเลที่จะผลักดันให้เกิดหลักสูตรการ์ตูนความรู้ต่อเนื่องตามมาอย่างแน่นอน” ค่ายการ์ตูน “ทีเค การ์ตูนนิสต์” เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 18 กันยายน 2552 สนใจเข้าร่วมฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ www.cartoonthai.in.th โทร. 0-2881-1734-5
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit