Super Mom ยอดคุณแม่ยุค IT

28 Aug 2009

กรุงเทพฯ--28 ส.ค.--ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย

“น้ำนมแม่” เป็นอาหารมื้อแรกของเด็กทารกและเป็นอาหารมื้อต่อไปที่มีคุณค่าจนเติบใหญ่ ซึ่งไม่มีอาหารชนิดใดที่มีคุณค่าเทียบเท่ากับนมแม่ แต่ในปัจจุบันอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยกลับยังอยู่ในระดับต่ำ ด้วยสาเหตุจากสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เด็กมีโอกาสได้รับนมแม่เพียง 1-3 เดือนเท่านั้น ทั้งๆที่ทางองค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

โดยข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ได้สำรวจไว้เมื่อปี พ.ศ.2549 พบว่าคุณแม่ยุคใหม่เลี้ยงทารกแรกเกิดจนถึง 5 เดือนด้วยนมแม่อย่างเดียวทั้งประเทศเฉลี่ยมีเพียงแค่ 5.4 % ซึ่งนับเป็นอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ต่ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน

แพทย์หญิงยุพยง แห่งเชาวนิช เลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวถึง อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของคนไทยว่า ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำมาก เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ซึ่งนมแม่เป็นสิ่งที่สำคัญต่อการสร้างรากฐานสุขภาพของทารกให้เจริญเติบโตทั้งร่างกายและจิตใจ โดยสาเหตุสำคัญที่เป็นอุปสรรค์ต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวระยะเวลา 6 เดือนนั้นเกิดขึ้นมาจากค่านิยมและความเชื่อของการให้อาหารเสริมร่วมกับนมแม่ที่ยังฝังแน่นในสังคมไทย และคุณแม่ยุคใหม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน

“นมแม่คือความพอเพียงในทุกๆ ด้าน หนึ่งเรื่องสิ่งแวดล้อม นมแม่อยู่ในเต้าของแม่ผลิตได้เลยไม่เสียค่าใช้จ่ายเรื่องขวดนมหรือหม้อนึ่ง สองไม่ต้องจ่ายเงินค่านมผง สามประหยัดค่ารักษาพยาบาลลูก เพราะมีสารอาหารที่เป็นภูมิคุ้มกันโรคและเป็นรากฐานสุขภาพ เราควรให้เด็กกินนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อลำไส้ของเด็กจะได้เจริญเติบโตเต็มที่ หลังจากนั้นให้นมแม่พร้อมอาหารเสริมจนถึง 2 ปี แต่ทุกวันนี้ผู้หญิงทำงานนอกบ้านมากกว่า 50% และกฎหมายกำหนดให้ลาคลอดได้เพียง 90 วัน เป็นเหตุผลที่คุณแม่หลายคนเลือกที่จะให้นมผงมากกว่านมแม่กับลูก ดังนั้นการจัดตั้ง “มุมนมแม่” ในสถานประกอบการจึงเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับความต้องการของคุณแม่วัยทำงาน” พญ.ยุพยง กล่าว

ที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีการรณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์และข้อดีของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนจะได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น ทำให้คุณแม่มือใหม่หลายคนมีความตั้งใจที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ตามเกณฑ์เป้าหมาย

“จตุพร เอมพันธุ์” หรือ “แม่บี” สรรพนามที่กลุ่ม “แม่อาสา” ในเว็ปไซต์ของศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทยเรียกขานกัน ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคุณแม่ยุคใหม่ที่มีความตั้งใจและความมุ่งมั่นว่าจะเลี้ยงลูกด้วยนมของตัวเองให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเธอสามารถเลี้ยงน้อง “ต่าต๋า” ด้วยนมแม่นานถึง 2 ปี 8 เดือน ซึ่งตอนนี้น้อง “ต่าต๋า” อายุ 3 ปี 4 เดือนแล้ว

“แม่บี” กล่าวถึงความตั้งใจตั้งแต่ตนเองเริ่มตั้งครรภ์ว่า “นมแม่นั้นดีที่สุด ไม่เคยคิดจะชงนมให้ลูก คิดตลอดเวลาจะต้องให้นมแม่แก่ลูก จึงหาข้อมูลไขข้อข้องใจของตนเองจากหนังสือ อินเทอร์เน็ต จากญาติและเพื่อนที่มีประสบการณ์ ทำความเข้าใจกับสามีและคนในครอบครัวไปพร้อมๆกัน ซึ่งทุกคนก็เข้าใจและให้การสนับสนุน”

ขณะที่ตั้งครรภ์อยู่นั้นเธอทำงานอยู่ บริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย)จำกัด เมื่อคลอดแล้วแม่บีก็บอกกับเจ้านายเรื่องของการใช้เวลาทำงานในการปั๊มนมให้ลูก ซึ่งผุ้บริหารก็เข้าใจและอนุญาต จนเมื่อลูกอายุได้ 2 เดือน เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาดูแลลูกด้วยตัวเอง เพราะคิดว่าต้องการให้ลูกได้กินนมจากอกตัวเองโดยตรงมากกว่า

เมื่อกลับมาเลี้ยงลูกอย่างเดียว จนน้อง “ต่าต๋า” อายุได้ 4 เดือนก็กลับมาทำงานที่ บริษัท ไทยเพรสซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ที่นี่เธอเริ่มปั๊มนมเพื่อทำสต๊อกนมไว้ให้ลูก และเริ่มให้ลูกดื่มนมที่เก็บไว้ ปรากฏว่าลูกไม่ยอมดูดขวดนม คุณแม่บีและคุณยายแก้ปัญหาด้วยการให้ลูกดื่มนมจากแก้วใบเล็กก่อนแล้วพัฒนาให้ดูดจากหลอดแทน และที่นี่เองเธอก็ทำให้ทุกคนที่ทำงานยอมรับว่า “แม่ทำงาน” สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ โดยเฉพาะผู้บริหารองค์กรที่เห็นความสำคัญและให้คุณแม่ลูกอ่อนใช้เวลาทำงานปั๊มนมให้ลูกได้

จนเมื่อลูกอายุได้ 6 เดือนเธอก็ยังให้นมแม่พร้อมอาหารเสริมตามวัย จนน้องต่าต๋าอายุได้ 2 ปี 2 เดือน เธอก็ได้เปลี่ยนที่ทำงานอีกครั้ง โดยมาทำงานที่ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด ที่นี่เองที่แม่บีต้องผันตัวเองจากคุณแม่ธรรมดา มาเป็นวิทยากรการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประจำบริษัท เนื่องจากฝ่ายบุคคลมองเห็นความสำคัญของ“นมแม่” เพราะในองค์กรมีหญิงทำงานวัยเจริญพันธุ์ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่บริการข้อมูลทางโทรศัพท์ ทำให้บริษัทฯ ได้จัดทำมุมนมแม่ในที่ทำงานขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “มุมให้นมสำหรับ Hutchy Moms”

และจากการที่เธอเข้าร่วมโครงการ “แม่อาสา” ของ “ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย” ทำให้แม่บีรับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ด้วยการไปเยี่ยมเยียน ให้กำลังใจ และตอบคำถามในเว็บไซต์ ซึ่งหากพบปัญหาหรือข้อสงสัยที่เธอไม่มีประสบการณ์เธอจะส่งต่อคำถามนั้นๆ ให้กับแพทย์หรือนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญทันที โดย “แม่บี”บอกเล่าจากประสบการณ์ตรงว่าการเลี้ยงลูกด้วย “นมแม่” นั้นส่งผลดีสำหรับทุกๆ คนทั้งด้านครอบครัว สังคม และเศรษฐกิจ

“ข้อดีข้อแรกเริ่มจากลูก นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดเพราะมีสารอาหรกว่า 200 ชนิด สะอาดที่สุด สามารถย่อยดูดซึมได้เต็มที่ ทำหน้าที่เป็นวัคซีนเข็มแรกให้ลูก ป่วยน้อย หายไว มีสารอาหารที่จำเป็นต่อการพัฒนาการทางสมอง และการโอบกอดการสัมผัสของแม่สร้างความสัมพันธ์ด้านจิตใจ ความผูกพัน และความอบอุ่นระหว่างแม่ – ลูก ข้อดีกับคุณแม่ก็คือ มดลูกเข้าอู่เร็ว ลดโอกาสการเป็นมะเร็งเต้านม ประหยัดเงินค่านมและค่ารักษาพยาบาล สะดวกให้นมแม่ได้ทุกที่ตลอดเวลา ข้อดีสำหรับคุณพ่อ ที่เป็นคนเลี้ยงไม่ต้องมาช่วยชงนม การไม่ต้องลางานอันเนื่องมาจากลูกป่วยและลดความเครียดเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งค่านมและค่ารักษาพยาบาล และข้อดีสำหรับนายจ้างก็คือ พนักงานไม่ลางานบ่อยเพราะลูกไม่ป่วย มีวินัยทำงานให้เสร็จตามกำหนดเพราะต้องแบ่งเวลาไปปั๊มนมให้ลูก ทำให้นายจ้างมีส่วนในการสนับสนุนสุขภาพที่ดีทั้งของแม่และลูก รวมทั้งลดปัญหาหนี้สินของพนักงานด้วย และที่สำคัญนมแม่ดีสำหรับสังคมไทย ก็คือ อนาคตของชาติ ได้เด็กที่ฉลาดและแข็งแรง ประหยัดงบประมาณประเทศในการรักษาพยาบาล ลดการนำเข้านมผงจากต่างประเทศ สร้างครอบครัวอบอุ่น” คุณแม่น้องต่าต๋ากล่าวสรุป

แน่นอนว่ากับคุณแม่สมัยใหม่ที่ยังลังเลใจกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เมื่อทราบว่า “แม่บี” เลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานเกือบ 3 ปี มักจะมีคำถามผ่านมาทางเว็ปไซต์เป็นประจำ ซึ่งคำถามที่ถามมากจนถึงทุกวันนี้คือ “หนึ่งปีแล้วนมแม่ไม่มีคุณค่าแล้วมั้ง” หรือ “เดี๋ยวลูกขาดสารอาหารไม่อ้วนนะ” ซึ่งเธอก็จะตอบโดยใช้หลักวิชาการที่ศึกษามาและขอคำปรึกษาจากแพทย์มาตอบ

ส่วนคำถามยอดฮิตของแม่ยุคใหม่ “ให้ลูกกินนมแม่แล้วแม่จะทำงานได้อย่างไร”

เธอก็จะให้คำแนะนำพร้อมทั้งให้กำลังใจไปด้วยว่า สิ่งแรกสำหรับคุณแม่ที่ต้องมีคือความตั้งใจจริงและมุ่งมั่น มั่นใจว่าตัวเองทำได้ อันดับที่สองก็คือสร้างความเข้าใจกับสามีและคนในครอบครัว โดยเฉพาะคุณย่าคุณยายที่จะต้องเป็นคนเลี้ยงลูกเมื่อคุณแม่ไปทำงาน รวมไปถึงเพื่อนสนิทด้วย เพราะทุกคนจะเป็นกำลังใจให้คุณแม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่สำเร็จ หากคนเหล่านี้เข้าใจและเห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว ที่สำคัญ “แม่บี” ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ทำ “สต๊อกนม” ได้มาก จนคุณแม่มือใหม่ส่วนใหญ่ต้องมาคำปรึกษาว่าทำอย่างไร ซึ่งเธอก็ได้อธิบายว่า “ความจริงบีเริ่มหยุดทำสต็อกนมตอนต่าต๋าอายุ 2 ขวบ แต่ยังให้ลูกกินเรื่อยๆ จนลูกหย่านมด้วยตนเองต่าต๋าเลยได้กินนมแม่จนอายุ 2 ปี 8 เดือน และที่บีทำสต๊อกนมได้นานขนาดนี้ก็ต้องขอขอบคุณผู้บริหารทุกท่านที่ให้โอกาส”

“แม่บี” จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคุณแม่สมัยใหม่ยุคไอทีวัย 32 ปี ที่ให้ความสำคัญกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยไม่แห่ไปตามกระแสและค่านิยมที่บิดเบือนของสังคมไทย ซึ่งนับได้ว่าเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับว่าที่คุณแม่สมัยใหม่ ที่สามารถทำงานไปพร้อมๆ กับเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ยาวนานถึง 2 ปี 8 เดือน ซึ่งคุณแม่ทำงานคนอื่นๆ ก็สามารถทำได้ หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย 02 354 8404 ต่อ 11 หรือ http://www.thaibreastfeeding.org

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit