รัฐบาลเยอรมนี จับมือรัฐบาลไทย ดำเนินกรอบความร่วมมือเพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ ด้วยงบประมาณกว่า 400 ล้านบาท

25 Feb 2009

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน ประจำประเทศไทย

กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย เปิดตัวกรอบความร่วมมือไทย-เยอรมัน เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ ระยะเวลาโดยรวมประมาณ 3 ปี (พศ. 2552 – 2554) ด้วยงบประมาณทั้งสิ้นกว่า 400 ล้านบาท เพื่อหาแนวทางในการรับมือและลดผลกระทบจากปัญหาโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรอบความร่วมมือดังกล่าวประกอบด้วยโครงการต่างๆ รวม 6 โครงการ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรด้านการกำหนดนโยบายและการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในวิสาหกิจขนาดกลาง การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ธรรมชาติ การผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน และการผลิตไฟฟ้าความร้อนร่วมจากพลังงานแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงชีวมวล

ฯพณฯ สุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “กระทรวงฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือในกรอบความร่วมมือไทย-เยอรมัน เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากเป็นที่แน่นอนว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สาธารณสุข และสังคม ดังนั้นจึงได้ให้ความร่วมมือในกระบวนการเพื่อปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากว่าทศวรรษแล้ว และในปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังได้เริ่มดำเนินกลยุทธ์ระยะยาว 5 ปี ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้มีการนำเสนอมาตรการในการปรับตัว การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การวิจัยและพัฒนา การพัฒนาศักยภาพ การให้สาธารณชนมีส่วนร่วม รวมทั้งความร่วมมือกับนานาประเทศ ซึ่งผมอยากจะเน้นว่า ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้นั้น ทั้งภาครัฐและเอกชน ชุมชน และประชาชนทุกคน จะต้องร่วมมือกันเป็นอย่างดี”

กรอบความร่วมมือไทย-เยอรมัน เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศ ซึ่งประกอบด้วย 6 โครงการนี้ เป็นส่วนหนึ่งแผนงานปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับสากลของรัฐบาลเยอรมนี โดยสำนักความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน (GTZ) ประจำประเทศไทย ได้รับมอบหมายให้ดำเนินงานรวม 4 โครงการ ดังนี้ 1. โครงการนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ 2. โครงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในวิสาหกิจขนาดกลาง 3. โครงการปกป้องสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยว และ 4. โครงการการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนเพื่อใช้เป็นพลังงานชีวภาพ ส่วนอีก 2 โครงการนั้น องค์การการท่องเที่ยวแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในพื้นที่เกาะคอเขา จังหวัดพังงา และบริษัท โซลาร์ไลท์ จำกัด ประเทศเยอรมนี เป็นผู้ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าความร้อนร่วมจากพลังงานแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงชีวมวล

มร. ไมเคิล มึลเล่อร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี กล่าวว่า “รัฐบาลเยอรมนี จะนำรายได้จากการขายก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามระบบการค้าก๊าซเรือนกระจกในประเทศเยอรมนี มาสนับสนุนโครงการปกป้องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งในประเทศเยอรมนี และประเทศต่างๆ ทั่วโลก โครงการต่างๆ ส่วนใหญ่จะส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน ลดผลกระทบและเตรียมความพร้อมในการรับมือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศอุตสาหกรรมใหม่ การร่วมกันดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือไทย-เยอรมัน เพื่อปกป้องสภาพภูมิอากาศในครั้งนี้ นับเป็นการร่วมมือกันครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องให้ความสนใจและต้องแก้ไขร่วมกัน เพื่อลดต้นเหตุและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือหรือปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่ามีผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศของโลก รวมทั้งรูปแบบการดำรงชีวิตของทุกชีวิตบนโลกอีกด้วย”

นายจริย์วัฒน์ สันตะบุตร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า “ประเทศเยอรมนีและประเทศไทยมีความร่วมมือกันด้านการพัฒนาในแทบจะทุกสาขาอย่างต่อเนื่องมากว่า 30 ปีแล้ว ความร่วมมือกันครั้งใหม่ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ เป็นการขยายขอบข่ายความร่วมมือ นอกเหนือจากโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งกำลังดำเนินอยู่ ซึ่งรัฐบาลเยอรมันได้ตระหนักถึงความตั้งใจและความร่วมมืออันดีของประเทศไทย และผมมีความยินดีที่กระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้มาสนับสนุนประเทศไทยในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นเร่งด่วน ซับซ้อนและสำคัญระดับนานาชาติ ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยจะได้เรียนรู้จากประเทศเยอรมนี โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และ การวางแผนและการจัดการ ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จด้านนโยบายที่เกี่ยวกับพลังงาน การใช้พลังงานทดแทนและใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประเทศเยอรมนีจัดอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก ในขณะเดียวกัน ผมก็เชื่อว่าประเทศเยอรมนีก็จะได้เรียนรู้จากฝ่ายไทยเราเช่นกัน อาทิ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งส่งผลดีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย”

ในการดำเนินงานของ GTZ ทั้ง 4 โครงการภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ มีหน่วยงานราชการของไทยร่วมดำเนินงาน ดังนี้ 1. สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมมือในโครงการนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ เพื่อพัฒนาศักยภาพขององค์กรให้ดำเนินงานตามนโยบายพร้อมทั้งสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติจากทุกภาคส่วน 2. กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมดำเนินโครงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการลดก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรม 3. องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมมือในโครงการปกป้องสภาพภูมิอากาศในภาคการท่องเที่ยว มุ่งเน้นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในพื้นที่ทางธรรมชาติหมู่เกาะช้างและพื้นที่ใกล้เคียง และ 4. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ร่วมดำเนินโครงการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนเพื่อใช้เป็นพลังงานชีวภาพ ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาให้เกิดระบบมาตรฐานและการให้การรับรองการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน ที่คำนึงถึงกลไกการรับรองผลผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มรายย่อยด้วย เนื่องจากน้ำมันปาล์มที่ได้มาตรฐานการผลิตอย่างยั่งยืนกำลังเป็นที่ต้องการของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเยอรมนี เนื่องจากประเทศเหล่านี้ต้องการแสดงความรับผิดชอบในการใช้พลังงานชีวภาพที่ไม่ได้ผลิตจากการบุกรุกพื้นที่ป่าเดิมและผลิตขึ้นจากกระบวนการที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในด้านอื่นๆ อย่างจริงจังด้วย

ส่วนอีก 2 โครงการ คือ โครงการการใช้พลังงานทดแทนในพื้นที่เกาะคอเขา จังหวัดพังงา องค์การการท่องเที่ยวแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรมโรงแรมในพื้นที่ โดยการใช้พลังงานทดแทน และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพอันจะนำไปสู่แบบอย่างของการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนบนเกาะคอเขา ส่วนโครงการผลิตไฟฟ้าความร้อนร่วมจากพลังงานแสงอาทิตย์และชีวมวลนั้น บริษัท โซลาร์ไลท์ จำกัด ประเทศเยอรมนี และศูนย์การบินอวกาศเยอรมัน จะร่วมมือกับวิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยนเรศวร เพื่อแนะนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตพลังงานไฟฟ้า ความร้อน และไอเย็น จากพลังงานแสงอาทิตย์และเชื้อเพลิงชีวมวล

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ

ศิริพร ตรีพรไพรัช ผู้จัดการฝ่ายงานประชาสัมพันธ์

สำนักงานความร่วมมือทางวิชาการของเยอรมัน ประจำประเทศไทย

โทรศัพท์ 02 661 9273 ต่อ 13 โทรสาร 02 661 9281

อีเมล์ [email protected]

สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net