กรุงเทพฯ--18 มี.ค.--วีโร่พับลิครีเลชั่นส์
ตำรวจเอาจริง มุ่งถอนรากถอนโคนผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เรียกร้องให้ตำรวจดำเนินคดีกับผู้ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่อง
บริษัทสถาปนิกและตกแต่งภายในถูกดำเนินคดีในข้อหาละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์
เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติภารกิจตามที่ประกาศไว้เมื่อเปิดตัวโครงการรวมใจใช้ซอฟต์แวร์แท้แห่งชาติปีที่ 2 ว่าจะกำจัดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ให้หมดไปจากประเทศไทย โดยบุกเข้าตรวจค้นบริษัทห้างร้านหลายแห่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2552 ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
เป้าหมายหลักของตำรวจ คือ บริษัท ห้างร้านที่ละเมิดกฎหมายลิขสิทธิ์โดยใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ตลอดจนร้านค้าปลีกที่จำหน่ายซอฟต์แวร์เถื่อน
ในช่วงสองสามเดือนแรกของปี 2552 ผลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจนำไปสู่การจับกุมซอฟต์แวร์เถื่อนมูลค่ากว่า 25 ล้านบาท มีบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติในหลายหลากกลุ่มธุรกิจถูกดำเนินคดี ส่งผลให้ผู้บริหารของบริษัทอาจต้องรับโทษปรับและโทษจำคุกตามกฎหมาย
“บริษัทที่ใช้ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์อย่าคิดว่าจะรอดพ้นจากการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย” พลตำรวจตรี โกวิทย์ วงศ์รุ่งโรจน์ ผู้บังคับการกองปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (บก.ปศท.) กล่าว “เราจะเดินหน้าปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมและผู้ลงทุนเพื่อประโยชน์ของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ในประเทศไทยต่อไป”
บริษัทสถาปนิกและออกแบบตกแต่งภายในเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตำรวจเข้าตรวจค้นบริษัทสถาปนิกและออกแบบตกแต่งภายในหลายแห่งในกรุงเทพฯ และพบซอฟต์แวร์ออโต้แคด (AutoCAD) ทรีดีสตูดิโอ แมกซ์ (3-D Studio Max) ตลอดจนซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์อื่นๆ อีกหลายรายการ บริษัทสถาปนิกและออกแบบตกแต่งภายในใช้ซอฟต์แวร์เหล่านี้เป็นบริษัทที่ออกแบบชิ้นงานเสนอแก่ลูกค้า
บริษัทในอุตสาหกรรมก่อสร้างและการผลิตเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในการเป้าหมายของการตรวจค้นขณะนี้ ตำรวจได้รับเบาะแสจำนวนมากจากพนักงานของบริษัทหรือผู้จัดการแผนกไอที และตั้งเป้าหมายว่าในปี 2552 จะมีการเข้าตรวจค้นบริษัทในทุกภาคของประเทศ รวมถึงเชียงใหม่ กรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ
“การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจจะไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น หากมีหลักฐานว่ามีการละเมิดลิขสิทธิ์เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมที่จะดำเนินการตามกฎหมายทันที” พ.ต.อ. ศรายุทธย้ำ “เราจะตามติดทุกเบาะแสที่มีหลักฐานว่าบริษัทกระทำการที่ผิดกฎหมาย”
ความเสี่ยงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ถูกตอกย้ำให้เห็นชัดเจนอีกครั้ง เมื่อเร็วๆ นี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ตัดสินให้ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้รับค่าเสียหายมูลค่า 3.5 ล้านบาทจากบริษัทผู้ผลิตแห่งหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดอยุธยาในคดีละเมิดลิขสิทธิ์ ศาลพิพากษาว่าจำเลยใช้ซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายในการดำเนินธุรกิจจริง การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และฝ่าฝืนกฎหมายลิขสิทธิ์ของไทย
บุคคลต่างๆ ในอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การบังคับใช้กฎหมายลิขสิทธิ์เป็นเรื่องสำคัญต่อความอยู่รอดของธุรกิจในภาวะเศรษฐกิจเช่นปัจจุบันนี้
“การปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจังเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาตำแหน่งงานและสร้างงานใหม่ในภาคไอทีของไทย” ศิริภัทร ภัทรางกูร โฆษกคณะกรรมการกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ ประจำประเทศไทยกล่าว “นวัตกรรมใหม่จะเป็นปัจจัยหลักในการฉุดโลกให้พ้นจากความท้าท้ายทางเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่ และเราอยากให้ไทยเป็นสถานที่ซึ่งเอื้อต่อการสร้างสรรค์งานนวัตกรรมสามารถขยายเพิ่มเติมได้”
ตำรวจยังกล่าวต่อไปว่า เศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอย่างจริงจัง “การละเมิดลิขสิทธิ์ทำให้ภาคไอทีและเศรษฐกิจของประเทศอ่อนแอ” พ.ต.อ. ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บังคับการบก. ปศท. กล่าว “เจ้าหน้าที่ตำรวจในหน่วยของเรามีหน้าที่ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของผู้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไทยหรือต่างชาติ เราจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้บริษัทต่างๆ ปฏิบัติตามกฎหมายไม่ว่าจะต้องเข้าตรวจค้นจับกุมกี่ครั้งก็ตาม”
ผู้บริหารบริษัทซอฟต์แวร์ไทย นายสมพร มณีรัตนะกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัทไทยซอฟท์แวร์เอ็นเตอร์ไพรส์ ผู้คิดค้นซอฟต์แวร์พจนานุกรมภาษาไทยที่ได้รับความนิยมอย่างสูง กล่าวชื่นชมว่าตำรวจดำเนินงานตามคำมั่นว่าจะปกป้องผู้พัฒนานวัตกรรมได้เป็นอย่างดี “เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ตำรวจประกาศว่าจะดำเนินการกับบริษัทที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและก็ได้ทำตามที่พูดไว้” สมพรกล่าว “ว่ากันตามจริงแล้ว ตำรวจทำงานได้ดีกว่าที่คนส่วนใหญ่รับรู้มาก โดยเฉพาะหน่วยงานบก. ปศท. ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์โดยดำเนินการตรวจค้นจับกุมซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างต่อเนื่องซึ่งผมเชื่อมั่นว่าส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโดยรวม”
กรมทรัพย์สินทางปัญญาไทยเพิ่งเปิดตัวโครงการซอฟต์แวร์ราคาพิเศษ โดยธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของไทยสามารถซื้อหาซอฟต์แวร์ราคาถูกไปใช้ในการดำเนินธุรกิจได้ รายละเอียดเพิ่มเติมสามารถดูได้จาก www.stop.in.th
ผู้แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ผ่านทางสายด่วน โทร 02-714-1010 หรือทางออนไลน์ มีสิทธิ์ได้รับรางวัลเงินสดสูงสุดถึง 250,000 บาท ข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแสจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ
ข่าวประชาสัมพันธ์ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ:
อาทิมา ตันติกุล ชลิดา ศิริสุทธิเดชา
วีโร่พับลิครีเลชั่นส์ วีโร่พับลิครีเลชั่นส์
โทร: +66 (0) 2684-1551 โทร: +66 (0) 2684-1551
แฟกซ์: +66 (0) 2684-1553 แฟกซ์: +66 (0) 2684-1553
E-mail: [email protected] E-mail: [email protected]
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit